คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เพลินจิต ตั้งพูลสกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 57 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5661/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนรับบุตรหลังเสียชีวิต: สิทธิทางศาลและการคุ้มครองประโยชน์เด็ก
การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่บิดาที่มิได้สมรสกับมารดากระทำได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1548 วรรคสาม และในกรณีที่เด็กยังเป็นผู้เยาว์ เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งต่อนายทะเบียนว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1549 วรรคสอง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองประโยชน์และความผาสุกของบุตรโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรตั้งแต่วันที่เด็กเกิด กรณีเช่นนี้แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดระยะเวลาในการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกรณีของการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสามและวรรคสี่ และแม้เด็กหรือบิดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว ก็ให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานของเด็กหรือเด็กที่จะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรับมรดกระหว่างกันอันมีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 1556 วรรคสี่ และมาตรา 1558 สำหรับคดีนี้เป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิโดยชัดแจ้งว่าให้ผู้อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กนำคดีไปสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่เด็กถึงแก่ความตายแล้วได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย โดยมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1552 ย่อมเป็นข้อแสดงว่าความมีอยู่ซึ่งสภาพบุคคลของมารดาหรือไม่ มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ ฉะนั้น ความในมาตรา 1548 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็ก...ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" คำว่า "ไม่อาจให้ความยินยอม" ย่อมหมายถึงกรณีที่เด็กไม่อยู่ในภาวะที่จะให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังไร้เดียงสา หรือเป็นคนวิกลจริต เป็นต้น หาใช่เป็นกรณีที่เด็กสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่ เพราะการพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรโดยอาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมกระทำได้ยาก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กเยาวชนแทนการดำเนินคดีอาญา
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 63 (กฎหมายเดิม) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) บัญญัติให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชน อันมีลักษณะเป็นการใช้กระบวนยุติธรรมเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนยุติธรรมได้ ซึ่งตามมาตรา 63 (กฎหมายเดิม) ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล แต่ตามมาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับแผน ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่มีสิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยกับแผน พนักงานอัยการยังไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องจะต้องให้ศาลพิจารณาก่อนตามมาตรา 86 ถ้าศาลเห็นชอบกับแผนและมีการปฏิบัติตามแผนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 88 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) โดยมาตรา 86 ใช้ถ้อยคำว่า "ให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร" ดังนี้บ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวว่า ให้ศาลตรวจสอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอีกชั้นหนึ่งก่อนและให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านหรือพนักงานอัยการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ และสิทธิในการอุทธรณ์
พ. ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ศาลชั้นต้นตรวจสอบการจับแล้ว มีคำสั่งว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดจริง การจับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้คัดค้านสืบเสาะข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้น ต่อมาผู้คัดค้านรายงานว่า สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรีเห็นว่า ผู้ต้องหาอาจกลับตนเป็นพลเมืองดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง พนักงานอัยการเห็นชอบให้มีการดำเนินการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 86 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 โดยส่งแผนให้ศาลชั้นต้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน รัฐเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจให้ความยินยอมได้ และไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 86 ได้ จึงไม่อนุญาต ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 63 (กฎหมายเดิม) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) บัญญัติเป็นมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชน อันมีลักษณะเป็นการใช้กระบวนยุติธรรมเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตามมาตรา 63 (กฎหมายเดิม) ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล แต่ตามมาตรา 86 (กฎหมายใหม่) ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเห็นชอบกับแผนหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับแผน ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่มีสิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบกับแผน พนักงานอัยการยังไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง ต้องให้ศาลพิจารณาก่อน ถ้าศาลเห็นชอบกับแผน และมีการปฏิบัติตามแผนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 88 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) นอกจากนี้ตามมาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) ใช้ถ้อยคำว่า "ให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร" บ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตรานี้ว่า ให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอีกชั้นหนึ่งก่อนและให้สั่งตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น การที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า มาตรา 86 เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสถานพินิจและพนักงานอัยการในการพิจารณาแผนบำบัดฟื้นฟู โดยให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือพนักงานอัยการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กเยาวชนแทนการดำเนินคดีอาญา
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) บัญญัติให้ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชน อันมีลักษณะเป็นการใช้กระบวนการเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมปกติได้เช่นเดียวกับกฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 63 ซึ่งมาตรา 63 ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล แต่ตามมาตรา 86 ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับแผนผู้อำนวยการสถานพินิจไม่มีสิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยกับแผน พนักงานอัยการยังไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง จะต้องให้ศาลพิจารณาก่อน ถ้าศาลเห็นชอบกับแผนและมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 88 โดยมาตรา 86 วรรคสาม ใช้ถ้อยคำว่า "ให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร" จึงบ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวว่า ให้ศาลตรวจสอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอีกชั้นหนึ่งก่อนและให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่ผู้คัดค้านเสนอต่อศาลชั้นต้นว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ รัฐเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจให้ความยินยอมได้ และไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 86 ได้ จึงเป็นการสั่งตามที่เห็นสมควรดังกล่าว ผู้คัดค้านหรือพนักงานอัยการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่อุทธรณ์ว่าการพิจารณาแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 86 เป็นอำนาจของผู้คัดค้านและพนักงานอัยการเท่านั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20504/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีพยายามฆ่า: ต้องระบุเจตนาที่ชัดเจน หากเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสาระสำคัญในชั้นฎีกา ศาลไม่รับวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งสองว่ากระทำผิดด้วยเจตนาโดยประสงค์ต่อผลให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายจากการถูกฟันด้วยมีดแตกต่างไปจากที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดด้วยเจตนาโดยเล็งเห็นผลว่าผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจซึ่งเป็นสาระสำคัญ หาใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นรายละเอียดที่โจทก์ไม่จำต้องบรรยายในคำฟ้องไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13389/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอในการพิสูจน์ความผิดฐานพยายามฆ่าและมีอาวุธปืน ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัย
การที่ ช. เคยถูกดำเนินคดีว่าร่วมกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้พยายามฆ่าผู้เสียหาย แม้ขณะเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้อง ช. แล้วก็ตาม คำเบิกความของ ช. ก็ยังมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนผู้เสียหายโจทก์ไม่สามารถนำมาเบิกความ คงอ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ครั้งแรกให้การว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 ต่อมาให้การอีกครั้งว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำหน้าคนร้ายสับสน ทำให้การที่ผู้เสียหายยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนัก ส่วน ส. ซึ่งอยู่ร่วมกับผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุก็เบิกความยืนยันเฉพาะว่าเห็นจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ ช. ขับมาเท่านั้น ส่วนคนร้ายคนอื่นพยานไม่เห็นหน้าและมองไม่ทัน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10511/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แทนโจทก์โดยไม่มีอำนาจ และอุทธรณ์ประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาย่อมต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับข้ออ้างตามฟ้องแล้ว ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ในคำให้การมิได้เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ กลับเป็นข้อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์และเป็นปฏิปักษ์กับคำให้การของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ต้องยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีต่างหาก เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ คำให้การของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยอ้างเหตุตามคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แทนโจทก์โดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบเพราะมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรแก่การได้รับวินิจฉัย ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10507/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิ้นสุดความเป็นผู้อนุบาลเมื่อผู้ถูกอนุบาลถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดี
เมื่อ ส. คนไร้ความสามารถถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถย่อมสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 ผู้อนุบาลจะต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ทายาทของ ส. และทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในหกเดือนและถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี แต่ถ้าผู้อนุบาลหรือทายาทร้องขอศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้ทั้งนี้ตามมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายกองมรดกของ ส. ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่งและมาตรา 1600 ดังนั้น หากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อนุบาลก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ส. อย่างไร ความเสียหายที่ ส. ได้รับย่อมเป็นมรดกของ ส. ที่ตกได้แก่ทายาทที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้อนุบาล เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าสมควรถอนผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้อนุบาลหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นโดยปริยาย หาผูกพันว่าผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติผิดหน้าที่ไม่
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสามและมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8049/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาการยื่นคำให้การหลังศาลสั่งรอการพิจารณาคดีในคดีเยาวชนและครอบครัว
เจ้าหน้าที่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2555 การส่งหมายมีผลเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถือว่าได้รับหมาย
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนให้ประธานศาลฎีกาชี้ขาดและให้รอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่มีบทบัญญัตินิยามคำว่า "การพิจารณา" และ "กระบวนพิจารณา" จึงต้องนำบทนิยามตาม มาตรา 1 (4) และ 1 (7) แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลม ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ดังนั้น การยื่นคำให้การของจำเลยซึ่งเป็น "กระบวนพิจารณา" อย่างหนึ่ง จึงจำต้องรอไว้ก่อน มีผลให้ระยะเวลานับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งของประธานศาลฎีกาดังกล่าวย่อมไม่นับรวมในกำหนดเวลาที่จะต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าจากความผิดของคู่สมรส การเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพ และการพิจารณาความสามารถของผู้ให้/ผู้รับ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า "ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้..." คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นเหตุหย่าของจำเลยหลายประการ ได้แก่ การด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม การให้การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา การทำร้ายร่างกาย และการไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลยทั้งสิ้น นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องต่อไปว่า ก่อนสมรสกับจำเลย โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากสามีคนเดิมเสียชีวิตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 1,032.66 ดอลล่าสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาท ในฐานะเป็นหม้าย จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ เมื่อโจทก์สมรสกับจำเลย โจทก์จึงหมดสิทธิรับเงินดังกล่าว และขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าขาดรายได้จากจำเลย เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้แสดงว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และต้องยากจนลง แม้โจทก์ใช้ถ้อยคำว่า "จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู" แต่มีคำว่า "ค่าขาดรายได้" เมื่อพิจารณาถึงคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้โจทก์ได้รับนับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต ย่อมแสดงถึงเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้เงินค่าเลี้ยงชีพ อันเป็นสิทธิที่ได้รับเมื่อหย่าแล้ว คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งครบองค์ประกอบดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ข้างต้นแล้ว เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันด้วยเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลย และปรากฏว่าโจทก์ยากจนลง จึงชอบที่จะให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้
of 6