คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 733 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7508-7528/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งคดีแรงงานต้องเกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องเดิม หากไม่เกี่ยวเนื่อง ศาลไม่รับฟ้อง
ตามคำฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานทุกวันเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุดิบซึ่งไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงที่โจทก์ไม่ได้ทำงานด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างช่วงที่จำเลยที่ 1 ไม่มีงานให้โจทก์ทำและค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ดังนี้ คำฟ้องเดิมจึงเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 วรรคสาม อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 กรณีโจทก์ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นเท็จ ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรเกินกำหนดระยะเวลา, การงดสืบพยาน, และกระบวนพิจารณานอกห้องพิจารณาคดี
คำสั่งเรียกพยานเอกสารเป็นกระบวนพิจารณานอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี การที่ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาสั่งให้จำเลยส่งประกาศของจำเลยเรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรไปให้ศาลแรงงานกลาง แม้มิได้มีคำสั่งในระหว่างพิจารณาคดีในห้องพิจารณาต่อหน้าคู่ความ และมิได้มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย ก็ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 18 และมาตรา 45 แล้ว
วันที่ 8 ตุลาคม 2545 เป็นวันนัดพร้อมมิใช่วันสืบพยาน โจทก์ไม่มาศาลในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคสอง ให้ถือว่าโจทก์สละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วย ส่วนวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยและนัดฟังคำพิพากษา เมื่อถึงวันนัดศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานและได้อ่านคำพิพากษาให้ทนายจำเลยฟัง โดยถือว่าโจทก์ซึ่งมิได้มาศาลได้ฟังคำพิพากษาโดยชอบแล้ว เมื่อมิได้มีการสืบพยานจำเลย ย่อมถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่มีคำสั่งจำหน่ายคดีจึงชอบแล้ว
ผู้มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนมิได้ยื่นคำขอรับสิทธิภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน ตามปกติย่อมเสียสิทธิ แต่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาดก็ต้องแปลว่าการยื่นคำขอเกินกำหนด 1 ปี ที่จะทำให้ผู้ยื่นคำขอเสียสิทธิ ต้องเป็นกรณีผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุผลอันสมควรหรือมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิล่าช้าก็นำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไม่ได้ โจทก์อ้างเหตุที่ยื่นล่าช้าเนื่องจากพนักงานบริษัทที่โจทก์ทำงานซึ่งดูแลงานด้านนี้ ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์จะต้องยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเมื่อใด เมื่อพนักงานผู้นั้นลาออกแล้วพนักงานใหม่ที่มาดูแลงานด้านนี้แทนได้แจ้งให้โจทก์ทราบเกี่ยวกับสิทธิของกองทุนประกันสังคมก็เกินกำหนดเวลาที่จะยื่นแล้ว จึงมีเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ยื่นคำขอล่าช้า แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกิน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาในการสนับสนุนการฆ่า: การกระทำเกินกว่าผู้สนับสนุน กลายเป็นตัวการ
ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมดื่มสุราด้วยกันตั้งแต่ก่อนหนึ่งทุ่มครึ่งจนกระทั่งเวลาเลยเที่ยงคืนแล้ว จำเลยที่ 1 เล่าเรื่องที่ผู้ตายด่าว่าเกี่ยวกับการไม่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ฟัง ในภาวะเช่นนั้นจำเลยที่ 2 ย่อมทราบอยู่แก่ใจดีว่าจำเลยที่ 1 มีความเคียดแค้นต่อผู้ตาย แทนที่จำเลยที่ 2 จะห้ามปรามหรือปลอบประโลมใจจำเลยที่ 1 เพื่อคลายความโกรธแต่กลับไปหยิบขวานขนาดใหญ่ที่พอจะทำร้ายผู้ตายให้ถึงแก่ความตายได้มาส่งให้ และเมื่อจำเลยที่ 1 รับขวานมาแล้วได้ลุกเดินตรงไปยังที่ที่ผู้ตายนอนอยู่ จำเลยที่ 2 ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่าจำเลยที่ 1 จะต้องไปทำร้ายผู้ตายแน่ แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังได้เดินตามจำเลยที่ 1 ไป หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ใช้ขวานฟันทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ยังยืนให้คำปรึกษาแก่จำเลยที่ 1 ถึงการที่จะดำเนินการเกี่ยวกับศพผู้ตายต่อไป เมื่อตกลงกันได้ว่าจะต้องทำการซ่อนเร้นศพโดยการนำไปทิ้งบ่อน้ำที่ใกล้เคียง ขณะที่จำเลยที่ 1 แบกศพผู้ตายไปยังบ่อ ศพได้หล่นจากบ่า จำเลยที่ 2 ยังได้นำเสื้อกันฝนมาคลุมศพช่วยจำเลยที่ 1 ในการนำศพไปซ่อนในบ่อน้ำ พร้อมกับนำขวานที่ใช้เป็นอาวุธไปทิ้งลงบ่อด้วย ดังนี้ แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 2 จะมิใช่ผู้ลงมือฟันทำร้ายผู้ตายโดยตรง แต่พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ก็มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายด้วย ประกอบกับทุกขั้นตอนของการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะอยู่ร่วมด้วยในลักษณะที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ได้ทุกเมื่อหากมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการเกินเลยของการเป็นผู้สนับสนุนและถึงขั้นเป็นตัวการในการกระทำความผิดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ ผู้ร้องไม่มีอำนาจเนื่องจากไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ การยื่นคำร้องซ้ำจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดต่อกฎหมาย
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีอำนาจ ยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ให้ยกคำร้องและคดีถึงที่สุด แล้วผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาใหม่ขอให้ศาลยกคำร้องขึ้นไต่สวนและมีคำสั่งใหม่โดยอ้างเหตุเดียวกันว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในของกลางซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีซ้ำสอง: คดีก่อนเป็นการฟ้องร้องที่ไม่สุจริต สิทธิฟ้องคดีหลังยังคงมี
