คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธนพจน์ อารยลักษณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 153 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การคุ้มครองผู้ใช้สิทธิก่อน และการห้ามใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
การวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยหรือไม่ โจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแสดงให้เห็นว่า อักษรโรมันคำว่า J.Lindeberg เป็นชื่อของนายโจฮันนักออกแบบเสื้อผ้าและผู้ก่อตั้งโจทก์ และได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่างๆ และมีพยานหลักฐานอื่นๆ มาสนับสนุน ขณะที่จำเลยอ้างว่า จำเลยคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าตามฟ้องขึ้นเอง แต่กลับเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกตัวอักษร หากจำเลยไม่เคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน ก็ยากที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจะมีตัวอักษรโรมันตรงกันทุกประการ น่าเชื่อว่าจำเลยนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าของตนอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลย
การจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 จะต้องมีการใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยด้วย แม้โจทก์จะส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลังจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องนี้ดีกว่าจำเลย เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงมาก่อนจำเลย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็เพื่อให้จำเลยสิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องของโจทก์ต่อไปตามคำขอของโจทก์นั่นเอง ถือเป็นการพิพากษาที่ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องและข้อเท็จจริงที่ต้องยกขึ้นโต้แย้งในอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมารดายกให้จำเลยทั้งแปลง ครั้นจำเลยอนุญาตให้โจทก์เข้าทำกิน โจทก์กลับละโมบจึงนำคดีมาฟ้อง โดยจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งคัดค้านเรื่องคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง รวมทั้งอำนาจฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้รับวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลย และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่ยกขึ้นวินิจฉัยให้
การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น คู่ความผู้อุทธรณ์ต้องยกประเด็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งคัดค้านเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด ตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เสมอ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่ออุทธรณ์จำเลยกล่าวแต่เพียงว่าโจทก์เบิกความอย่างไร และหากเป็นเช่นนั้น โจทก์ควรทำอย่างไรต่อไป ทำนองว่าที่ถูกแล้วข้อเท็จจริงควรเป็นเช่นไรเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8868/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ การไม่แจ้งความประสงค์ต่อสู้คดี และความรับผิดทางแพ่งจากบัตรภาษี
ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลและนั่งฟังการพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นสืบพยานจนเสร็จการพิจารณา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงแจ้งต่อศาลว่าจะให้ทนายความยื่นคำร้องขอต่อสู้คดี ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 มาศาลในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันก่อนที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 และการไม่แจ้งในโอกาสแรกว่ามีความประสงค์จะต่อสู้คดี ทำให้ศาลสามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ จำเลยมีสิทธิเพียงที่จะถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบพยานได้ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวในวรรคสามบัญญัติไว้ชัดเจนว่าจำเลยจะขอยื่นคำให้การตามมาตรานี้หรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มาศาลก่อนวินิจฉัยชี้ขาดคดีและไม่แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจขอยื่นคำให้การหรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า ส. และ ม. ผู้ลงชื่อในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีในนามของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ตามลำดับ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 และที่ 5 แต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้รับบัตรภาษีไปตามคำร้องขอรับโอนดังกล่าวที่ยื่นต่อโจทก์ และได้นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 2 และที่ 5 แล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 เชิด ส. และ ม. ออกเป็นตัวแทนของตนในการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงต้องรับผิดตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี, การประเมินภาษี, และการลดเบี้ยปรับ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล
