พบผลลัพธ์ทั้งหมด 157 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8800/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างทดลองงาน การบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย กรณีเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน
ตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ตกลงจ้างจำเลยที่ 2 ทำงานโดยมีระยะเวลาการทดลองงาน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานโจทก์จะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานโจทก์สามารถเลิกจ้างได้ หรืออาจให้จำเลยที่ 2 ทดลองงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อครบกำหนดเวลาทดลองงาน 120 วัน แล้ว โจทก์ยังให้จำเลยที่ 2 ทำงานต่อไปอีก 20 วัน และต่อมาเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ด้วยสาเหตุไม่ผ่านการทดลองงาน เท่ากับโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ทดลองงานต่อไปอีก 20 วัน ตามสัญญานั่นเอง เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 ในระหว่างทดลองงานอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 ไม่ผ่านการทดลองงาน โจทก์จึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 2 ทราบเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป การที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2545 บอกเลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 25 ตุลาคม 2545 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 2 ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุไม่ผ่านการทดลองงาน จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8233-8236/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่มาศาลโจทก์ในวันนัดสืบพยานจำเลย ไม่ถือเป็นการสละสิทธิฟ้องคดี แรงงาน
ศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีของโจทก์ทั้งสี่ไว้พิจารณาและได้กำหนดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดให้นัดสืบพยานโจทก์รวมไปกับวันนัดพิจารณาดังกล่าวด้วย ก็เป็นเพียงวิธีการเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น วันนัดพิจารณาคดีทั้งสามครั้งของศาลแรงงานกลางเป็นการกำหนดนัดพิจารณาตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 บัญญัติไว้ เพื่อให้โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมาศาลพร้อมกันแล้วให้ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกันโดยถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 ในวันนัดพิจารณาตามที่บัญญัติในมาตรา 37 นี้ หากโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่ไม่ไปศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลแรงงานกลางต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสามครั้งโจทก์ทั้งสี่ไปศาลตามกำหนดนัดทุกครั้งจึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป อันจะอ้างเป็นเหตุจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยไม่อาจตกลงกัน การที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและวันนัดสืบพยานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็เพื่อที่ศาลแรงงานกลางจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 คงมีผลเพียงทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียสิทธิที่จะขออนุญาตศาลแรงงานกลางถามพยานจำเลยเพื่อทำลายน้ำหนักพยานจำเลยเท่านั้น ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8233-8236/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดำเนินคดีแรงงาน: ผลของการไม่ไปศาลตามนัด และสิทธิในการสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีของโจทก์ทั้งสี่ไว้พิจารณาและได้กำหนดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์รวมสามครั้ง แม้จะกำหนดให้นัดสืบพยานโจทก์รวมไปด้วยก็เป็นเพียงวิธีการเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น วันนัดดังกล่าวเป็นการกำหนดนัดพิจารณาตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 37 หากโจทก์ทราบ คำสั่งให้มาศาลโดยชอบแล้ว ไม่ไปศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่ไม่ไปศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป และศาลแรงงานต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความตาม มาตรา 40 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสี่ไปศาลในวันนัดดังกล่าวทุกครั้ง จึงไม่มีกรณีที่จะอ้างเป็นเหตุจำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสี่ตาม มาตรา 40 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยไม่อาจตกลงกัน การที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและ วันนัดสืบพยานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 นั้น คงมีผลเพียงทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียสิทธิที่จะขออนุญาตศาลแรงานกลางถามพยานจำเลย เพื่อทำลายน้ำหนักพยานจำเลยเท่านั้น ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8181/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การให้เงินเจ้าพนักงานตำรวจที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 167
