คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นันทชัย เพียรสนอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 120 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่จัดการทรัพย์สินเบียดบังเงินบริจาค – อำนาจฟ้อง – เหตุบรรเทาโทษ
แม้จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วมและได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเจ้าอาวาสไม่อยู่ในความหมายดังกล่าว และในปัจจุบันวัดจัดตั้งขึ้นโดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา 37 เฉพาะในการบำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งเท่านั้น และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น บุคคลอื่นๆ คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตาม ป.วิ.อ. ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) กำหนดให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 233 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ แต่การที่จำเลยตอบคำถามก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยย่อมไม่อาจคาดหมายได้ว่าคำเบิกความของตนจะใช้รับฟังลงโทษตนเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นโทษแก่จำเลย จึงไม่อาจมีผลย้อนหลัง และถือไม่ได้ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในมาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ข้อ 5 บัญญัติให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาท ขึ้นไปให้เก็บรักษาโดยฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้ฝากในนามของวัด ดังนั้น การฝากเงินของวัดคือโจทก์ร่วมต้องฝากในนามของโจทก์ร่วมเท่านั้น หากมิได้ดำเนินการดังกล่าวโดยเจตนาก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 ได้ ส่วนการจัดการทรัพย์สินของวัดก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นสำคัญ แต่การนำเงินค่าผาติกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอย่างหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ร่วม โดยมิได้เบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เงินผิดไปจากมติมหาเถรสมาคม หรือเป็นการใช้เงินผิดระเบียบเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท: ปลอมแปลงเอกสารเพื่อลักทรัพย์ ศาลฎีกาแก้ไขโทษและวินิจฉัยการรอการลงโทษ
จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกทำปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมแล้วนำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปให้ อ. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน และไปแสดงแก่พนักงานบริษัท ท. เพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตของโจทก์ร่วม เมื่อบริษัท ท. ออกเช็คจำนวน 33,067 บาท เพื่อเป็นค่าเวนคืนให้แก่จำเลยที่ 2 กับพวก จำเลยที่ 2 กับพวกนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม แล้วลักเงินของโจทก์ร่วมโดยใช้บัตรกดเงินอัตโนมัติ และเลขรหัสของโจทก์ร่วมเบิกเงินผ่านตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติไปจำนวน 33,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นหลัก ซึ่งแม้การกระทำจะเป็นขั้นตอนต่างกัน และโจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อๆ แยกต่างหากจากกัน แต่ก็เกิดจากเจตนาอันเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15805/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานสบคบกันเรียกรับทรัพย์สินจากผู้ค้าแผงลอยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยริมบาทวิถีถนนราชดำเนินกลางด้านทิศใต้ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เรียกรับเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายวางแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลบนบาทวิถีโดยละเว้นไม่กระทำการในตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้เสียหาย โดยมิชอบด้วยหน้าที่และโดยทุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำซึ่งไม่ใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุน ตาม ป.อ. มาตรา 86
สภาพทางเท้าปูตัวอิฐตัวหนอนไปจนถึงขอบบันไดอาคารมีลักษณะเป็นผืนเดียวกันไม่มีการแบ่งแยกชัดเจนว่าทางเท้าของกรุงเทพมหานครไปสิ้นสุดที่จุดใด การตั้งวางแผงลอยขายของต่างๆ มีทั้งส่วนที่อยู่ใต้ชายคาอาคารและส่วนที่ล้ำออกมานอกชายคาอาคารผู้เสียหายตั้งแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่บนทางเท้า อันถือว่าเป็นถนนตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางบ้างเมือง พ.ศ.2535 แล้ว
ในการพิจารณาคดีของศาล หากมีพยานคู่แต่ไม่สามารถนำสืบได้ในคราวเดียวกัน ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานคู่นั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9009/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารราชการปลอม: จำเลยเพียงนำเอกสารใส่ตะกร้า ไม่ถือว่า 'ใช้' เอกสาร