ปัญหาเรื่องการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเป็นไปโดยชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 19 หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการประเมินภาษีอากรว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์การประเมิน ก็มีอำนาจยกขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลได้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย นั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ในฐานะผู้จ่ายเงินรับผิดในส่วนที่ขาดได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 54 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 โดยเจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 51 ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับต้องออกหมายเรียกภายในระยะเวลาและโดยเงื่อนไขตามมาตรา 19 ส่วนกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และปี 2538 นั้น โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการเพื่อชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ทวิ ซึ่งหากโจทก์ไม่ยื่นรายการหรือยื่นรายการโดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินอาจประเมินให้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อพ้นกำหนดยื่นรายการหรือเมื่อโจทก์ยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตรวจสอบตามมาตรา 19 และ 23 แต่อย่างใด
ในชั้นอุทธรณ์การประเมิน โจทก์อ้างว่าได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายให้ถูกต้องและนำส่งครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเมื่อโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบเพราะโจทก์ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายถูกต้องและนำส่งครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำพยานหลักฐานเกี่ยวกับเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของเจ้าพนักงานของโจทก์มาแสดงว่าได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายและนำส่งถูกต้องครบถ้วนแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่รับวินิจฉัยไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน โดยโจทก์มี ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และ ล. เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงินเบิกความว่า โจทก์ได้นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของพนักงานโจทก์ตลอดมา ปรากฏตามรายชื่อผู้ประกันตน ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นพนักงานของโจทก์และโจทก์นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว แต่ปรากฏว่า ใบเสร็จรับเงินของสำนักงานประกันสังคมไม่ได้แสดงรายการว่าเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตนคนใด เป็นพนักงานของโจทก์หรือไม่ และพยานโจทก์ก็มิได้นำสืบอธิบายรายละเอียดให้เห็นได้ว่าหลักฐานการนำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตรงกับรายชื่อพนักงานของโจทก์ตามแบบที่ยื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1 ก การที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาประเงินภาษีโจทก์เพิ่มแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ดังที่โจทก์อ้าง
ในชั้นตรวจสอบไต่สวนและชั้นพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 ซึ่งบัญญัติว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษีโดยให้ผู้จ่ายหักภาษีเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น โดยบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกำหนดอัตราภาษีตามมาตรา 70 ยกเว้นเฉพาะกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (4) (ข) ไว้ร้อยละ 15 ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) (4) (ก) (6) ที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยในอัตราร้อยละ 15 จึงชอบแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ กำหนดให้โจทก์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพียงร้อยละ 5 นั้น คำสั่งดังกล่าวใช้สำหรับการจ่ายเงินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่โจทก์ก็มิได้ยกขึ้นอ้างในคำฟ้องและทางนำสืบว่าบริษัทต่างประเทศดังกล่าวประกอบกิจการในประเทศไทย คงเพิ่งมายกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้
โจทก์ไม่ได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับและรายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 68 และ 69 ทั้งได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ไม่นำส่งสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีหรือเอกสารใดๆ ที่เพียงพอจะแสดงให้รู้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายจำนวนใด จึงไม่อาจคำนวณหากำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อประเมินภาษีตามวิธีปกติได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า จึงชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) (ภ.ง.ด. 51) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชี แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระแล้วจึงคำนวณกลับเป็นกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิอันเป็นการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิดังกล่าวโดยไม่มีเหตุสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ จึงชอบแล้ว ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 นั้นโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี วรรคหนึ่ง
การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/4 ประกอบมาตรา 91/21 (5) เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทน หรือพยาน หรือสั่งให้บุคคลเหล่านั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาให้ตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะทำการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ ทั้งกรณีนี้ก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรทุกประเภทโดยระบุมาตรา 91/21 แห่ง ป.รัษฎากร ไว้ด้วยแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้เจ้าพนักงานประเมิน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 91/15 (1) และ (3)
เมื่อโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์แล้วไม่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ และการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเป็นคุณแก่โจทก์และเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดเบี้ยปรับให้