หลักการของ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริงหากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเสมอยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5175/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินโดยไม่ทราบหนี้สิน: ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในคดีที่โจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่ามีเหตุให้พิจารณาใหม่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ศาลแพ่ง แต่เพิ่งมาทราบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นอันยุติและผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นคู่ความด้วยเหตุนี้เอง การที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าในวันตามฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนทรัพย์โดยรู้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4995/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเล่นแชร์ผิดกฎหมายทำให้สิทธิเรียกร้องของนายวงแชร์เป็นโมฆะ สัญญาเป็นโมฆะ
การที่โจทก์เป็นนายวงแชร์มีจำเลยและบุคคลอื่นเป็นสมาชิกร่วมเล่นแชร์รวม 20 คน โดยมีทุนกองกลางต่อ 1 งวด รวมกันเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6(3) ประกอบด้วยกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเพียงมาตรา 7 เท่านั้น ที่บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์แต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์กระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมิได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือเรียกร้องเอากับสมาชิกวงแชร์แต่อย่างใด การเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยไป โจทก์จะนำมูลหนี้ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดอำนาจศาล: นายประกันอาชีพหลอกลวงศาลด้วยเอกสารเท็จเพื่อผลประโยชน์
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งเป็นนายประกันอาชีพเห็นอยู่แล้วว่าหนังสือมอบอำนาจที่จะใช้เป็นหลักฐานในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหายังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ลงไว้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ย่อมจะทราบได้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการที่จะมอบอำนาจให้ใครกระทำการใดแทนนั้น ย่อมต้องมีการระบุข้อความที่มอบอำนาจไว้อย่างแน่นอนและชัดเจน แต่ได้มีการนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาให้ ส. กรอกรายการในขณะนั้น โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ยืนอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเข้าใจได้ว่าน่าจะรู้ว่าเกิดมีเรื่องไม่ชอบมาพากลขึ้น ควรที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จะว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้กระทำ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กลับส่งเสริมให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น ๆ ให้นำเอาเอกสารที่ไม่ชอบเหล่านั้นไปยื่นต่อศาล โดยแนะนำด้วยว่าให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่คนใดจึงจะสะดวกและรวดเร็ว พร้อมกับยอมรับเป็นผู้รับส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลอีก พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำการหลอกลวงศาลให้มีคำสั่งโดยผิดหลงว่าหลักฐานที่นำยื่นเข้ามาเป็นเอกสารที่ถูกต้อง จนมีคำสั่งอนุญาตตามความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กับพวก อันเป็นทางได้มาซึ่งผลประโยชน์ 10 เปอร์เซ็นต์ของหลักประกันที่ศาลตีราคา จึงถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) และมาตรา 33
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็สามารถสั่งลงโทษได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310-4311/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำซัดทอดผู้ร่วมกระทำผิดมีน้ำหนักรับฟังได้ แม้ผู้ให้การจะเป็นผู้กระทำผิดด้วยกัน พยานหลักฐานเชื่อมโยงกันสนับสนุน
แม้คดีนี้ จ. และ ผ. พยานโจทก์จะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยทั้งสอง คำเบิกความของ จ. และคำให้การในชั้นสอบสวนของ ผ. จึงถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันและถูกพิพากษาลงโทษไปแล้วในความผิดฐานเดียวกันกับจำเลยทั้งสอง ที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกันลักทรัพย์ด้วย คำซัดทอดดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องบอกปัดความผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดแต่เฉพาะจำเลยทั้งสองเท่านั้น หากแต่เป็นการเบกความและให้การถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยทั้งสอง ทั้งไม่มีเหตุจูงใจที่จะเบิกความและให้การเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการกระทำของตนไม่ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้าน จ. พยายามเบิกความบ่ายเบี่ยงว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่คนร้ายรายนี้เพื่อช่วยเหลือจำเลยทั้งสอง ดังนั้นคำเบิกความและคำให้การของ จ. และ ผ. จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่จะรับฟังไม่ได้เสียเลยเพียงแต่มีน้ำหนักน้อย และจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ ซึ่งคำให้การชั้นสอบสวนของ จ. และ ผ. สอดคล้องกับคำเบิกความชั้นพิจารณาและสอดคล้องเชื่อมโยงกับคำให้การและคำเบิกความของ ว. พยานโจทก์อีกปาก ซึ่งนับว่าเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีใกล้ชิดในขณะเกิดเหตุ ฟังประกอบพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวมีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4185/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจกำหนดประเด็นใหม่ได้ การครอบครองปรปักษ์ต้องวินิจฉัยก่อน
คู่ความแถลงรับกันว่า ที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านอยู่บางส่วนอยู่ในที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยได้ครอบครองมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงข้อเดียวว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตหรือไม่ เท่ากับศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครอง ปรปักษ์แล้ว ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่คู่ความแถลงรับกันดังกล่าวก็มิใช่ว่าจำเลยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เสมอไป ศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเสียก่อนที่จะไปสู่ประเด็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้อง แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้าน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาก็ไม่จำต้องถือตาม ทั้งมีอำนาจกำหนดประเด็นใหม่ให้ถูกต้องและวินิจฉัยไปตามนั้นได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่อีก
of 74