คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประเสริฐ วิริยสิทธาวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 75 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน - ความผิดฐานฉ้อโกงและเช็ค - การกระทำกรรมเดียว - หลักการพิจารณา
หลักที่จะใช้พิจารณาว่าความผิดทั้งสองคดีเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม คือ การกระทำของจำเลยในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันหรือไม่ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ๆ ไป
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมในคดีนี้เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากด้วยการอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสดโดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าในคดีนี้ให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คจำนวน 11 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมและออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงตลิ่งชัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาอ้างว่า ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้จำเลยได้อ้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลแขวงตลิ่งชัน ทำให้ศาลแขวงตลิ่งชันพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เพราะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาบังคับแก่กรณีนี้นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมยังคลาดเคลื่อนอยู่เพราะบทบัญญัติในมาตรา 39 (4) แห่ง ป.วิ.อ. เป็นเรื่องฟ้องซ้ำ ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 173 วรรคสอง (1) แห่ง ป.วิ.พ. เป็นเรื่องฟ้องซ้อน เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อ ป.วิ.อ. ไม่ได้บัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนใน ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงและการออกเช็ค - กรรมเดียวหรือหลายกรรม? ศาลฎีกาชี้ขาดสิทธิฟ้องคดีอาญา
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมนั้น เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากโดยอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสด โดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมไประหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2543 และภายหลังออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน และในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นกรรมเดียวกันก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน โดยวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีนี้ หาได้วินิจฉัยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้จึงหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของฟ้องอาญา: สถานที่เกิดเหตุจากเอกสารอื่นประกอบได้ แม้ไม่ได้ระบุในฟ้องโดยตรง
แม้คำฟ้องของโจทก์จะมิได้ระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดไว้ก็ตามแต่โจทก์ได้กล่าวไว้ตอนท้ายของคำฟ้องด้วยว่า ระหว่างสอบสวนจำเลยทั้งสามถูกควบคุมตามหมายขังของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.137/2545 ซึ่งพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคำฟ้องโดยไม่ต้องคำนึงว่าคำร้องขอฝากขังจะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาหรือไม่เพราะความมุ่งหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เพียงต้องการให้จำเลยทั้งสามทราบรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุก็มิใช่องค์ประกอบความผิดอันจะต้องระบุให้ชัดแจ้งไว้ในคำฟ้องโดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าตามคำร้องขอฝากขังในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.137/2545 ซึ่งอยู่ตอนหน้าของสำนวนนี้ได้มีรายละเอียดระบุสถานที่เกิดเหตุว่าเหตุเกิดที่บ้านเลขที่ ๕๐ ถนนภูมิณรงค์ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลาและจำเลยทั้งสามได้ลงลายมือชื่อรับสำเนาคำร้องไว้ที่ด้านหลังคำร้องขอฝากขังดังกล่าวแล้ว ดังนี้จำเลยทั้งสองย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าเหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่ใดและสามารถนำสืบต่อสู้ได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7693/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการจ้างงานและซื้อขาย: การนับระยะเวลาและผลกระทบต่อการฟ้องร้อง
การนับระยะเวลาไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันสุดท้ายของกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2541 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ครั้งแรกสิทธิเรียกร้องทั้งหมดของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7693/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่โต้แย้งประเด็นในคำแก้อุทธรณ์ ทำให้ประเด็นนั้นยุติ และการนับอายุความตามกำหนดเวลา
คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ทำการงานและซื้อสินค้าจากโจทก์ ซึ่งเป็นประเด็นที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากเห็นว่าคดีขาดอายุความโดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความ หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อใด อย่างไร จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ด้วย แต่ปรากฏว่าคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คงกล่าวแก้เฉพาะแต่ประเด็นเรื่องอายุความที่โจทก์อุทธรณ์เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นฎีกาอีกไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6982/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยไม่มาศาลตามนัดผ่อนชำระหนี้และมีเหตุอันควรสงสัยว่าหลบหนี
ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย จำเลยขอถอนคำให้การเดินแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และตกลงกับผู้เสียหายขอผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2548 ศาลชั้นต้นจึงนัดฟังคำพิพากษาหรือฟังผลการชำระหนี้ในวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ซึ่งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดโดยระบุว่า นัดฟังคำพิพากษาหรือฟังผลการชำระหนี้ย่อมมีนัยว่าโจทก์จำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้รายเดือนภายในวันที่นัดฟังผลการชำระหนี้นั้น หรือภายในวันที่ 25 ของเดือนซึ่งหากจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงกับผู้เสียหายไว้ ศาลก็จะเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปเพื่อให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไปให้ครบถ้วน แต่ถ้าหากจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลงที่ได้แถลงไว้และผู้เสียหายไม่ประสงค์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไป ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจอ่านคำพิพากษาไปได้ วันดังกล่าวจึงเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ซึ่งจำเลยได้ทราบวันนัดโดยชอบแล้ว เมื่อปรากฏว่าในวันนัดจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายอันเป็นการผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับผู้เสียหาย และผู้เสียหายแถลงว่าไม่ประสงค์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไปหากในวันดังกล่าวจำเลยมาศาล ศาลย่อมมีคำพิพากษาไปได้ในวันเดียวกันนั้น แต่จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ตามข้อตกลงได้ และกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยหลบหนี หรือจงใจไม่มาฟังคำพิพากษา ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นให้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษากับให้นัดฟังคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 10 กันยายน 2548 เมื่อถึงวันนัดซึ่งพ้น 1 เดือน นับแต่วันออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นย่อมอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ จึงเป็นการอ่านคำพิพากษาโดยชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าวแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องร่วมฐานความผิดได้ หากเป็นการกระทำต่างกัน แม้ข้อเท็จจริงบางส่วนจะเชื่อมโยงกัน
ความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ เป็นความผิดต่างฐานกันสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ แม้โจทก์บรรยายฟ้องตอนหลังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดว่าสามารถหางานและจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศได้ อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ด คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้เงินเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีผลเพียงทำให้ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ แต่ฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันจนไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นความผิดอีกฐานหนึ่งต่างหากแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6888/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วันออกเช็คคือวันที่ระบุในเช็ค แม้จะมอบเช็คพร้อมสัญญาเงินกู้ภายหลัง การออกเช็คโดยไม่มีเงินรองรับเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็คฯ นั้น วันออกเช็คย่อมหมายถึงวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหรือมอบเช็คให้แก่ผู้เสียหายหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า หลังจากที่ผู้เสียหายได้รับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและเช็คพิพาทแล้วผู้เสียหายก็มอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยในวันเดียวกันนั้น โดยปรากฏว่าวันสั่งจ่ายเช็คที่ลงในเช็คพิพาทตรงกับวันครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แสดงว่าขณะที่เช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือเป็นวันออกเช็คนั้น มูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวย่อมสมบูรณ์และมีหลักฐานเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6727/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำคุก และการอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทราบอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบแต่ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับสรุปได้ว่า ขอให้งดโทษจำคุกและลงโทษสถานเบาโดยให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย และไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด
เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้จำเลยยื่นคำร้องมีข้อความบางส่วนเป็นทำนองว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ในคำร้องดังกล่าวก็ยอมรับว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาโดยงดโทษจำคุกและรอการลงโทษจำเลย คำร้องของจำเลยจึงเป็นเพียงคำร้องที่ยื่นประกอบคำให้การรับเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษจำเลยเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันมาในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยในทำนองว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อดังกล่าวนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา: ตำแหน่งพนักงานอัยการและลายมือชื่อโจทก์
ฟ้องโจทก์หน้าแรกได้ระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ไว้ชัดเจนว่า ข้าพเจ้า พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรี โจทก์ และโจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะโจทก์ท้ายฟ้องแล้ว จึงถือว่าฟ้องโจทก์มีตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์และลายมือชื่อโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (3) (7) โดยไม่จำต้องระบุว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นของบุคคลใดและระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในช่องที่โจทก์จะต้องลงลายมือชื่ออีก ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 8