จำเลยรับราชการอยู่ที่แผนกทะเบียนยานพาหนะมีหน้าที่รับค่าภาษีและต่ออายุทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประจำปี ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรับทำใบอนุญาตขับรถ จำเลยเป็นผู้ปลอมใบอนุญาตขับรถอันเป็นเอกสารราชการ การที่จำเลยนำใบอนุญาตขับรถปลอมไปใส่ไว้ในตะกร้าวางไว้บนเคาน์เตอร์หน้าที่ทำการแผนกทะเบียนยานพาหนะ โดยเจ้าของใบอนุญาตขับรถจะไปตรวจดูที่ตะกร้าดังกล่าว หากเห็นใบอนุญาตขับรถของตนก็สามารถหยิบเอาไปได้หรือผู้ใดจะไปรับแทนก็ได้ไม่มีการทำหลักฐานการรับไว้ จำเลยยังมิได้อ้างและใช้เอกสารดังกล่าวแก่ผู้ใด จำเลยไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9009/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยเพียงนำเอกสารใส่ตะกร้า ไม่ถือว่า 'ใช้' เอกสารปลอม
ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้มอบใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราวให้แก่ ก. และมอบใบอนุญาตขับรถยนต์ให้แก่ จ. ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยเป็นผู้นำใบอนุญาตขับรถดังกล่าวที่ทำปลอมขึ้นไปใส่ไว้ในตะกร้าบนเคาน์เตอร์หน้าที่ทำการแผนกทะเบียนยานพาหนะเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้มอบใบอนุญาตขับรถดังกล่าวให้แก่ ก. และ จ. จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบมาตรา 247 และ ป.วิ.อ. มาตรา 15
การที่จำเลยเพียงแต่นำใบอนุญาตขับรถที่ทำปลอมขึ้นใส่ไว้ในตะกร้า เพื่อให้ ก. และ จ. มารับไป โดยจำเลยยังมิได้อ้างและใช้เอกสารดังกล่าวแก่ผู้ใด จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7988/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การ ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้การอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย
ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ซึ่งอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือมีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกยกเลิกเพิกถอนไปต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ แม้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเป็นอุทธรณ์คำสั่งกรณีขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยก็ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนดังกล่าว เพราะหากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามอุทธรณ์ของจำเลยก็จะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้แก่โจทก์เป็นอันต้องถูกเพิกถอนไปทันที อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทน ดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่งนั้นด้วย เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยได้ทันทีโดยไม่ต้องกำหนดเวลาให้จำเลยวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนเสียก่อน เพราะกรณีมิใช่เรื่องของการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ซึ่งศาลต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยโดยไม่ต้องกำหนดเวลาให้จำเลยวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนหรือต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6638/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามเนื่องจากขัดคำรับสารภาพ และอำนาจศาลพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้อง
จำเลยฎีกาว่าในวันเกิดเหตุเพื่อนของจำเลยให้จำเลยดื่มยาชูกำลังโดยไม่ทราบว่ามียาเสพติดให้โทษผสมอยู่ เป็นฎีกาในทำนองว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องเป็นการขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย และเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 และให้ใช้มาตรา 157/1 แทนแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่แตกต่างกับกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดลงโทษจำเลย
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง มีบทบัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย อันเป็นมาตรการทำนองเดียวกันกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยในการที่จะคุ้มครองประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของจำเลย และเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้ โดยไม่จำต้องมีคำขอของโจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้องแต่อย่างใด แต่ต้องปรากฏว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ด้วย คดีนี้แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ แต่ได้ความตามฎีกาของจำเลยและรายงานการสืบเสาะและพินิจของเจ้าพนักงานคุมประพฤติว่า จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ ศาลจึงมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6287/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลจากผู้ต้องหาต้องเป็นประโยชน์นอกเหนือวิสัยตำรวจ จึงจะลดโทษได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ม.100/2 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่า ผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้" ซึ่งข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้นั้น จะต้องมีลักษณะเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษของเจ้าพนักงานต่อจากนั้นเป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของผู้กระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความเพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะไปลำเลียงเมทแอมเฟตามีน จากสหภาพพม่าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้คุ้มกัน ส่วนบันทึกคำรับสารภาพที่เขียนด้วยลายมือของตนเองก็กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินเข้าไปในสหภาพพม่าเพื่อลำเลียงเมทแอมเฟตามีน ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เจ้าพนักงานตำรวจที่มาเบิกความต่างก็ยืนยันว่ามีการสืบสวนหาข่าวและทราบมาก่อนทั้งสิ้น อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จากนั้นได้มีการวางแผนจับกุมและแกะรอยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จนกระทั่งจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5334/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ค่าโฆษณาที่ไม่สมบูรณ์ และผลของการผิดสัญญาซื้อขายห้องชุด
หนี้ที่จะหักกลบลบหนี้กันได้นั้นต้องเป็นหนี้อย่างเดียวกัน และต้องเป็นหนี้ที่ไม่มี ข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 344 พยานหลักฐานที่โจทก์อ้างได้แก่ใบเสร็จรับเงินซึ่งโดยปกติเป็นเอกสารแสดงการรับเงิน จึงมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ ส่วนใบส่งของ/ใบแจ้งหนี้เป็นเอกสารที่บริษัท ท. มีไปถึงจำเลย จึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่าหนี้ค่าโฆษณาดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยพึงชำระแก่บริษัท ท. โดยเฉพาะเจาะจง มิได้พึงชำระให้แก่โจทก์ แม้โจทก์และบริษัท ท. เป็นบริษัท ในเครือเดียวกัน แต่ก็เป็นนิติบุคคลคนละรายกันตามกฎหมาย หากจะมีการโอนหนี้ของ บริษัท ท. ให้แก่โจทก์ก็จะต้องทำเป็นหนังสือและต้องบอกกล่าวไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ หรือจำเลยต้องยินยอมด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำ ดังกล่าว และที่โจทก์อ้างว่ามีการสรุปยอดหนี้กันแล้ว คงเหลือจำนวนเงินที่โจทก์จะต้อง ชำระให้แก่จำเลยอีก 257,000 บาท ก็เป็นเพียงเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนที่โจทก์อ้างว่า พนักงานของจำเลยส่งโทรสารไปยังโจทก์แจ้งว่าโจทก์ต้องชำระเงินจำนวน 574,000 บาท ก็ปรากฏในเอกสารดังกล่าวว่ามีผู้ลงนาม ในตอนท้ายเป็นชื่อเล่นว่า ม. โดยไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยอยู่ และไม่ปรากฏว่าส่งไปจากที่ใด ส่วนจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำโฆษณา แสดงว่าจำเลยยังมีข้อต่อสู้ในเรื่องหนี้ค่าโฆษณาที่โจทก์จะขอหักกลบลบหนี้กับจำเลย โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ค่าโฆษณาของบริษัท ท. ไปหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์จะต้องชำระ ในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการถูกดำเนินคดีบุกรุก ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่อยู่ในข่ายบุริมสิทธิ
หนี้ในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์อันจะมีบุริมสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 273 (1), 274 และ 269 คือ หนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรง ซึ่งรวมถึงหนี้ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่ได้เสียไปเพื่อที่จะสงวนสิทธิ รับสภาพสิทธิ หรือบังคับสิทธิอันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรง แม้ผู้ร้องจะได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์ แต่การที่ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวไปดำเนินคดีเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ร้องเข้าไปหาจำเลยแล้วจำเลยไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุกเข้าไปในบ้านจำเลย การเรียกค่าเสียหายจากการถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกเป็นคนละเรื่องกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาบ้านอันเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรง ที่ผู้ร้องจะต้องไปดำเนินการแก่จำเลยเป็นคดีอีกส่วนหนึ่งต่างหาก มิใช่เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการสงวนสิทธิหรือรับสภาพสิทธิหรือบังคับสิทธิอันเกี่ยวด้วยสังหาริมทรัพย์นั้น
of 12