คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธนัท วิรบุตร์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 135 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17235/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" รวมถึงข้าราชการด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย หรือเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 148 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และความผิดตามบทมาตราทั้งสามดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวด 2 ของ ป.อ. ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งมาตรา 19 (3) 43 (4) และมาตรา 88 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 ผู้ถูกกล่าวหายังหมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวด้วย โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แทนการให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ดังเช่นคดีอาญาอื่นๆ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามข้อหาดังกล่าว
แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยมาตรา 19 (4) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งไม่ใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการด้วย และตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มาตรา 17 (4) บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลเกี่ยวกับการกระทำทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผลให้การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองหรือสูงกว่าผู้อำนวยการกอง ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม แต่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน รวมตลอดถึงอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นฟ้องคดี ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กรณีจึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11233/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายงานการสืบเสาะฯ รับฟังได้หากจำเลยไม่คัดค้าน การลงโทษจำคุกเหมาะสมกับพฤติการณ์ร้ายแรง
ศาลชั้นต้นแจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทราบ จำเลยมิได้โต้แย้ง ดังนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจที่จะหยิบยกข้อเท็จจริงที่ได้มาจากรายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวมาประกอบดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ ข้อเท็จจริงจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจึงหาได้เป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏนอกสำนวน และไม่ใช่พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่น ๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลยเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้ที่ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8191/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินค้าโดยไม่มีใบสั่งซื้อตามเงื่อนไข จำเลยไม่ต้องรับผิด
ในการซื้อขายที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันมา ส. พนักงานของจำเลยซึ่งได้รับอนุมัติจากจำเลยเป็นการภายในจะเป็นผู้ติดต่อสั่งซื้อกับโจทก์โดยต้องส่งสำเนาใบสั่งซื้อที่ได้รับอนุมัติจาก ศ. กรรมการบริษัทจำเลย ซึ่งลงลายมือชื่อผู้อนุมัติในใบสั่งซื้อไปให้โจทก์ทางโทรสาร และโจทก์จะต้องนำสำเนาใบสั่งซื้อดังกล่าวไปแสดงเพื่อขอรับต้นฉบับใบสั่งซื้อจาก ส. เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากจำเลย เห็นได้ว่าจำเลยถือการส่งสำเนาใบสั่งซื้อทางโทรสารเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เพื่อป้องกันมิให้พนักงานของจำเลยซึ่งทำหน้าที่จัดซื้อกระทำการทุจริตแอบอ้างสั่งซื้อสินค้าโดยไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลย การที่ ส. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ทางโทรศัพท์โดยไม่ได้ส่งสำเนาใบสั่งซื้อทางโทรสารไปยังโจทก์ซึ่งผิดเงื่อนไขทางปฏิบัติในการซื้อขายดังกล่าว จะถือว่าจำเลยเชิด ส. เป็นตัวแทนหรือยอมให้ ส. เชิดตนเองเป็นตัวแทนในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ด้วยวิธีการดังกล่าวหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ส่งสินค้าให้แก่ ส. ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการสั่งซื้อสินค้าของ ส. ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการสั่งสินค้าของโจทก์และ ส. นำสินค้าที่ได้รับไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีหลังศาลสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แม้หนี้เกิดระหว่างฟื้นฟูกิจการ
แม้มูลแห่งหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานของผู้ร้องเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจนถึงก่อนศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและมิได้กำหนดไว้ในแผน ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขออนุญาตฟ้องลูกหนี้ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้พื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ย่อมมีผลให้การถูกจำกัดสิทธิในการที่ผู้ร้องจะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) สิ้นไป ตามมาตรา 90/12 วรรคแรก ตอนต้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10163/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจโจทก์ในการบังคับชดใช้ค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่ และข้อยกเว้น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
การที่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 เป็นการดำเนินการในฐานะที่โจทก์เป็นองค์กรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 4 ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้จำเลยชำระเงินตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7898/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานยืนยันจำเลยเป็นผู้ลงมือยิงผู้ตาย ศาลยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ในการไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งคู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคแรก ก็ตาม แต่การที่จะขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตามวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความ หรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น
