คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ณรงค์พล ทองจีน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 112 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีล้มละลายต้องพิสูจน์ราคาทรัพย์หลักประกันและหนี้สินของจำเลยให้ชัดเจนตามกฎหมาย
การฟ้องคดีส่วนจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 10 โจทก์กล่าวในฟ้องอ้างราคาทรัพย์หลักประกันซึ่งมีการตีราคาโดยเจ้าหนี้เดิมก่อนฟ้องคดีล้มละลายประมาณ 7 ปี เป็นเงิน 1,472,000 บาท ขณะเดียวกันก็ได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์หลักประกันดังกล่าวเมื่อโจทก์นำยึดห่างจากวันฟ้องคดีล้มละลายคดีนี้ประมาณ 4 เดือน เป็นเงิน 1,950,750 บาท โดยโจทก์รับรองว่าถูกต้องและเห็นชอบด้วย จึงน่าเชื่อว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นราคาทรัพย์หลักประกันขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย และเมื่อนำราคาหลักประกันดังกล่าวมาหักกับหนี้โจทก์ที่คงค้าง 2,706,332.85 บาท จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ถึง 1,000,000 บาท โจทก์ไม่อาจนำมูลหนี้ส่วนนี้มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายได้
การนำสืบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น โจทก์อาจจะนำสืบถึงทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 2 ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรืออาจจะนำสืบถึงข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 อันเป็นข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้การพิจารณาถึงฐานะหรือข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานนั้นจะต้องปรากฏว่าเป็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย คดีนี้โจทก์นำสืบถึงมูลหนี้ของโจทก์และการดำเนินการของโจทก์เท่านั้น มิได้แสดงให้เห็นถึงทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 2 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนที่โจทก์อ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) นั้น การทวงถามให้ชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นการทวงถามในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีนี้มีการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงครั้งเดียว การทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนองในมูลหนี้ก่อนที่จะฟ้องคดีแพ่งหาใช่เป็นการทวงถามให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้ว ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้นั้น โจทก์ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายแล้ว จึงหาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในเวลาเริ่มต้นการฟ้องคดีล้มละลายไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังมิได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะสัญญาซื้อขายที่ดิน: ความสำคัญผิดในสาระสำคัญ, การโอนที่ดิน, และการคืนเงินมัดจำ
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แล้ว คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 2 ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์รวม 6 แปลง โดยที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินจำนวน 2 แปลง คือที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 749 และ 750 ส่วนที่ดินอีก 4 แปลง เป็นที่ดินภายในเขตการนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยองที่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน เมื่อพิจารณาตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 2 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "และผู้จะซื้อจะโอนในนามผู้หนึ่งผู้ใด ผู้จะขายไม่ขัดข้อง" แสดงกับเจตนารมณ์ของคู่สัญญาว่า ในระหว่างที่สัญญาจะซื้อจะขายมีผลบังคับ โจทก์อาจไปติดต่อหาผู้มาซื้อที่ดินโดยจะโอนที่ดินผ่านจากจำเลยที่ 1 ไปยังผู้ที่จะซื้อที่ดินต่อจากโจทก์ทันทีโดยไม่ผ่านโจทก์ โจทก์จึงต้องการที่ดินที่สามารถจะโอนไปยังผู้อื่นได้โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อกำหนดห้ามโอนเป็นเวลา 5 ปี เมื่อพิจารณาข้อสัญญาดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานของโจทก์แล้วเชื่อว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โจทก์เองทราบเพียงว่าที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินของการนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยองซึ่งสามารถขอออกโฉนดที่ดินได้ การที่โจทก์มาทราบภายหลังว่าที่ดินแปลงที่จะซื้อจะขายจำนวน 4 แปลง มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ผู้จะซื้อแต่อย่างใด และนับเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ และตามพฤติการณ์ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้การซื้อขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 749 และ 750 ซึ่งสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้สมบูรณ์แยกต่างหากออกจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5725/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้จากการกู้ยืมเงินธนาคาร โดยเริ่มนับแต่วันที่ผิดสัญญาชำระหนี้ตามข้อตกลง
ผู้กู้ทำสัญญากู้เงินสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วม และตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้กู้ตกลงให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนและเงินพึงได้อื่นได้อื่นใดที่ผู้กู้พึงได้จากนายจ้างเป็นรายเดือนให้ผู้กู้โดยวิธีนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้กู้ที่เปิดไว้ ณ สำนักงานธนาคารผู้ให้กู้เป็นประจำทุกเดือนติดต่อกันตลอดไป จากข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่านิติสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กู้กับโจทก์ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏในลักษณะนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 หลังจากนั้นผู้กู้หรือหน่วยงานของผู้กู้ก็มิได้นำเงินมาชำระหนี้โจทก์อีกเลย จึงถือว่าเป็นการประพฤติผิดสัญญา และเมื่อตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดคืนได้ทันทีถือได้ว่าระยะเวลา ซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นั้นเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป หาใช่นับแต่วันครบกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 ที่โจทก์บอกเลิกสัญญาดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 จึงเกิน 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย พิจารณา ณ วันยื่นฟ้อง แม้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดภายหลัง
การที่จะพิจารณาว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายต่อศาล เมื่อปรากฏว่าก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีแพ่งโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดได้แล้วเช่นนี้ เมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเนื่องจากการฟ้องบังคับจำนองแล้ว จำนองย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนั้น ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่จำต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 10 แต่อย่างใด แม้ต่อมาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว ก็หาทำให้โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลหลังยกเลิกฟื้นฟูกิจการ: การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ยังคงมีผลผูกพัน
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/75 แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการทำให้ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังคงต้องผูกพันรับผิดชำระหนี้ตามคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการดังนั้น อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวน และมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงยังมิได้สิ้นสุดลงไป ทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งเป็นประการใดแล้วเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตามมาตรา 90/32 วรรคสาม เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วศาลล้มละลายกลางก็ยังต้องพิจารณาคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เกี่ยวกับสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันหนี้หลังยกเลิกฟื้นฟูกิจการ: ศาลต้องพิจารณาคำร้องคัดค้านคำขอรับชำระหนี้
แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการทำให้ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังคงต้องผูกพันรับผิดชำระหนี้ตามคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวนและมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงยังมิได้สิ้นสุดลงไป และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งเป็นประการใดแล้วเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 วรรคสาม เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ศาลล้มละลายกลางจึงยังต้องพิจารณาคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เกี่ยวกับสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4185/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท: การโอนมรดกซับซ้อน และสิทธิของทายาทหลายคน ศาลฎีกาชี้ขาดสิทธิส่วนแบ่ง
ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) บัญญัติว่า "ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าควรได้รับแต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้" เนื่องจากยังมีทายาทอื่นของ อ. และ บ. ที่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแต่ยังมิได้เข้ามาในคดี ดังนั้น ศาลจะกำหนดแบ่งส่วนเกี่ยวกับที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ยังไม่ได้ ชอบที่จะว่ากล่าวกันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยขับรถประมาทเฉี่ยวชนเจ้าพนักงาน แต่เจตนาไม่ใช่ฆ่า เป็นความผิดพยายามทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่พยายามฆ่า
ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า รถที่จำเลยที่ 1 ขับอาจเฉี่ยวชนผู้เสียหายให้ได้รับอันตรายแก่กายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ ไม่เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่
คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อ แม้จะระบุคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อก็เป็นคำขอที่ไม่มีข้อเท็จจริงในคำฟ้องเพราะคำฟ้องมิได้บรรยายไว้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อข้อความที่โจทก์ระบุมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องอื่นที่มิได้ระบุว่าขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนดังกล่าวเป็นเพียงคำอธิบายและเหตุผลของโจทก์ในการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายมาในคำฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์จะขอให้ถือเอาคำขอท้ายฟ้องซึ่งมีข้อเท็จจริงนอกเหนือไปกว่าที่กล่าวไว้ในฟ้องไปนับโทษติดต่อกันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดกต้องมีเหตุขัดข้องตามกฎหมาย การจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วไม่อาจตั้งผู้จัดการมรดกเพิ่มเติมได้
การร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้นั้นต้องมีเหตุจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (1) ถึง (3) เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอื่นนอกจากที่ดินพิพาทซึ่งหลังจากศาลชั้นต้นตั้ง ม. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ม. ได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วก่อนที่ ม. จะถึงแก่ความตายโดยจดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในโฉนดที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ม. ในฐานะทายาทกรณีจึงไม่จำเป็นต้องตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีก ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าการจัดการมรดกของ ม. ดังกล่าวไม่ถูกต้องนั้นเป็นข้อพิพาทในเรื่องของส่วนแบ่งมรดกซึ่งผู้ร้องชอบที่จะเสนอคดีเรียกร้องต่อกันโดยตรงอย่างคดีมีข้อพิพาทต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพข้อหา รับของโจร: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการรับสารภาพมีผลผูกพัน และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษได้
คำให้การของจำเลยที่ยื่นต่อศาลตอนต้นมีความว่า "จำเลยขอให้การรับสารภาพในข้อหารับของโจร แต่ขอให้การปฏิเสธข้อหาลักทรัพย์..." และในตอนท้ายมีความว่า "ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาโดยรอการลงโทษ..." อันเป็นการแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าประสงค์จะให้การรับสารภาพข้อหารับของโจร ส่วนข้อความอื่นๆ นั้นเป็นการให้ข้อเท็จจริงเพื่อขอให้ศาลลงโทษสถานเบาเท่านั้น และศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า "จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและขอให้การใหม่รับสารภาพฐานรับของโจร รายละเอียดปรากฏตามคำร้องฉบับลงวันที่วันนี้" แสดงว่าศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วเห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ซึ่งโจทก์ก็ได้แถลงว่า "เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่ติดใจสืบพยานโจทก์อีกต่อไป" อันเป็นการยืนยันตรงกันว่า จำเลย ศาลชั้นต้น และโจทก์เข้าใจตรงกันว่าจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรแล้ว จึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้
of 12