คำว่า "พนักงานสอบสวน" ตาม ป.อ. มาตรา 167 มีความหมายว่า ต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเท่านั้น ดังนั้น การให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเพื่อให้ช่วยเหลือไม่ดำเนินคดี จึงมิใช่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่พนักงานสอบสวนตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ คงมีความผิดตามมาตรา 144 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7838/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง: โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีต่อกระทง
คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ต้องแยกพิจารณาโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี แม้จะนำโทษจำคุก 6 เดือนที่รอการลงโทษไว้ในคดีอื่นมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน ก็เป็นกรณีที่คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยแก้ไขให้ใช้บังคับตามบทกำหนดโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่และแก้โทษจำคุกจากกระทงละ 5 ปี เป็นกระทงละ 4 ปี การแก้ไขบทลงโทษเป็นการปรับบทลงโทษบทเดิมที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์มีพิรุธไม่เพียงพอฟังเพื่อลงโทษจำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7592/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างทำของไม่ติดอากรแสตมป์ ไม่เป็นอุปสรรคฟ้องร้องได้ พยานบุคคลใช้แทนเอกสารได้
สัญญาจ้างทำของมิได้ปิดอากรแสตมป์ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 จึงต้องห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแต่การจ้างทำของไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดังนั้นจึงรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเกินกำหนดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำให้คำสั่งนั้นไม่มีผลบังคับ
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 124 กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานต้องทำการสอบสวนและมีคำสั่ง ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง หากมีกรณีจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งในกำหนดเวลาได้ก็ให้ขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องของ ส. กับพวกเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2544 แต่มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2544 ซึ่งเกินกว่า 60 วันโดยไม่ได้ขอขยายระยะเวลาตามกฎหมายคำสั่งของจำเลยจึง ไม่มีผลบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5394-5404/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าคอมมิชชั่น/เที่ยวเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน เมื่อจ่ายตอบแทนการทำงานปกติ
เงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แต่ละคนซึ่งเป็นพนักงานขับรถและพนักงานยกของที่ไปกับรถของจำเลยเมื่อทำตามหน้าที่ของตน โดยจำเลยกำหนดอัตราไว้แน่นอนว่าเที่ยวหนึ่งจะจ่ายให้เท่าใด สามารถคำนวณได้ตามจำนวนเที่ยวที่ทำได้ในเวลาทำงานตามปกติของวันทำงาน มีลักษณะชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานมิใช่จงใจจ่ายเพื่อจูงใจให้โจทก์ขยันทำงาน เงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวจึงเป็นค่าจ้าง ตามความหมายของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5326-5327/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลแรงงานในการรับฟังพยานหลักฐานเพิ่มเติมหลังสืบพยานเสร็จสิ้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
วิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นระบบไต่สวนซึ่งศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันจะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร การที่ศาลแรงงานฟังว่าโจทก์ที่ 2 มีค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,000 บาท โดยฟังจากคำเบิกความโจทก์ที่ 2 ประกอบเอกสารหนังสือแจ้งผ่านการทดลองงานที่โจทก์อ้างในบัญชีระบุพยาน แต่นำส่งศาลเป็นเวลาภายหลังโจทก์จำเลยสืบพยานเสร็จแล้ว ก็ถือว่าศาลแรงงานมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขอเลื่อนคดีต้องแสดงเหตุให้ศาลเห็นว่าหากไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม แม้ป่วยจริงก็ต้องแสดงเหตุผลประกอบ
ในการขอเลื่อนคดีของคู่ความนั้น กฎหมายได้บัญญัติรายละเอียดและเหตุที่จะขอเลื่อนคดีไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 39 และ 40 การที่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 5 และยื่นใบรับรองแพทย์มาด้วยเพื่อยืนยันว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงไม่สามารถมาศาลได้ แม้โจทก์มิได้คัดค้านและข้อเท็จจริงจะฟังว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงซึ่งมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ แต่คำร้องขอเลื่อนคดีระบุเพียงว่าขอเลื่อนคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมโดยไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนในคำร้องว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง อีกทั้งการที่คู่ความขอเลื่อนคดีเพราะป่วยเจ็บ ศาลก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 41 กล่าวคือ ตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจอาการป่วยเจ็บเสมอไป เพราะกรณีตามมาตรา 41 นั้น เป็นเรื่องที่ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อนคดีป่วยถึงกับไม่สามารถมาศาลได้