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ตามมาตรา 67 ทวิ นั้น เป็นการเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 68 โดยภาษีที่ชำระนี้ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68 ฉะนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใดจึงเป็นส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 68 โดยกฎหมายให้นำภาษีที่ชำระให้ตอนครึ่งปีมาเป็นเครดิตสำหรับภาษีที่ต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชี คำฟ้องที่เกี่ยวกับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) จึงเป็นข้อหาเดียวที่เกี่ยวข้องกันกับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ แม้จะมีการประเมินแต่เงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ก็ตาม การที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกค่าขึ้นศาลเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งครึ่งปีและเต็มปีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นแต่ละข้อหาและเมื่อรวมกันแล้วเกินกว่า 200,000 บาท จึงไม่ชอบและเห็นควรให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาด้วย อนึ่ง โจทก์ยังไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลสำหรับการอุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้อีก 200 บาท ตามราราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่ารายปีจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและกรณีคืนเงินภาษี
หลังจากรับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้ทำคำให้การแก้คดีแล้ว จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การตลอดมารวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดจำกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การที่ตนร้องขอขยายระยะเวลาไว้เอง และต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยเคร่งครัด หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดนั้น ก็ต้องร้องขอขยายระยะเวลาต่อไปตามความจำเป็นอีก การที่ต้องมีกำหนดระยะเวลาให้คู่ความแต่ละฝ่ายปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนในการดำเนินกระบวนพิจารณาก็เพื่อเร่งรัดให้ทุกฝ่ายดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาอันสมควร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเลยหน้าที่นั้นก็ต้องถือว่าไม่ติดใจดำเนินกระบวนพิจารณาตามหน้าที่ของตน แม้กระนั้นกฎหมายก็ยังให้โอกาสในการกล่าวอ้างแก้ตัวผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หากว่าฝ่ายนั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจจักก้าวล่วงเสียได้ แต่ในกรณีของจำเลยทั้งห้านั้น คงปรากฏตามคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 แต่เพียงว่า ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดหลงว่าครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงทำให้เข้าใจผิดหลงไปได้เช่นนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันอาจจูงใจให้ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้เช่นนั้น ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังเป็นข้อแก้ตัวอันควรได้ แม้ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2545 จำเลยทั้งห้าจะยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอีกครั้งหนึ่งว่า การขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมีเหตุผลสมควรประการอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 นั้น ก็ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคท้าย สำหรับปัญหาที่ว่าคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งห้าฉบับหลังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
แม้ปีภาษี 2544 โจทก์จะมิได้นำค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกตามรายการทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกับค่ารายปีของโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบนั้น แต่เมื่อโจทก์สำแดงรายการเครื่องจักรกลไกตามที่จำเลยที่ 1 ทักท้วงประจำปีภาษี 2545 แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องกำหนดค่ารายปีของส่วนควบสำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกนั้น เพื่อหาจำนวนเงินที่เครื่องจักรกลไกแต่ละเครื่องสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 8 วรรคสอง เพื่อคิดค่าภาษี และในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องจักรกลไกดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของเครื่องจักรกลไก ขนาด ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่เครื่องจักรกลไกนั้นได้รับประโยชน์ตามความในวรรคสามของมาตรา 8 นั้น แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2475 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน กล่าวคือ ในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แต่จำเลยที่ 1 พิจารณากำหนดค่ารายปีโดยคำนึงแต่เพียงว่าเครื่องจักณกลไกดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 999,452,799.66 บาท และโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึง 4,275,982,415.29 บาท เสียภาษีสรรพสามิต 15,439,793,946.26 บาท แสดงว่าโจทก์สามารถใช้เครื่องจักรหาผลประโยชน์ได้เป็นเงินจำนวนสูงมากจึงกำหนดค่ารายปีจากข้อมูลดังกล่าวเป็นเงินจำนวนสูง ทั้งที่ค่ารายปีตามความในมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ หมายถึงจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้การเช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการเช่าทรัพย์สินนั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีสอดคล้องกับค่าเช่าดังกล่าวมากที่สุด