คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 26

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1-3/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินย้อนหลังและการไม่อยู่ในบังคับอายุความ
เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่
แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้
หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้
แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อน
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ได้ต่อไป
แตกต่างจากหนี้ทางแพ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 1 ลักษณะ 6
ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ
การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59
หาได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องอาจดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความจึงเป็นการแปลความกฎหมายของศาล
มิใช่กรณีกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา 212
การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับนั้น ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546 วินิจฉัยไว้ ซึ่งแม้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ก็เป็นการวินิจฉัยเรื่องการมีผลใช้บังคับของกฎหมาย
ซึ่งหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครอง มิได้เปลี่ยนแปลงยกเลิกไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2540 รับรองคุ้มครอง
เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้แล้ว จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก
การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 2
บัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น
บทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงกำหนดว่าให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อใด
แต่เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น
มิได้แสดงว่ากฎหมายกำหนดมิให้มีผลบังคับย้อนหลังตามที่ผู้คัดค้านอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมและการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย: สิทธิในชีวิตและร่างกายที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง
สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายบุคคลนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้อย่างชัดแจ้งโดยเฉพาะในมาตรา 31 วรรคหนึ่งที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและวรรคสามว่า การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือกระทำการใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 26ที่บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ดังนั้น การปฏิบัติตามมาตรา 240 ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่ามีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าว จึงต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกคุมขังเป็นสำคัญเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจมีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ถือว่ามีมูลที่ศาลจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 240 ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ บ. ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540ส.กับพวกคือพ.ร. และ น. ได้ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานตำรวจทำการจับ อ. ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2540และควบคุมตัว อ. ตลอดมาจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540จึงขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่28 พฤศจิกายน 2540 ผู้ร้องซึ่งเป็นทนายความของ อ.ยื่นคำร้องอ้างว่าการจับและคุมขังระหว่างสอบสวนดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการออกหมายจับอ. และปรากฏตามข้อมูลเบื้องต้นเพียงว่าผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวหาว่ากระทำความผิดมีเพียง 4 คน ไม่ปรากฏชัดว่ามีเหตุตามสมควรว่าควรนำตัว อ. มาสอบสวนดำเนินคดีด้วยแต่อย่างใดหรือไม่ ไม่ปรากฏว่า อ. ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันสมควรที่จะออกหมายจับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(2) ไม่ปรากฏว่าการจับ อ. เป็นการจับเพราะกระทำความผิดซึ่งหน้าหรือพบอ.กำลังพยายามกระทำความผิดหรือพบอ. โดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า อ. จะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถใช้ในการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า อ. ได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี จึงไม่ใช่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78(1)(2) และ (3) ทั้งผู้เสียหายก็ไม่ได้ร้องทุกข์ว่าอ.ร่วมกับส. กระทำความผิด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับและควบคุม อ.โดยถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ทั้งหากการจับ อ.ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมอ. ต่อเนื่องจากการจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังในระหว่างสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ได้ ซึ่งหากศาลสั่งให้ผู้คุมขังหรือผู้ก่อให้เกิดการคุมขังนำตัว อ.มาเพื่อให้บุคคลดังกล่าวแสดงข้อมูลหรือพยานหลักฐานจะทำให้ปรากฏแน่ชัดว่ามีการจับหรือคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และศาลก็สามารถพิจารณาถึงเหตุในการจับและคุมขังตลอดจนพฤติการณ์และขั้นตอนในการคุมขังให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้อย่างสมบูรณ์สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวแล้ว ดังนี้ ถือได้ว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลที่ศาลจะดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 240