คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิชัย วิวิตเสวี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,454 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6492/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินหลัง พ.ร.บ.ที่ดิน และการปฏิรูปที่ดิน: ที่ดินของรัฐ vs. ที่ดินของประชาชน
เจ้าของเดิมครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2498 ภายหลัง ป.ที่ดิน ใช้บังคับแล้ว เจ้าของเดิมและจำเลยซึ่งรับโอนการครอบครองมาย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 และต้องถือว่าที่ดินเป็นของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 ที่บัญญัติว่าที่ดินซึ่งไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ถือว่าเป็นของรัฐ เมื่อทางราชการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำไปปฏิรูปที่ดินได้ และต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 26 (4) โจทก์มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินได้
จำเลยมีที่ดินเป็นของตนเองกว่า 100 ไร่ ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่เกษตรกรตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 4 จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ก.) ของจำเลยได้
การที่จะต้องเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดินนั้น ที่ดินพิพาทต้องเป็นของประชาชนไม่ใช่ของรัฐ คดีนี้เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินเป็นของรัฐแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องเวนคืนที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6491/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินป่าสงวนฯ - เขตปฏิรูปที่ดิน: การเพิกถอนสิทธิเมื่อขาดคุณสมบัติและที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน
บุคคลผู้มีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนกฎกระทรวงประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ไม่มีสิทธิในที่ดินตาม ป.ที่ดิน มีสิทธิเพียงได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ เท่านั้น หาได้มีสิทธิในที่ดินที่ตนครอบครองทำประโยชน์อยู่ไม่ และต้องยื่นคำร้องที่อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวง ฯ ใช้บังคับ โดยยื่นต่อนายอำเภอภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ฯ ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวข้อ 9 กำหนดให้เลขาธิการมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตได้ ดังนั้น เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6019/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย: สมาชิกหลายสถาบันไม่ขัดกฎหมาย, อำนาจฟ้องจำเลย
ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 8 (3) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ฉบับที่ 10 พ.ศ.2528 ข้อ 2 และคำจำกัดความของคำว่า "สมาชิก" ตามระเบียบนี้มิได้ระบุว่าห้ามมิให้ชาวไร่อ้อยหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาชิกของสมาคมสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยอื่นหรือมิได้มีบทบบัญญัติของกฎหมายตอนใดระบุว่าเมื่อเป็นสมาชิกของสมาคมใดแล้วจะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมอื่นมิได้ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 5 พ.ศ.2529 ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบำรุงและวิธีการชำระค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อย ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2529 ข้อ 7 วรรคสาม แสดงให้เห็นว่าชาวไร่อ้อยสามารถที่จะสมัครเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยได้มากกว่าหนึ่งสถาบันเพียงแต่หากเป็นสมาชิกหลายสถาบันต้องแจ้งให้โรงงานที่ตนส่งอ้อยเข้าหีบทราบว่าจะให้โรงงานส่งเงินให้สถาบันใดเพียงสถาบันเดียวเท่านั้น ดังนั้นแม้สมาชิกของโจทก์จำนวน 620 คน จะยังเป็นสมาชิกของสมาคมชาวไร่อ้อยสิงห์บุรีก็ตาม ก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะสมัครเป็นสมาชิกของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำขอมีสมาชิกจำนวนรวม 784 คน จึงเป็นการยื่นคำขอที่มีสมาชิกชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อยฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 8 (3) ที่แก้ไขแล้ว จำเลยต้องจดทะเบียนให้โจทก์เป็นสถาบันชาวไร่อ้อย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมา: การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ทำให้สัญญาเปลี่ยนเป็นแยกคิดภาษี หากไม่ได้ระบุไว้ในสัญญา
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบรวม 3 รายการ จำนวน 40,499,000 บาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้วโดยถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ กำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ ซึ่งขณะนั้นกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ.2542 ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมซึ่งจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ลดลงเป็นอัตราร้อยละ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไป โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยเป็นงวดๆ จำเลยได้รับมอบงานและชำระค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้จนกระทั่งรับมอบงานเรียบร้อยโดยคำนวณหักภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 และจำเลยไม่ได้ชำระค่าส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ร้อยละ 3 เป็นเงิน 366,838.65 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่า สัญญาว่าจ้างที่โจทก์และจำเลยตกลงกันมีข้อความว่า "ค่าจ้างและการจ่ายเงิน (สำหรับสัญญาที่เป็นราคาเหมารวม) ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายและผู้รับจ้างตกลงรับเงินค่าจ้างจำนวน 40,499,000 บาท (สี่สิบล้านสี่แสนเก้าหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท (สามล้านหกแสนแปดหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยยี่สิบเจ็ดบาทยี่สิบเจ็ดสตางค์) ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว โดยถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์และกำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ ดังนี้...