คดีปรากฏตามสำนวนว่าศาลชั้นต้นเบิกจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งจะครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นฎีกาในวันที่ 23 ธันวาคม 2548 และศาลชั้นต้นนัดฝ่ายโจทก์มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 วันที่ 19 ธันวาคม 2548 โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 และทนายโจทก์ร่วมทั้งสองทำคำแก้ฎีกามายื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 ดังนี้ ทนายโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งปรากฏว่าได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ด้วยย่อมเห็นได้จากสำเนาฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นฎีกาลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟังเป็นเวลาถึง 2 เดือน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยจะต้องยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่จำเลยได้ฟังคำพิพากษา ย่อมทราบถึงการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยโดยไม่ได้ให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านคำร้องของจำเลยตั้งแต่ได้รับสำเนาฎีกาจากโจทก์ร่วมทั้งสองก่อนจะยื่นคำแก้ฎีกาในวันที่ 7 มีนาคม 2549 แล้ว ซึ่งถือว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาตามคำร้องนับแต่นั้นแล้ว แต่โจทก์ร่วมทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องอย่างช้าภายใน 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ โดยโจทก์ร่วมทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 คำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองจึงยื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโดยอ้างว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย อันเป็นการฎีกาว่าจำเลยไม่ได้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนตามฟ้องอันเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันไปด้วยในตัว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืน และพาอาวุธปืนด้วย ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน - ความผิดฐานฉ้อโกงและเช็ค - การกระทำกรรมเดียว - หลักการพิจารณา
หลักที่จะใช้พิจารณาว่าความผิดทั้งสองคดีเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม คือ การกระทำของจำเลยในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันหรือไม่ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ๆ ไป
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมในคดีนี้เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากด้วยการอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสดโดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าในคดีนี้ให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คจำนวน 11 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมและออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงตลิ่งชัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาอ้างว่า ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้จำเลยได้อ้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลแขวงตลิ่งชัน ทำให้ศาลแขวงตลิ่งชันพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เพราะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาบังคับแก่กรณีนี้นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมยังคลาดเคลื่อนอยู่เพราะบทบัญญัติในมาตรา 39 (4) แห่ง ป.วิ.อ. เป็นเรื่องฟ้องซ้ำ ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 173 วรรคสอง (1) แห่ง ป.วิ.พ. เป็นเรื่องฟ้องซ้อน เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อ ป.วิ.อ. ไม่ได้บัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนใน ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงและการออกเช็ค - กรรมเดียวหรือหลายกรรม? ศาลฎีกาชี้ขาดสิทธิฟ้องคดีอาญา
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมนั้น เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากโดยอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสด โดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมไประหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2543 และภายหลังออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน และในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นกรรมเดียวกันก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน โดยวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีนี้ หาได้วินิจฉัยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้จึงหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2805/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติด: ศาลแก้โทษจากตัวการร่วมเป็นผู้สนับสนุน
จำเลยที่ 2 ติดต่อแจ้งจำเลยที่ 1 ทางโทรศัพท์ว่ามีผู้ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนและได้รับเงินจากสายลับผู้ล่อซื้อแล้วนำเงินทั้งหมดไปฝากจำเลยที่ 3 เพื่อให้มอบแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 หรือมีส่วนร่วมในการตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยที่ 1 กับสายลับอย่างไร ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ช่วยติดต่อแจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่สายลับที่ไปติดต่อซื้อกับจำเลยที่ 2 และรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไว้จากสายลับเพื่อมอบแก่จำเลยที่ 1 เป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและทางพิจารณาได้ความว่าเป็นเพียงผู้สนับสนุน ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญทั้งจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดต่อความเสียหายจากเช็คปลอม หากพนักงานประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบ
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นลายมือปลอม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเช็คพิพาทเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่โจทก์ได้ เว้นแต่โจทก์จะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008
การที่ อ. พนักงานจำเลยรับรองให้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็คเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอมเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่งตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในหนี้ที่เกิดจากการละเมิดแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223, 438 และ 442 การที่ ธ. พนักงานโจทก์ ทราบว่ามีคนร้ายงัดลิ้นชักโต๊ะทำงานที่มีสมุดเช็คอยู่ในลิ้นชักแต่มิได้ตรวจสอบสมุดเช็คที่ตนมีหน้าที่เก็บรักษา นับว่า ธ. มิได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาเช็คเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถระงับความเสียหายได้ทันที เป็นเหตุให้ผู้ที่ได้เช็คพิพาทที่ถูกลักไปสามารถนำเช็คพิพาทซึ่งมีการปลอมลายมือชื่อและประทับตราปลอมไปเบิกเงินจากจำเลยได้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลย เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท (ต้นเงินตามเช็ค 200,000 บาท)
of 14