คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ศุภชัย สมเจริญ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 157 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13180/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งงดชี้สองสถานไม่ใช่คำสั่งชี้ขาดเบื้องต้น โจทก์ไม่โต้แย้งเสียสิทธิอุทธรณ์
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 988/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 14 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13122/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของจำเลยและจำเลยร่วมในคดีรถหาย กรณีจำเลยไม่ต้องรับผิด จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยร่วม
การที่ศาลมีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยฝ่ายที่สาม เพราะเหตุจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามา เพราะเมื่อหากจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยต่อจำเลยร่วมได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ในคดีนี้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยร่วมได้ ดังนั้นจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: จำเลยเป็นตัวการร่วม แม้รับจ้างขน และการริบของกลางที่ไม่ชอบ
จำเลยถูกจับขณะที่มีเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลย แม้ฟังว่าจำเลยยึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางขณะอยู่ในช่วงระหว่างจำเลยรับขน และเมทแอมเฟตามีนของกลางจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างก็ถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุน
แม้จำเลยจะให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่า จำเลยรับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ผู้ว่าจ้าง แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยก็นำสืบปฏิเสธว่าคำให้การดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจทำขึ้นมาเองโดยจำเลยไม่ทราบข้อความและข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้อาศัยคำให้การของจำเลยขยายผลจนเป็นเหตุให้มีการจับกุมผู้ว่าจ้างมาดำเนินคดี คดียังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนจึงไม่อาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิได้ฟ้องจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ฉะนั้น เงินค่าจ้างที่จำเลยได้จากผู้ว่าจ้างในการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าผู้สั่งซื้อและโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยใช้ติดต่อกับผู้ว่าจ้างให้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าผู้สั่งซื้อจึงไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 จึงไม่อาจริบได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งริบเงินและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ชอบปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินเกษตรกรรมและการบอกเลิกสัญญาเนื่องจากผิดสัญญา ข้อตกลงในสัญญาเช่ามีผลผูกพัน
การบอกเลิกการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งต้องแจ้งการบอกเลิกต่อประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีคำวินิจฉัยก่อน บังคับเฉพาะแต่การเช่านาซึ่งหมายถึงเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ และพืชไร่หมายความว่าพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและอายุสั้นหรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือนตามที่ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ให้คำนิยามไว้ ดังนี้ ต้นมะพร้าวจึงไม่ใช่พืชไร่แต่เป็นพืชเกษตรกรรมอื่น ไม่อยู่ในบังคับให้ต้องแจ้งการบอกเลิกการเช่าต่อประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อให้มีคำวินิจฉัย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อตกลงในสัญญาเช่าห้ามผู้เช่าขุดคู บ่อน้ำในที่ดินที่เช่า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ให้เช่า เป็นข้อกำหนดลักษณะการใช้ที่ดิน เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เมื่อจำเลยที่ 1 รับว่าขุดคูและบ่อน้ำในที่ดินที่เช่าโดยได้รับอนุญาตด้วยวาจา จำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า เมื่อจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาเนื่องจากกระทำไปโดยได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่า ดังนี้ ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาจึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดข้อตกลงว่า กรณีผู้เช่ากระทำผิดสัญญา ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีและผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิจะเข้ายึดถือครอบครองที่เช่าได้โดยพลัน แม้การที่โจทก์เข้ารื้อถอนต้นมะพร้าวออกจากที่ดินที่เช่าจะเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องจากข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ให้สิทธิโจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่ดินที่เช่า ถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม หลังจากโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า ต่อมาอีกประมาณปีเศษโจทก์จึงเข้าปรับสภาพที่ดินให้เป็นดังเดิม ซึ่งเมื่อขณะจำเลยที่ 1 ขุดคูและบ่อน้ำ จำเลยที่ 1 ยอมรับจะปรับสภาพที่ดินให้เป็นไปดังเดิมภายหลัง ดังนี้ที่โจทก์เข้าปรับสภาพที่ดินรวมถึงรื้อถอนต้นมะพร้าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กระทำตามข้อตกลงในสัญญาเช่า แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง และการปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ขัดแย้งกัน ทำให้ไม่อาจสืบพยานได้
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายบ้านกับ ป. โจทก์จึงเป็นเจ้าของบ้าน และการบอกเลิกการเช่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นพิพาทกัน จำเลยไม่อุทธรณ์โต้เถียงในประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาฎีกาเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่านับแต่จำเลยเช่าบ้านจากโจทก์ จำเลยชำระค่าเช่าแก่โจทก์เดือนละ 16,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่ามาตลอด และนับแต่เดือนมีนาคม 2540 เป็นต้นมา จำเลยก็ไม่ชำระค่าเช่าแก่โจทก์อีกจนกระทั่งถึงวันฟ้อง ซึ่งในข้อนี้จำเลยให้การและนำสืบว่า จำเลยชำระค่าเช่าแก่โจทก์มาตลอดจนกระทั่งถูกโจทก์ฟ้องจำเลยจึงไม่ชำระแก่โจทก์ ขณะเดียวกันจำเลยได้ให้การต่อสู้ด้วยว่าหากฟังว่าจำเลยไม่ชำระค่าเช่า เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2540 ที่จำเลยผิดนัดถึงวันฟ้อง คดีของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว คำให้การดังกล่าวจึงขัดแย้งกันเท่ากับมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิสืบพยานตามที่ให้การต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อหนี้สถาบันการเงินและการเรียกร้องดอกเบี้ย ผู้ค้ำประกัน และผลของการฟื้นฟูกิจการ
