คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 43

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 329 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งหลังจำเลยเสียชีวิต: ศาลมีอำนาจบังคับคดีจากทายาทได้
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีในคดีส่วนอาญาออกจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง สิทธิในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และสิทธิของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยังคงมีอยู่ ไม่ระงับไป
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมสามารถใช้สิทธิของตนเองต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน
ดังนั้น การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 จึงเป็นการแต่งตั้งตัวแทน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตาย ทนายจำเลยคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย อำนาจของทนายจำเลยหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายไม่ เมื่อทนายจำเลยมิได้ดำเนินการในคดีส่วนแพ่งภายในกำหนด 1 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปได้ สิทธิในการบังคับคดีที่เป็นสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ความรับผิดตามคำพิพากษาย่อมตกทอดแก่ทายาทของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความร้องทุกข์ฐานยักยอก: เริ่มนับเมื่อใด และผลกระทบต่อคดีอาญาและคำขอเรียกทรัพย์
ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าจำเลยมีเจตนายักยอกเอารถตู้ของกลางคันที่เช่าซื้อมาเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตไป จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถส่งมอบรถตู้คันที่เช่าซื้อคืนให้แก่บริษัท ต. นับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2560 อายุความร้องทุกข์ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2560 เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ น. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 จึงเกินกำหนดสามเดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธิของโจทก์ที่นำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ทำให้คำขอส่วนแพ่งของพนักงานอัยการโจทก์ตกไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาหลังจำเลยเสียชีวิต และการดำเนินคดีแพ่งต่อโดยบุคคลที่กฎหมายกำหนด
คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกไปจากผู้ร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำเลยถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา อันส่งผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่โจทก์ขอมาด้วย คดีในส่วนแพ่งจึงต้องดำเนินการเพื่อให้บุคคลที่กฎหมายกำหนดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893-4895/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใช้เอกสารปลอมหลอกขายที่ดินว่างเปล่า ศาลพิพากษาแก้โทษจำคุกและยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โจทก์ร่วมทั้งสองถูกจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เอกสารราชการสำเนาใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและสำเนาระวางที่ดินปลอมมาหลอกลวงขายที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างอาคารอะพาร์ตเมนต์ อยู่ใกล้ถนนพัทยาใต้ติดแหล่งชุมชนจนหลงเชื่อ แล้วโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะมีพฤติการณ์เรียกผลประโยชน์ตอบแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างมาในฎีกาก็เป็นเรื่องการเรียกดอกเบี้ยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายเป็นคนละส่วนกับต้นเงินที่โจทก์ร่วมทั้งสองต้องเสียไปในการซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารราชการปลอม
โจทก์ร่วมที่ 1 ต้องสูญเสียเงิน 14,520,000 บาท เนื่องจากถูกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกร่วมกันหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้ศาลจะไม่ได้พิพากษาลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงเนื่องจากเป็นบทเบากว่าความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม ศาลก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนเงินจำนวน 14,520,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ร่วมที่ 1 อย่างไร จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชอบที่จะไปดำเนินคดีทางแพ่งตามสิทธิของตนต่อไป
โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงซื้อที่ดินพิพาทเพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงว่า ที่ดินพิพาทมีอาคารอะพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่ มิใช่เพราะหลงเชื่อว่าจะมีการซื้อคืนในราคา 17,000,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำพวกของตนมาแอบอ้างแสดงตนเป็น บ. ผู้จะซื้อคืน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่การหลอกลวงขายที่ดินพิพาทอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) เท่านั้น หาเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1) (เดิม) ประกอบมาตรา 341 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการเบียดบังทรัพย์สินเช่าซื้อ: ศาลกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุ ...หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ แม้ดอกเบี้ยของราคาใช้แทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจักรยานยนต์ และค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามตลอดจนค่าติดตามเอารถคืน มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่เบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต จึงชอบที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 26,016 บาท นั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยไม่ส่งมอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงิน 26,016 บาท ได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 เมื่อไม่ปรากฏว่าเวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมมีคำขอและฎีกาขอเรียกดอกเบี้ยของราคาใช้แทนนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง อันเป็นช่วงเวลาก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาจึงไม่อาจกำหนดให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470-2471/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฉ้อโกงกรรมเดียวต่อเนื่อง การรับผิดคืนเงินเฉพาะส่วนที่กระทำ