โดยกรณีเงินได้ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องจักรนั้นผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นเพียงที่มาของเงินได้ของผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ ซึ่งนำไปสู่การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมีหลักการคนละอย่างกับการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ให้จัดเก็บจากฐานค่ารายปี โดยถือตามเกณฑ์การหาประโยชน์ในการให้เช่าหรือควรให้เช่าได้เป็นสำคัญ ซึ่งหากมีผู้เช่าเครื่องจักรนี้ไปใช้ผลิตสินค้าจำหน่าย ค่าเช่าเครื่องจักรย่อมเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของผู้เช่า ซึ่งควรต้องต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ผู้เช่าจะได้จากการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าจำหน่าย มิฉะนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เช่าแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีจากมูลค่าเครื่องจักรโดยมีที่มาจากรายได้ของโจทก์ที่ได้จากการใช้เครื่องจักรกลไกของโจทก์ผลิตสินค้าจึงเป็นการประเมินภาษีตามดุลพินิจของตนฝ่ายเดียวโดยไม่สมเหตุสมผลและมิได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 วรรคสองและสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ และภาระภาษีที่ตกแก่โจทก์ การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งห้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การให้เช่าเป็นวิธีการหนึ่งในการหาประโยชน์โดยตรงจากทรัพย์สิน แม้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งนำออกให้เช่าจะเป็นฐานอย่างหนึ่งที่ผู้ให้เช่าย่อมต้องคำนึงถึงเป็นประการสำคัญก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดในการคำนวณหาจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ เช่น ต้องพิจารณาความเหมาะสมของระยะเวลาที่เช่าทรัพย์นั้น รวมทั้งการเสื่อมราคาของทรัพย์สินด้วย เป็นต้น ส่วนกรณีการฝากเงินต่อธนาคารอันทำให้ผู้ฝากได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยได้รับดอกเบี้ยตอบแทนจากธนาคารตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่ฝากนั้น น่าจะพอถือเป็นตัวเลขในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินได้อย่างหนึ่งรวมทั้งยังต้องพิจารณาจากข้อมูลอื่น ๆ อีก เพื่อคำนวณหาค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นว่าผันแปรเพิ่มขึ้นเพียงใดหรือไม่ อย่างไร เมื่อการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่ารายปีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ประกอบกับทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อมูลอื่นที่จะกำหนดค่ารายปีได้ดีกว่าการกำหนดตามทางเลือกที่โจทก์เสนอเพื่อประกอบการพิจารณาหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกดังกล่าวจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารของรัฐจึงสมควรถือตามข้อเสนอของโจทก์ดังกล่าว ประกอบกับจำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การตามรูปคดีนี้ จึงชอบที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเหล่านั้นเป็นฐานในการคำนวณหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดตามเช็ค: การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกินคำฟ้องและฐานความรับผิดของผู้ลงลายมือชื่อเช็ค
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดตามเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำข้อเท็จจริงตามบันทึกที่ระบุว่าในกรณีที่เช็คถึงกำหนดชำระแล้วไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอยอมรับผิดชอบค่าเสียหายต่อผู้ทรงเช็คในฐานะส่วนตัวมาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดตามเช็คพิพาทกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 689/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือน: การยกเว้นสำหรับพื้นที่ที่ผู้แทนอยู่ ไม่ครอบคลุมกรณีที่เจ้าของเป็นนิติบุคคล
โรงเรือนส่วนที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 10 ต้องเป็นโรงเรือนส่วนที่เจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาและมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบกิจการอุตสาหกรรม โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทเป็นนิติบุคคล มีฐานะ สิทธิและหน้าที่ของตนต่างหากจากบุคคลธรรมดา และมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือที่ตั้งที่ทำการอันเป็นสถานประกอบการเป็นที่อยู่ แม้ ว. จะเป็นผู้แทนของโจทก์ แต่ก็เป็นบุคคลธรรมดา การที่ ว. อยู่อาศัยในตึกแถวพิพาทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอยู่เองที่จะไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากกิจการร่วมค้า การประเมิน และการลดเบี้ยปรับจากเหตุผลความเข้าใจผิด
โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลร่วมกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาขายที่ดินอันมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาเป็นการประกอบกิจการร่วมค้าตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 จึงเป็นนิติบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับที่ได้จากกิจการที่ดำเนินการร่วมกันต่างหากจากโจทก์ทั้งแปดแต่ละคนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (4) ประกอบมาตรา 91/1 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งแปดได้ร่วมกันยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะในนามของนิติบุคคลผู้ประกอบกิจการร่วมค้าเช่นนี้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/15 (1) และมาตรา 88/4 ประกอบกับมาตรา 91/21 (5) กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ ประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดเวลาการประเมินไว้ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี ในการเรียกเอาค่าภาษีอากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากรขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากยังไม่แน่นอนว่าผู้เสียภาษีต้องรับผิดจริงหรือไม่
พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เคยออกแบบแจ้งการประเมินรวม 19 ฉบับ ให้จำเลยชำระภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2545 มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่หลงลืมมิได้ลงลายมือชื่อ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมินแก่จำเลยอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545 เพื่อป้องกันการโต้แย้งจากจำเลยว่าแบบแจ้งการประเมินเดิมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อจำเลยได้โต้แย้งแบบแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีอากรที่ขาดฉบับปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินแล้ว ก็เท่ากับจำเลยได้ยอมรับรองแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 นั้นโดยปริยาย หลังจากรับการประเมินครั้งใหม่แล้ว จำเลยยังยื่นอุทธรณ์การประเมินซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยขอถือตามคำอุทธรณ์ฉบับเดิมจึงชอบที่โจทก์ที่ 1 จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ สิทธิในการอุทธรณ์ของผู้นำของเข้าเช่นจำเลยมิได้จำกัดไว้เฉพาะกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรตามมาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นำของเข้าทุกกรณี เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนที่จะมีการนำคดีมาสู่ศาล เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย จึงยังไม่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามที่ถูกประเมินหรือไม่ และถือว่าโจทก์ที่ 1 ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น แม้จะถือไม่ได้ว่าคำอุทธรณ์ที่จำเลยยื่นต่อกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (1) ด้วย แต่การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องราคาสินค้าที่ใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณค่าอากรขาเข้าเป็นหลัก และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้านั้นมาตรา 79/2 กำหนดฐานภาษีไว้ตามมูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ.ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าภาษีสรรพสามิตที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ฉะนั้น ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของจำเลยจึงขึ้นอยู่กับคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นไว้ต่อโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร เมื่อยังไม่แน่นอนว่ามูลค่าของสินค้านำเข้าเป็นเท่าใด ความรับผิดของจำเลยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจึงยังไม่แน่นอนไปด้วย กรมสรรพากรโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากรขึ้นอยู่กับความแน่นอนของมูลหนี้และการอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยได้โต้แย้งแบบแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีอากรที่ขาด โดยยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินแล้ว ก็เท่ากับจำเลยได้ยอมรับรองแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 นั้นโดยปริยาย นอกจากนั้นหลังจากรับแจ้งการประเมินครั้งใหม่แล้วจำเลยยังยื่นอุทธรณ์การประเมินซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยขอถือตามคำอุทธรณ์ฉบับเดิม จึงชอบที่โจทก์ที่ 1 จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 ฉ ซึ่งบัญญัติให้สิทธิผู้นำของเข้าอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สิทธิในการอุทธรณ์ของผู้นำของเข้าเช่นจำเลยมิได้จำกัดไว้เฉพาะกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรตามมาตรา 112 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ แต่ยังรวมถึงการประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นำของเข้าทุกกรณี เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนที่จะมีการนำคดีมาสู่ศาล เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่คัดค้านการประเมินอากร จึงยังไม่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามที่ถูกประเมินหรือไม่ และถือว่าโจทก์ที่ 1 ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น แม้จะถือไม่ได้ว่าคำอุทธรณ์ที่จำเลยยื่นต่อโจทก์ที่ 1 เป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 30 (1) ด้วย แต่การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องราคาสินค้าที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าอากรขาเข้าเป็นหลัก และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้านั้น ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 กำหนดฐานภาษีไว้ตามมูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรสามิตที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียภาษีอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ฉะนั้น ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของจำเลยจึงขึ้นอยู่กับคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นไว้ต่อโจทก์ที่ 1 หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 วินิจฉัยให้ราคาสินค้าและค่าอากรขาเข้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินไว้ลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ก็ต้องลดลงโดยผลของกฎหมายดังกล่าว โดยจำเลยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากรแต่อย่างใด เมื่อยังไม่แน่นอนว่ามูลค่าของสินค้านำเข้าเป็นเท่าใด ความรับผิดของจำเลยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจึงยังไม่แน่นอนไปด้วย โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน
of 16