คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรชาติ บุญศิริพันธ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 467 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11044/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของ vs. เช่าทรัพย์: ความรับผิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงาน
แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก. ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท. ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8547/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการผู้จัดการในการตัดสินข้อพิพาทตามสัญญา และผลผูกพันต่อบุคคลภายนอก
ขณะที่ ส. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์สั่งให้ฝ่ายการคลังคืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้แก่จำเลยทั้งสาม ส. มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามหนังสือรับรอง ซึ่งไม่มีข้อจำกัดอำนาจของกรรมการแต่อย่างใด โดยเงื่อนไขทั่วไปแห่งสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาท มีข้อตกลงชัดแจ้งว่าในกรณีที่มีการโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทระหว่างผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) และโจทก์ที่เกี่ยวกับสัญญานี้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเสนอข้อพิพาทไปยังผู้อำนวยการของโจทก์ (ปัจจุบัน คือ กรรมการผู้จัดการใหญ่) เพื่อทำการตัดสิน คำตัดสินของผู้อำนวยการของโจทก์ถือเป็นที่สุดและเป็นข้อสรุป เว้นเสียแต่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) จะร้องขอให้ส่งข้อพิพาทไปยังอนุญาโตตุลาการ เมื่อปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าปรับเกิดขึ้น จำเลยทั้งสามมีหนังสือโต้แย้งเพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตัดสินชี้ขาด ส. ได้เรียกพนักงานผู้เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมพิจารณาและต่อมามีคำสั่งให้ฝ่ายการคลังของโจทก์คืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้จำเลยทั้งสาม เห็นได้ว่า ส. มีคำตัดสินดังกล่าวในขอบอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาข้างต้น ส่วนคำตัดสินชี้ขาดจะถูกต้องหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่โจทก์อ้างว่า ส. มิได้นำข้อพิพาทและคำตัดสินดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการของโจทก์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจนั้น เรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะมีระเบียบของโจทก์กำหนดไว้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องสำคัญซึ่ง ส. ควรนำข้อพิพาทและคำตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เป็นเรื่องภายในของโจทก์ ไม่มีผลทำให้คำตัดสินชี้ขาดของ ส. ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าวเสียไปแต่อย่างใด หากคำตัดสินชี้ขาดของ ส. ไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ก็ต้องไปว่ากล่าวเอากับ ส. ซึ่งก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ส. ต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางพิพากษาให้ ส. ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งแก่โจทก์อยู่แล้ว โจทก์จะยกเอาเหตุที่ ส. ไม่นำคำตัดสินชี้ขาดไปให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ มาเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 822 บัญญัติไว้ เพราะทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสามได้สมคบกับ ส. กระทำการโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่: การประเมินค่าเสียหายจากเหตุสูญเสียการมองเห็นและผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
อ. ครูประจำชั้นของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนของจำเลยมีส่วนประมาทเลินเล่อในการดูแลความปลอดภัยของโจทก์โดยละเลยไม่รีบนำโจทก์ไปให้แพทย์ตรวจรักษาดวงตา หลังจากทราบว่าโจทก์ถูกเด็กชาย ณ. ใช้หนังยางยิงแท่งดินสอถูกดวงตาข้างซ้าย ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวน่าเชื่อว่ามีส่วนทำให้ดวงตาข้างซ้ายของโจทก์ติดเชื้อ โดย ว. จักษุแพทย์พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า หากดวงตาข้างซ้ายของโจทก์ไม่ติดเชื้อก็อาจจะไม่ถึงขนาดสูญเสียการมองเห็น เมื่อโจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า โจทก์ต้องสูญเสียการมองเห็นในเวลาต่อมาตามใบรับรองแพทย์ โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดในผลของความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420
โจทก์มิได้นำสืบในรายละเอียดของค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าเจ็บป่วยต้องทนทุกขเวทนาและกระทบกระเทือนจิตใจที่สูญเสียดวงตาข้างซ้าย กับค่าสูญเสียดวงตาในการทำมาหาเลี้ยงชีพตามที่โจทก์เรียกมาในคำฟ้องแต่ละจำนวน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายและมีค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับที่โจทก์เรียกมาในคำฟ้อง ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่เวลาที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันถัดจากวันฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลฎีกาจึงต้องพิพากษาเรื่องดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่โจทก์ขอมาในคำฟ้องฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินโดยมีเจตนาทุจริต ทำให้การซื้อขายเป็นโมฆะ ผู้ซื้อไม่มีสิทธิในทรัพย์สิน
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานใน ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 ในการรับซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ดังกล่าว
แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มิได้เขียนกรอกข้อความและมอบโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกับเอกสารอื่นๆ ให้จำเลยที่ 1 ไป เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารชุดดังกล่าวมอบให้จำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 4 เขียนกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจผิดจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้รับซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เพราะในการรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เมื่อคดีฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเอกสารปลอม จึงถือได้ว่านิติกรรมซื้อขายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นและไม่มีผลใช้บังคับ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงเป็นของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายที่ไม่ชัดเจนถึงอันตรายร้ายแรง ทำให้ความผิดเป็นเพียงลหุโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ (ค) ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ท่อนไม้และขวดขว้างใส่ผู้เสียหายทั้งสองโดยมีเจตนาทำร้าย จำเลยทั้งสองกับพวกลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองวิ่งหลบหนีได้ทัน ทำให้ท่อนไม้และขวดไม่ถูกร่างกายของผู้เสียหายทั้งสอง โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นข้อเท็จจริงว่าหากจำเลยทั้งสองขว้างปาท่อนไม้และขวดถูกผู้เสียหายทั้งสอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสองได้อย่างแน่นอน อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวมาด้วย ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นขนาดของขวดและไม้มาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ซึ่งหากขวดหรือท่อนไม้ขนาดไม่ใหญ่มากนักขว้างถูกผู้เสียหายทั้งสอง ไม่แน่นอนว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้หรือไม่ ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) ดังกล่าวนี้ จึงต้องแปลว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองอาจไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.