คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นายพิชิต คำแฝง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105-4108/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายงานโดยชอบธรรมและการละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้าง: สิทธิของนายจ้างในการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดเชียงใหม่ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดระยอง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการย้ายโดยจำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้การย้ายสถานที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันในครอบครัวของผู้ถูกย้ายก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตำแหน่งใหม่ที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานและค่าจ้างที่ได้รับก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำอื่นที่เป็นการกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทั้งสี่ คำสั่งย้ายของจำเลยจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้โจทก์ทั้งสี่จะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2548 เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5)
โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งย้ายดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ไปทำงานในหน้าที่ใหม่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย จึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของพนักงานขายต่อความเสียหายจากการอนุมัติขายสินค้า โดยมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
ใบสมัครงานระบุว่า "ในการขาย ให้เช่า เช่าซื้อหรือการขายสัญญาบริการหรือการก่อหนี้ใด ๆ ให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ (ลูกค้า) พนักงานขายและพนักงานช่างและหรือพนักงานผู้ที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าของการขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือการขายสัญญาบริการนั้น ๆ ทุกคนจะต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจรับผิดชอบเป็นผู้อนุมัติให้ขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือการขายสัญญาบริการโดยตรง บริษัทฯ ไม่มีส่วนตัดสินใจแต่ประการใด ฉะนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้านั้น ๆ ได้ พนักงานทุกคนที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าจะต้องรับผิดชอบชดใช้ต่อค่าสินค้าตามใบเสร็จที่ระบุราคาขายให้แก่บริษัทฯ ตามอัตราส่วนของการได้รับค่านายหน้าให้แก่บริษัท" การกำหนดดังกล่าวมิใช่กรณีบุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น เพราะในขณะทำสัญญามีเพียงบุคคลสองฝ่ายคือเจ้าหนี้หรือนายจ้าง กับผู้เข้าประกันหรือลูกจ้างจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันผู้ซื้อสินค้า แต่เป็นการตกลงประกันการก่อให้เกิดความเสียหายไว้ล่วงหน้าว่าผู้เข้าประกันหรือลูกจ้างที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าจะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายจากการตัดสินใจรับผิดชอบเป็นผู้อนุมัติให้ขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือการขายสัญญาบริการ ซึ่งความผูกพันระหว่างโจทก์กับบุคคลภายนอกผู้ซื้อ ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ซื้อสัญญาบริการจะเป็นไปตามสัญญาภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ แต่ความผูกพันระหว่างโจทก์ในฐานะนายจ้างกับพนักงานขาย พนักงานช่างและหรือพนักงานผู้ที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าของการขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือการขายสัญญาบริการยังคงเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ดังนั้น จึงมิได้หมายความว่าลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริตแล้วยังจะต้องชดใช้ความเสียหายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เว้นแต่จะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องและสุจริตอันเป็นผลให้ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าให้แก่นายจ้างตามที่ระบุในใบสมัครงาน และเมื่อเงื่อนไขในใบสมัครงานมิได้กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขาย พนักงานช่าง และหรือพนักงานผู้ที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าต้องทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันผู้อื่น ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ซื้อสัญญาบริการแล้ว เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชนจึงใช้บังคับได้