ผู้เสียหายถูกคนร้ายหลอกลวงฉ้อโกงให้โอนเงินเข้าบัญชีของจําเลยที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง เป็นเงิน 937,500 บาท เข้าบัญชีของจําเลยที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 612,500 บาท และเข้าบัญชีของจําเลยที่ 4 จำนวน 5 ครั้ง เป็นเงิน 1,370,000 บาท โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยแต่ละคนร่วมรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน กรณีเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ จําเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย แต่คงต้องรับผิดคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจากผลเฉพาะที่ตนกระทำ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา: การพิจารณาค่าสินไหมทดแทนที่สูงเกินสมควรและการยกเว้นค่าธรรมเนียม
คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฐานร่วมกันบุกรุก และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ลักไปเป็นเงิน 668,953.50 บาท ส่วนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 18,835,776.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ซึ่งมีคำร้องให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินติดมากับฟ้องอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือมีคำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในส่วนของการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ หรือชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 254 วรรคสอง มาใช้บังคับ เพราะโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในส่วนของการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญามาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามหากโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควรหรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์ร่วมชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ โดยโจทก์ร่วมไม่อาจขอยกเว้นค่าธรรมเนียมตามคำสั่งศาลในกรณีเช่นนี้ได้ ถือเป็นบทบังคับเด็ดขาด เพราะหากโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าเป็นการทิ้งฟ้องในคดีส่วนแพ่ง
การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนในชั้นฎีกาสูงเกินสมควรหรือไม่ ศาลชอบที่จะนำเหตุผลตามคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มาประกอบดุลพินิจ โดยไม่จำต้องพิจารณาตามคำร้องฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ของโจทก์ร่วมที่ยื่นประกอบการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมที่มีข้อเรียกร้องทำนองเดียวกันซ้ำอีก คดีในส่วนแพ่งชั้นฎีกาโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมเป็นค่าเสียหายกรณีลักไม้ผนังร่วม 270,583 บาท ค่าทรัพย์สินเสียหาย 521,223 บาท ค่าเสียโอกาสในการให้เช่าและอยู่อาศัย 630,000 บาท ค่าเสียหายจากการเพิ่มภาระน้ำหนักกดลงบนโครงสร้างร่วม เสาร่วม คานร่วม ของตึกโจทก์ร่วม 4,000,000 บาท ค่าเสียโอกาสนำบ้านเป็นหลักประกันการกู้เงินธนาคารเพื่อนำมาประกอบธุรกิจ 1,300,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,721,806 บาท ซึ่งล้วนเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำขอพร้อมแสดงเหตุแห่งการยกคำขอไว้เพียงพอให้เห็นได้ว่าค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมขอในชั้นฎีกายังคงสูงเกินสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1672/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกยักยอก และการชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด
ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า "อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้เกิดขึ้นนั้นด้วย" การเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ตนครอบครองเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกและเป็นละเมิดในทางแพ่งนั้น การใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องกระทำโดยการคืนทรัพย์สินที่ยักยอกแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นลำดับแรก กรณีผู้ทำละเมิดไม่อาจคืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงจะมีสิทธิเรียกให้ผู้ทำละเมิดใช้ราคาทรัพย์สินแทนเป็นลำดับถัดมา คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายรวม 19 ลำดับ แก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แสดงว่าขณะฟ้องทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งหมดรวมทั้งสะพานไม้รอบบ่อ ยังอยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามสามารถคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ ทั้งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นของโจทก์ร่วมเริ่มตั้งแต่ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เข้าร่วมไกล่เกลี่ยตกลงให้โจทก์ร่วมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารที่เช่าตลอดจนอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน โจทก์ร่วมก็มิได้โต้แย้งหรือเบิกความคัดค้านว่าสะพานไม้รอบบ่อสูญหาย หรือบุบสลายหรือถูกทำลายจนไม่อยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามจะคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ โจทก์ร่วมเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ดูแลรักษาสะพานไม้รอบบ่อขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามจนสะพานไม้รอบบ่อได้รับความเสียหาย ไม่อยู่ในสภาพเดิม โจทก์ร่วมจึงไม่ขอรับสะพานไม้รอบบ่อคืนจากจำเลยทั้งสามโดยขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาแทนโจทก์ร่วมสถานเดียว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" และวรรคสาม บัญญัติว่า "คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ ..." จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ให้โดยการยื่นคำร้องเข้าไปในคดีอาญาในฐานความผิดที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ก็แต่เฉพาะค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานยักยอก โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริตตลอดจนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานยักยอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง การที่โจทก์ร่วมไม่ได้เข้าประกอบกิจการร้านอาหารในที่ดินและอาคารที่เช่าของจำเลยที่ 1 เป็นผลมาจากโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาเช่าที่ดินและอาคารต่อกันแล้วก่อนเกิดเหตุกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมขาดรายได้จากการขายอาหารจึงมิได้สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้องจึงไม่อาจนำค่าขาดรายได้จากการประกอบกิจการร้านขายอาหารมาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามชดใช้แก่โจทก์ร่วมได้ อย่างไรก็ตาม ตามคำขอของโจทก์ร่วมดังกล่าวพออนุโลมได้ว่าเป็นการเรียกค่าสินไหมดแทนที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปใช้เป็นประโยชน์ของจำเลยทั้งสามในลักษณะเป็นค่าใช้ทรัพย์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเบียดบังทรัพย์โดยเจ้าพนักงาน, รับของโจร, การใช้กฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่, และการกำหนดราคาค่าเสียหาย
เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เบียดบังเอาพระพุทธรูปดังกล่าวไปโดยไม่มีสิทธิ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนพระพุทธรูปดังกล่าวแก่วัดผู้เสียหาย หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคา ส่วนของการใช้ราคานั้น ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคสอง บัญญัติว่า "ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง..." คดีนี้โจทก์คงมีแต่บันทึกคำให้การของ ป. ผู้กล่าวโทษว่า พระพุทธรูปปางมารวิชัย 2 องค์ ราคาประมาณ องค์ละ 1,500,000 บาท และบันทึกคำให้การของ ว. ว่า พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีมูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท มาใช้เป็นข้อมูลและหลักในการกำหนดราคาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ เท่านั้น ป. และ ว. เป็นราษฎรในท้องที่เกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตีราคาพระพุทธรูปหรือเป็นผู้ทำการงานหรือผู้ประกอบการในการซื้อขายพระพุทธรูป ราคาหรือมูลค่าพระพุทธรูปที่กล่าวถึงเป็นเพียงการกะประมาณตามความรู้สึก อีกทั้งพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ เป็นวัตถุโบราณ ราคาหรือมูลค่าจึงมากบ้างน้อยบ้างเป็นไปตามใจของแต่ละคนที่ได้เกี่ยวข้องพบเห็น ยังไม่แน่นอน ไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นในสำนวนที่พอจะกำหนดราคาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ ให้แน่นอนได้ ศาลจึงไม่อาจกำหนดราคาอันแท้จริงของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ ที่ต้องใช้คืนได้ ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดให้ใช้ราคาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงกับแจ้งความเท็จ: กรรมเดียวหรือหลายกรรม, การคืนเงินค่าเสียหาย
แม้โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกาขอให้กำหนดโทษจําเลยในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ เนื่องจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาฉ้อโกง แต่ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ร่วมเกี่ยวพันกับความผิดข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์ร่วมมีสิทธิฎีกา ทั้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หากศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาเห็นสมควรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คําฟ้องของโจทก์แยกเป็นข้อ ก. และข้อ ข. แต่ใช้วันเวลากระทำผิดเดียวกัน ข้อ ก. ระบุว่า จําเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมว่า จําเลยประสงค์ขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อจึงทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลย และมอบเงินให้จําเลย ข้อ ข. ระบุว่า จําเลยแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสัญญาขายฝากที่ดินอันเป็นเอกสารราชการว่าที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างอันเป็นความเท็จ ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 หลงเชื่อและจดข้อความดังกล่าวลงในหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน เห็นได้ว่าการที่จําเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามข้อ ข. เป็นการกระทำส่วนหนึ่งของการฉ้อโกงตามข้อ ก. อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาอย่างเดียวกันคือเพื่อหลอกลวงเงินจากโจทก์ร่วม จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
จําเลยขายฝากที่ดินให้โจทก์ร่วมโดยหลอกลวงว่าที่ดินมีสิ่งปลูกสร้าง ความจริงที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานฉ้อโกง และมีคําขอให้จําเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง จําเลยจึงต้องคืนเงินเต็มจำนวนแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ส่วนที่ดินที่จําเลยจดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์ร่วม จําเลยต้องดำเนินการตามสิทธิของตนเองต่อไป
of 33