อ. มาตรา 391 ประกอบมาตรา 80 และ 83 เท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 105

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอาญา ฆ่าผู้อื่น พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักกว่า พยานจำเลยไม่มีเหตุผล ฟังได้ว่าจำเลยมีความผิด
ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาและอยู่ในฐานะเป็นโจทก์คดีส่วนแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคดีนี้ศาลฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายจริงตามฟ้องโจทก์ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามมาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง แต่การพิจารณาคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องคดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไม่ใช้สิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ผู้ร้องฟังตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ดังนั้น คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจยกเอาคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้อีก เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาพิพากษาเช่นนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี, การแก้ไขคำฟ้อง, คำให้การไม่ชัดเจน, และผลของการมอบอำนาจในการฟ้องคดี
เดิมโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายที่แก้ไขใหม่จึงมีใจความว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์นับแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน ในวันนัดพิจารณาดังกล่าวจำเลยชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอใช้โอกาสยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การยกข้อต่อสู้ใหม่หักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่กล่าวมาในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 181 (2) แต่จำเลยไม่ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อหักล้างข้ออ้างใหม่ของโจทก์ และยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนแล้วเสร็จสิ้นกระแสความในวันนั้นเอง เท่ากับว่าจำเลยยังคงให้การยกข้อต่อสู้ว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมโดยอ้างเหตุแห่งการนั้นตามเดิมว่า จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องโจทก์ เพราะจำเลยไม่ทราบว่านับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 เรื่อยมา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้อย่างไร เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาเช่า ซึ่งเป็นข้อต่อสู้โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเดิม จึงเป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการนั้น ไม่ตรงกับคำฟ้องที่แก้ไขใหม่ ถือว่าคำให้การจำเลยในประเด็นข้อนี้ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า คำฟ้องในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและรับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจะมาฎีกาในประเด็นข้อนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4968/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดว่าผู้ตายเป็นคนร้าย ยิงป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ ศาลลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม.69, 62
จำเลยสำคัญผิดว่าผู้ตายกับพวกจะเข้ามาลักผลไม้ในไร่และผู้ตายเดินเข้ามาจะทำร้ายจำเลย แต่ผู้ตายไม่ได้มีอาวุธหรือพูดข่มขู่หรือมีกิริยาอาการว่าจะทำร้ายจำเลยโดยวิธีใดอันจะทำให้จำเลยได้รับอันตรายร้ายแรง หากจำเลยเพียงแต่ยิงขู่ก็น่าจะเป็นการเพียงพอที่จะทำให้ผู้ตายเกรงกลัวและหลบหนีไปได้เพราะผู้ตายมิใช่คนร้าย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงผู้ตายที่บริเวณหน้าท้อง 1 นัด จนผู้ตายล้มลงแล้วจำเลยยังใส่กระสุนปืนลูกซองเข้าไปใหม่แล้วยิงผู้ตายที่ศีรษะซ้ำอีก 1 นัด จนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำโดยป้องกันอันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตรา 69 และความสำคัญผิดของจำเลยเกิดขึ้นโดยความประมาท เนื่องจากมิได้ใช้ความระมัดระวังพิจารณาให้รอบคอบว่าผู้ตายกับพวกเป็นคนร้ายจริงไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 โดยผลของมาตรา 62 วรรคสองด้วย ซึ่งแม้จะแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง แต่เป็นการต่างกันระหว่างการกระทำความผิดโดยเจตนากับประมาท ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่าสัตว์ป่าโดยการเคาะไม้ไล่ต้อนเข้าสู่การดักซุ่ม เป็นความผิดฐานล่าสัตว์ป่าสำเร็จ
จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยการเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าเพื่อให้พวกของจำเลยที่ดักซุ่มรออยู่ใช้อาวุธปืนยิงล่าสัตว์ป่าดังกล่าวซึ่งดำรงชีพอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า "ล่า" หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิงฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้น การเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าจึงอยู่ในความหมายของคำว่า "ล่า" ตามคำนิยาม ดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของความผิดและเป็นความผิดสำเร็จฐานล่าสัตว์ป่าตามฟ้อง มิใช่เป็นความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าถือเป็นความผิดฐานล่าสัตว์ป่าสำเร็จรูปตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า "ล่า" หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้น การเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าจึงอยู่ในความหมายของคำว่า "ล่า" ตามคำนิยามดังกล่าว การที่จำเลยกับพวกร่วมกันเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อให้พวกของจำเลยที่ดักซุ่มรออยู่ใช้อาวุธปืนยิง จึงเป็นความผิดสำเร็จฐานล่าสัตว์ป่า มิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่า
of 47