คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประเสริฐ วิริยสิทธาวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 75 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความหมายของ 'เครื่องกระสุนปืน' ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พลุไม่เข้าข่ายความผิด
พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 4 (2) มิได้บัญญัติว่าเครื่องกระสุนปืนมีความหมายรวมถึงพลุแต่ประการใด ฉะนั้น พลุสดุดส่องแสงแบบเอ็ม .49 เอ 1 ของกลาง จึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จำเลยมีพลุดังกล่าวไว้ในครอบครองย่อมไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพสำหรับความผิดในข้อหานี้ก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้ว ก็ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ และต้องคืนพลุสดุดส่องแสงของกลางแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรม ลักทรัพย์บัตรอิเล็กทรอนิกส์และใช้เบิกถอนเงิน ศาลฎีกาพิพากษาตามความผิดหลายกรรม
โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแล้ว เป็นการต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพที่ไม่ชัดเจน และหน้าที่ของโจทก์ในการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกัน จะลงโทษจำเลยทั้งสามทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามที่ว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดฐานใด แม้จะปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสามให้การชั้นสอบสวนอย่างไรไม่เกี่ยวข้องกับคำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสาม กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นเป็นการให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ดังนี้ เมื่อคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามไม่สามารถรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะพิพากษาไปได้โดยไม่สืบพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสาม เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานศาลจึงลงโทษจำเลยทั้งสามไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับรองอุทธรณ์โดยอัยการและการพิจารณาโทษคดีเช็ค การแก้ไขโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ทวิ บัญญัติว่า "ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา... หรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป" โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับแนบหนังสือรับรองของอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 และหนังสือมอบหมายของอัยการสูงสุดให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงมีอำนาจรับรองอุทธรณ์แทนมาท้ายอุทธรณ์ และในตอนท้ายของอุทธรณ์มีข้อความระบุไว้ด้วยว่า คดีนี้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยได้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์แล้ว ตามหนังสือแนบท้ายอุทธรณ์นี้ แม้ในตอนท้ายของอุทธรณ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุว่าให้ถือว่าหนังสือรับรองเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ดังกล่าวก็ย่อมถือได้แล้วว่าหนังสือรับรองแนบท้ายอุทธรณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์และอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ตามความประสงค์ของกฎหมายแล้ว ทั้งมาตรา 22 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ก็มิได้บัญญัติว่าการรับรองอุทธรณ์จะต้องระบุวันเดือนปีที่ทำการรับรองและต้องมีรายละเอียดของเหตุผลที่สมควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีดังกล่าวแต่ประการใด ดังนั้น เมื่อข้อความในหนังสือรับรองแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารูปคดีนี้มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย จึงรับรองอุทธรณ์คดีนี้ หนังสือรับรองดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจค้นและจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่กระทบต่อการสอบสวนและฟ้องคดี
การตรวจค้นและการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน ไม่มีผลกระทบไปถึงการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์ ทั้งหามีผลทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจที่ชอบเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่ การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน: หลอกลวงคนหางานในคราวเดียวกัน
การกระทำความผิดฐานหลอกลวงคนหางานว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งมิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเดินทางไปที่บ้านของผู้เสียหายที่ 1 และพบกับผู้เสียหายทั้งสี่ โดยจำเลยกับพวกพูดชักชวนให้ผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานในโรงงานขนมปังที่ประเทศนิวซีแลนด์จะมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท จำเลยกับพวกได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ สามารถพาผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานดังกล่าวได้ โดยผู้เสียหายทั้งสี่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 150,000 บาท และผู้เสียหายทั้งสี่หลงเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง ซึ่งเป็นการหลอกลวงต่อผู้เสียหายทั้งสี่ในวันเวลาและสถานที่เดียวกันอันเป็นคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงผ่อนชำระหนี้เช็คไม่ถือเป็นการยอมความ สิทธิฟ้องอาญาไม่ระงับ
ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าโจทก์ร่วมตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขให้จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วนเสียก่อน โจทก์ร่วมจึงจะถอนคำร้องทุกข์ให้ แสดงว่าในระหว่างนั้นโจทก์ร่วมยังติดใจที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยอยู่ ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยดังกล่าวหามีผลเป็นการยอมความอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องคดีเช็ค: ไม่ต้องบรรยายรายละเอียดหนี้ซื้อขาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาสี่มุมเมือง-รังสิต ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 152,479.53 บาท มอบให้แก่บริษัท ห. ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบถ้วนเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว ไม่จำต้องบรรยายว่ามูลหนี้ซื้อขายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยได้มีหลักฐานการซื้อขายต่อกัน หรือผู้เสียหายได้ส่งสินค้าทุกรายการให้ครบถ้วนแล้ว และโจทก์ก็ไม่จำต้องแนบหลักฐานการซื้อขายมาพร้อมกับฟ้องดังที่จำเลยฎีกา เพราะเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: โต้เถียงข้อเท็จจริงยุติแล้ว & ฎีกาแก้โทษที่ศาลล่างใช้ดุลยพินิจแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาเท่านั้น โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง ที่จำเลยฎีกาว่าการตรวจพิสูจน์ผิดพลาด จึงเป็นการโต้เถียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วและเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา อันเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
of 8