ส. มิได้เป็นพนักงานของโจทก์แต่เป็นลูกจ้างของบริษัท บ. ซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารและบริการทรัพย์สินสินเชื่อที่โจทก์ซื้อมาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และ ส. มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับมูลหนี้ รวมทั้งมูลหนี้ของจำเลยในคดีนี้การที่ ส. ตรวจสอบมูลหนี้ของจำเลยจากเอกสารต่างๆ ถือว่า ส. เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร จึงสามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้ การที่ ส. เบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจและมอบอำนาจช่วง จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้ปิดประกาศขายสินทรัพย์ที่หน้าที่ทำการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับไม่น้อยกว่า 3 วัน รวมทั้งได้ประกาศขายในเครือข่ายคอมพิวเตอร์จึงชอบด้วยพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 ทวิ วรรคหนึ่ง และถือเป็นการบอกกล่าวการโอนทรัพย์สินแก่ลูกหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306
คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ. ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง การที่จำเลยยอมผูกพันตนต่อบริษัทเงินทุน ธ. เจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อบริษัท อ. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของจำเลยย่อมเกิดมีขึ้นเมื่อบริษัท อ. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ บริษัทเงินทุน ธ. ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้แต่เวลานั้น จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดก็ต่อเมื่อหนี้ของบริษัท อ. ระงับสิ้นไป ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680, 686 และ 698 การที่บริษัท อ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ทำให้บริษัทดังกล่าวหลุดพ้นจากความรับผิด คงมีผลทำให้ความรับผิดของบริษัทดังกล่าวลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยลดลงตามจำนวนที่บริษัทดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น
บริษัทเงินทุน ธ. เป็นสถาบันการเงินจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 30 (2) ไม่ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 654 บริษัทเงินทุน ธ. จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุน ธ. มาตามสัญญาขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่บริษัทดังกล่าวมีต่อบริษัท อ. และจำเลย แล้วโจทก์ใช้สิทธิของบริษัทเงินทุน ธ. ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์มิได้เป็นสถาบันการเงินก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9322/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ การใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนา
การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาจะได้สิทธิในภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสามยทรัพย์เป็นข้อสำคัญในการพิจารณาว่าจะได้ภาระจำยอมหรือไม่ โดยไม่คำนึงว่าภารยทรัพย์จะอยู่ในครอบครองของผู้ใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8792/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้การต่อสู้คดีอายุความไม่ชัดเจน ถือเป็นประเด็นไม่สมบูรณ์ ศาลไม่ต้องวินิจฉัย
คำฟ้องของโจทก์อ้างว่า จำเลยส่งรถยนต์มาให้โจทก์ซ่อมหลายครั้งหลายรายการโจทก์ซ่อมรถยนต์ให้แก่จำเลยและได้มอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าของจำเลยแล้ว จำเลยให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องถึงวันฟ้อง โดยไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมคันไหนตั้งแต่เมื่อไรทั้ง ๆ ที่เอกสารท้ายฟ้องได้ระบุยี่ห้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ หมายเลขเคลมเลขที่กรมธรรม์ประกันภัยและจำนวนเงินค่าซ่อมไว้อย่างชัดเจนแล้ว จำเลยสามารถทราบได้เป็นอย่างดีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์แต่ละคันตั้งแต่เมื่อใด และสามารถให้การต่อสู้ได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับรถยนต์คันไหนขาดอายุความแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความโดยชัดแจ้งคำให้การของจำเลย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8632/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิในที่ดินที่ได้ใบจองตามประมวลกฎหมายที่ดิน การโอนสิทธิโดยไม่ชอบตามกฎหมาย
สิทธิในใบจองเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีชื่อในใบจองเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่าโอนที่บัญญัติในกฎหมายไม่ว่าจะใน ป.ที่ดิน มาตรา 31 (1) หรือใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง เป็นคำสามัญที่หมายถึงการโอนทุกกรณี กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ณ ที่ใดว่า ให้หมายถึงการโอนทางทะเบียน นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างผู้มีชื่อในใบจองกับบุคคลอื่นหรือระหว่างบุคคลต่อจากนั้นจึงขัดต่อกฎหมายไม่มีผลบังคับแม้จะไม่มีการโอนทางทะเบียนก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาต้องเผยแพร่สู่สาธารณชน การแจ้งเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อที่ดินไม่ถือเป็นการโฆษณา
จำเลยจัดสรรที่ดินริมทะเลขาย โจทก์เป็นผู้ซื้อรายหนึ่ง จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งกล่าวหาว่า โจทก์รุกล้ำชายหาด และแจ้งเรื่องเป็นหนังสือทางไปรษณีย์ถึงผู้ซื้อที่ดินรายอื่นอีกหลายรายในโครงการจัดสรร การส่งหนังสือของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในโครงการเช่นเดียวกับโจทก์ ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป ไม่เป็นหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
of 16