ฯลฯ...เห็นได้ชัดว่าโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ตกลงให้การจ้างครั้งนี้เป็นสัญญาที่เป็นราคาเหมารวมซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะนั้นจำนวน 3,681,727.27 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว หาได้มีข้อความให้แยกคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหากจากจำนวนเงินค่ารับเหมาทั้งหมดไม่ การที่สัญญามีข้อความระบุค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท ไว้ด้วยเป็นเพียงกำหนดรายละเอียดไว้เท่านั้น หามีผลทำให้สัญญาจ้างเหมาราคารวมดังกล่าวกลับกลายเป็นสัญญาที่แยกความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปต่างหากไม่ นอกจากนั้นข้อความในข้อ 4 ยังได้กำหนดให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์และกำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ อีกด้วย อันเป็นการแสดงชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคู่สัญญามีเจตนาที่จะทำสัญญาให้เป็นสัญญาจ้างเหมารวมภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วย หากโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาเหมารวมก็ชอบที่จะระบุไว้ในสัญญาให้ชัดแจ้งว่าไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จำเลยจึงต้องชำระเงินส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 366,838.65 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819-820/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาเรื่องผิดสัญญาเช่าป่าไม้: ศาลชี้ผิดประเด็นต้องพิจารณาใหม่
โจทก์ฟ้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยฐานผิดสัญญาสัมปทานที่ป่าไม้เขตซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการทำป่าไม้ชายเลนเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ปี 2539 เป็นการผิดสัญญาและทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายแก่โจทก์และคืนเงินประกันแก่โจทก์ จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเรียกเงินประกันคืนหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติใหม่ให้ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนต่อไปได้ โจทก์สามารถทำไม้ป่าชายเลนต่อไปจนสิ้นอายุสัมปทาน ขณะฟ้องคดีนี้อายุสัมปทานของโจทก์ยังคงมีอยู่ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายและเงินประกันความเสียหายตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนได้แล้วพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8310/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้อาวุธปืนในสถานศึกษา: พยายามฆ่า, การป้องกันตัว, และความร้ายแรงของการกระทำ
จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงสวนมาทาง ส. กับพวก แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนักศึกษาหญิงหลายคนได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 60 อันเป็นความผิดต่อผลของการกระทำโดยพลาดที่เกิดแก่นักศึกษาหญิงผู้เสียหายทุกคนและมีความผิดตามมาตรา 288, 80 อันเป็นผลของการกระทำที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิง ส. กับพวกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์-อนาจาร และหลักการฟ้องคดีอาญาที่ต้องระบุองค์ประกอบความผิดให้ชัดเจน
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยพรากและพาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เยาว์อายุ 15 ปีเศษ ซึ่งเป็นบุคคลอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา โดยใช้อุบายหลอกลวงเท่านั้น คำฟ้องโจทก์หาได้บรรยายให้ปรากฏไม่ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจาร คำฟ้องของโจทก์จึงบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะระบุอ้างขอให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมาด้วย และทางพิจารณาจะฟังได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารด้วยก็ตาม แต่ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 284 วรรคแรก ดังกล่าวได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวแก้ในคำแก้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมาที่เกิดจากการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ และศาลไม่ต้องบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับผู้ร้องทั้งสาม ผู้คัดค้านทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในฐานะหน่วยงานทางปกครองที่เป็นองค์กรนิติบุคคลข้อ 17 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 บัญญัติให้มีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำการในนามผู้คัดค้านในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นผู้กระทำการแทนผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การใช้อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งกระทำการในนามผู้คัดค้านจะผูกพันผู้คัดค้านต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ นอกจากจะต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งกำหนดไว้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือกฎระเบียบและข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแล้ว การใช้อำนาจของผู้คัดค้านจะต้องมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือมีการบิดผันอำนาจทางหนึ่งทางใดอีกด้วย
