คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชวลิต ตุลยสิงห์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 586 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15114/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี: ดอกเบี้ยอัตราลอยตัว, ข้อพิพาทอัตราดอกเบี้ย, ศาลฎีกายกประเด็นขึ้นวินิจฉัย
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ถ้าต่อไปโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 ยอมรับที่จะปฏิบัติตามที่โจทก์ได้กำหนดขึ้นใหม่ ดังนั้น เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 คงเป็นหนี้โจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสิทธิตามสัญญาที่โจทก์พึงได้โดยชอบมาแต่เดิม ซึ่งขณะสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกัน โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี จึงชอบแล้ว และข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ใช่เบี้ยปรับ แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดังกล่าวลักษณะคงที่ตลอดไปนั้นไม่ชอบ เพราะตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในลักษณะดอกเบี้ยอัตราลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามประกาศโจทก์ จึงให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นอัตราลอยตัวในอัตราเอ็มโออาร์ (อัตราตามประกาศโจทก์เมื่อเทียบกับใบคำนวณยอดหนี้) ตามประกาศโจทก์ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาในปัญหานี้โดยตรง แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15045/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่ง: แม้พยานหลักฐานขัดแย้งกับฟ้อง แต่จำเลยไม่ปฏิเสธ ศาลพิพากษาตามพยานโจทก์ได้
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทิศทางการขับรถของจำเลยที่ 1 กับ ป. ที่ปรากฏในทางนำสืบ แม้จะเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับที่บรรยายฟ้อง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การหรือนำสืบปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นเพียงพลความในการวินิจฉัยคดีเท่านั้น ในคดีแพ่งเป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยโจทก์หาจำต้องนำสืบให้สมฟ้องดั่งคดีอาญาไม่ และมิต้องด้วยข้อห้ามมิให้พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14755/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาขายลดตั๋วเงินและอัตราดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินไม่ใช่เป็นสัญญาซื้อขายตาม ป.พ.พ.บรรพ 3 ลักษณะ 1 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่เป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คือมีอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ศ. ในอัตราเอ็มโออาร์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี และถ้าต่อไปธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นไปอีกหรืออัตราต่ำลง จำเลยที่ 1 ยอมรับที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ธนาคารจะได้กำหนดขึ้นใหม่โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว ดังนั้น เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดังกล่าวได้แบบไม่ทบต้นจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่ถือได้โดยชอบมาแต่เดิม เมื่อข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยอัตราเอ็มโออาร์บวกร้อยละ 2 ต่อปีตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่จะประกาศกำหนด ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยสำหรับหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอัตราร้อยละ 13 ต่อปี คงที่ตลอดไปนั้นจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องผู้ถือหุ้นเรียกค่าเสียหายจากกรรมการบริษัทที่กระทำละเมิด และขอบเขตความรับผิดของกรรมการกับผู้รับโอน
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. ได้สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท อันมีลักษณะเป็นการกล่าวอ้างว่ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท เมื่อปรากฏว่าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจเอาคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวฟ้องร้องแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง และโจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินทั้ง 25 แปลง คืนให้แก่บริษัท หรือหากไม่สามารถโอนคืนก็ให้ใช้ราคาที่ดินแทนได้ เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. 438 วรรคสอง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิใช่กรรมการบริษัทรับผิดโอนที่ดินร่วม 19 แปลง คืนให้แก่บริษัทหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องผู้ถือหุ้นต่อกรรมการในคดีละเมิดจากการขายสินทรัพย์ต่ำกว่าราคาตลาด และขอบเขตการรับผิด
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นกรรมการบริษัทที่ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทได้ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินของบริษัทให้แก่จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย เป็นการกระทำโดยทุจริตสมคบกันเบียดบังเอาทรัพย์สินของบริษัทมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท เมื่อบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการได้แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริษัท บ.
ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินคืนให้แก่บริษัทหากโอนคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ดินนั้นเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10442/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหนี้ตามสัญญาเดินสะพัดและบัตรเครดิต โจทก์ต้องแสดงรายละเอียดหนี้บัตรเครดิตในคำฟ้อง
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยได้สมัครเป็นสมาชิกขอใช้บัตรเครดิตและได้รับอนุญาตให้ใช้บัตรเครดิตจากโจทก์แล้วและระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต การชำระหนี้ระยะเวลาชำระหนี้ ตลอดจนการคำนวณหนี้และดอกเบี้ยกันอย่างไร จำเลยเป็นหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตกับโจทก์ด้วยวิธีการใดและเป็นหนี้จำนวนเท่าใด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตย่อมต้องมีข้อตกลงต่างหากจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ เท่ากับโจทก์ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยเป็นหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตต่อโจทก์และคำขอบังคับมาในคำฟ้อง จึงต้องพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ภายในอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10421/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาประกันภัยตามเจตนาคู่สัญญา แม้กำหนดระยะเวลาในสัญญาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สิทธิช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัย
บริษัท ม. เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท อ. แล้วบริษัท ม. ให้ พ. เช่าซื้อช่วง โดย พ. นำรถไปประกันภัยไว้กับโจทก์ มีบริษัท ม. เป็นผู้รับประโยชน์ แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยย่อมเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ถือว่า พ. ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อหายไปในบริเวณลานจอดรถของโรงแรมของจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. จากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10421/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยรถยนต์เช่าซื้อ: การตีความเจตนาคู่สัญญาเพื่อยืนยันความผูกพันและสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
ตารางกรมธรรม์และรายการคุ้มครองระบุว่า พ. เป็นผู้เอาประกันภัยและบริษัท ม. เป็นผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่ พ. เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษร แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 จึงถือได้ว่า พ. ผู้เอาประกันภัยเป็นเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว
รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยถูกโจรกรรมไปจากลานจอดรถของจำเลย โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ม. ไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยเท่านั้น ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อระงับเมื่อรถหาย ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดตามเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา
สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษยน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ
รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใด ๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเพียงคู่ฉบับ และสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ แต่ตามคำให้การจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องกับโจทก์จริง โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10078/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แม้คำพิพากษาไม่ได้ระบุชัดเจน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้อง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ และเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีเข้าสู่ศาล ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งห้าในทางแพ่ง สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งห้าก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งห้าในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน การบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งห้า เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำพิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้า การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องและอุทธรณ์ฎีกาในเหตุดังกล่าวโดยตรงขึ้นมายังศาลสูง ก็ชอบที่ศาลจะต้องกล่าวในคำพิพากษาให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่คู่ความและเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติให้บรรลุผลตามคำพิพากษาในเนื้อหาคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาให้ครบถ้วนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
of 59