คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ศุภชัย สมเจริญ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 157 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์: แม้เข้าใจผิดว่าเป็นของตนเอง หากเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ เกิน 10 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์
การที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่งการครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเองก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5451/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากศาลอุทธรณ์แก้โทษจำคุก ศาลฎีกาแก้เป็นรอการลงโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้โทษจำคุกจำเลย 4 เดือน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานจำเลยว่า โจทก์ร่วมได้ลงมือประทุษร้ายร่างกายจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันและหากฟังว่าจำเลยกระทำความผิดก็มีเหตุสมควรรอการลงโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานและการลงโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าว มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะใน ป.วิ.อ. จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่ตามคำร้องคงเพียงขอเฉพาะผู้พิพากษาสองคนซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยระบุชื่อให้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาคนอื่นซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นคนหนึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุชื่อตามคำร้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยลำพังจึงไม่มีผลเป็นการอนุญาตให้ฎีกาที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221 เพราะมิได้ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นคนนั้นเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตลอดทั้งมิได้ผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5026/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องเรียนทนายต่อสภาทนายความจากความเข้าใจผิดเรื่องค่าเสียหาย ไม่ถือเป็นการละเมิด
สาเหตุที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความเกิดจากความเข้าใจของจำเลยว่า จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำหน้าที่ของโจทก์ เนื่องจากโจทก์บรรยายคำฟ้องคดีแรงงานโดยระบุว่านายจ้างของจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เงินพักผ่อนประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้าง เงินโบนัสประจำปีที่ถูกเลิกจ้าง เงินกองทุนเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุในการทำงานของจำเลย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,165,395 บาท แต่ตามคำขอท้ายฟ้องคดีแรงงานโจทก์ขอให้นายจ้างของจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เงินพักผ่อนประจำปี เงินโบนัสประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้าง ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุในการทำงานของจำเลย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 475,041 บาท และศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างของจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว แม้ศาลฎีกาจะพิพากษาให้นายจ้างของจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มจากที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา แต่จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็เป็นจำนวนตามที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องนั่นเอง เมื่อจำนวนเงินดังกล่าวแตกต่างจากจำนวนเงินตามคำบรรยายฟ้องเป็นอย่างมาก ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับชดใช้เงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ การที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความโดยระบุถึงการกระทำของโจทก์ตามที่ปรากฏแก่จำเลย โดยไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากความเป็นจริง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ใช่เป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยมีเจตนาให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณหรือทางทำมาหาได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยหาได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายไม่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4659/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่วางค่าธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น และศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางภายในกำหนด จึงไม่รับอุทธรณ์จำเลย จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้นและให้สืบพยานใหม่เท่ากับขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางพร้อมอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ให้ยกคำร้อง เท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4270/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าและการกระทำโดยบันดาลโทสะ: กรณีตำรวจยิงผู้ตาย
การที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายใช้ให้จำเลยไปยืมเงินผู้อื่นมาให้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเกิดเหตุ และจำเลยชอบที่จะต้องดำเนินการเรียกร้องบังคับให้ผู้ตายชำระหนี้ให้จำเลยตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ส่วนถ้อยคำที่ผู้ตายพูดกับจำเลยที่เป็นคำก้าวร้าว หยาบคายเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะกล่าวออกมา และเป็นที่ระคายเคืองแก่จำเลยอยู่บ้างก็ไม่ถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงมิใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3851/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตอุทธรณ์ตรงต่อศาลฎีกาต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ หากมีคู่ความอื่นคัดค้าน
ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ในกรณีที่ไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 223 และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ คดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกามาพร้อมคำแก้อุทธรณ์ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้หลังมีคำสั่งอายัด: สิทธิของผู้ร้องในการนำเงินค่าปรับไปชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าวหลังจากผู้ร้องได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2543 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหาลือลงวันที่ 26 มกราคม 2544 ว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้โดยผู้ร้องต้องมีหนังสือแจ้งขอใช้สิทธิหักลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 หากผู้ร้องไม่แจ้งการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ก็จะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ได้แจ้งอายัด ผู้ร้องจึงมีหนังสือลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงผลการหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับส่วนที่เหลือ ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 แล้ว แต่เนื่องจากผู้ร้องเพิ่งจะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้หลังมีคำสั่งอายัด - ผู้ร้องแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้หลังรับทราบคำสั่งอายัด จึงไม่มีสิทธิ
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,347,666 บาท ไปชำระหนี้จำนวน 6,244,185.80 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้ โดยผู้ร้องต้องแจ้งขอใช้สิทธิหักลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 หากผู้ร้องไม่แจ้งการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ก็จะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ได้แจ้งอายัด ผู้ร้องจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับส่วนที่เหลือจำนวน 4,896,519.80 บาท ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 แล้ว แต่ผู้ร้องเพิ่งจะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ: โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรง แม้เกิดละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มีผลใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4ถึงที่ 6 และที่ 9 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3339/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร: ความรู้ในการกระทำความผิดและลักษณะฉกรรจ์ตามกฎหมายอาญา
แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยที่ 2 ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ ซึ่งต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ก็ตาม แต่การจะลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่าในขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 ได้รู้อยู่ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ทั้งนี้ตามมาตรา 62 วรรคท้าย ซึ่งในข้อนี้ตามทางพิจารณาได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 2 รับรถยนต์กระบะของกลางมาจาก ข. เท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ได้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเมื่อศาลฎีกาไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 357 วรรคสอง นั้นชอบหรือไม่ เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
of 16