ผู้คัดค้านโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า นิติกรรมหรือสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนหากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉลก็เป็นเพียงโมฆียะ เมื่อไม่มีการบอกล้าง ก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างดังกล่าวตกเป็นโมฆะนั้นไม่ชอบ โดยผู้คัดค้านอ้างทำนองเดียวกันกับที่ได้ยกข้อต่อสู้ไว้แล้วว่า ในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับผู้ร้อง โดยเฉพาะ ศ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของผู้คัดค้านในขณะนั้นและเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างดังกล่าวในนามผู้คัดค้านกระทำโดยมิชอบหลายประการ ทั้ง ศ. และเจ้าหน้าที่อื่นและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้อง สัญญาจ้างดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เป็นการกล่าวอ้างว่า การใช้อำนาจของ ศ. และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นดังกล่าวกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายฝ่ายมหาชน เป็นการโต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) ศ. ช่วยเหลือผู้ร้องโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องจัดให้จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของ ศ. ที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขณะเดียวกันการที่ผู้ร้องเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นของบริษัท ท. ให้แก่ ศ. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้ผลประโยชน์แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง กรณีต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้อง ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้นหากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ดังนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดขออนุญาตโดยตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย-ผลประโยชน์ทับซ้อน-การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-การฟ้องบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ข้อที่ว่า ศ. ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่อื่นของผู้คัดค้านและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้องทั้งสาม หากมีอยู่จริงดังคำคัดค้าน การใช้อำนาจตามกฎหมายของ ศ. ในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ในนามผู้คัดค้านย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจของ ศ. และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นมิใช่เป็นเรื่องภายในของผู้คัดค้านดังที่ผู้ร้องทั้งสามแก้อุทธรณ์ ถือว่าการอุทธรณ์โดยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวของผู้คัดค้านเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า นิติกรรมหรือสัญญา หากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉลหากมีอยู่จริงก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เป็นโมฆะนั้น ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2)
การที่ ศ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในขณะเกิดเหตุปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ในการประชุมคณะกรรมการ กทพ. และลงนามในขณะที่ยังไม่มีการว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการกับผู้คัดค้าน เพื่อมิให้ผู้คัดค้านต้องเสียประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา นอกจากนั้น การลงนามของ ศ. ยังมีลักษณะเร่งรีบโดยลงนามก่อนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเพียง 4 วัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า การกระทำของ ศ. เพื่อให้มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวให้จงได้ นับเป็นการผิดปกติวิสัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประกอบกับข้อที่ ศ. ได้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้นจองของบริษัทผู้ร้องที่ 2 และของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า ศ. ต้องการจะช่วยเหลือผู้ร้องทั้งสามโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องทั้งสามจัดให้ จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของ ศ. ที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
การที่ผู้ร้องที่ 2 เพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นให้แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นได้ซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณ รวมทั้งการจัดสรรหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ ศ. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ก็ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสามได้ให้ผลประโยชน์แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้ ศ. และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้องทั้งสามนั้นเอง กรณีจึงต้องถือว่าในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 ที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามสัญญาซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้น หากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 44 ดังนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7241/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบปากคำเด็กผู้เสียหาย: การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ไม่ทำให้การฟ้องเป็นโมฆะ
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป และเป็นคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี กรณีต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ในการถามปากคำเด็กไว้ในฐานะผู้เสียหายให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กต่อหน้า ร. มารดาผู้เสียหายเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นกับมิได้ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้บันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคท้ายด้วย การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กที่พนักงานสอบสวนได้กระทำไปจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่ก็หามีผลถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่
of 146