คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 733 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7314/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนในคดีแรงงาน: ศาลต้องพิจารณาความเสียหายและผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน..." ดังนี้ หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางจะลดลงก็ได้ แต่ต้องลดเป็นจำนวนพอสมควร และในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้นจะต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบถึงความเสียหายของโจทก์ และนำสืบถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6881/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายสถานประกอบกิจการ-สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง-มาตรา 120 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน-คำวินิจฉัยผูกพัน
คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่โจทก์ย้ายโรงงานและสำนักงานแห่งใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ไปรวมกับสำนักงานสาขาที่จังหวัดนครพนม เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว จำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยตามมาตรา 120 วรรคสี่ โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานจึงเป็นที่สุดและย่อมผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น และการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรา 120 วรรคห้า ซึ่งยุติไปแล้วมาอ้างในชั้นนี้
จำเลยทั้งสิบสองใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 582 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และระเบียบของโจทก์ฉบับที่ 2 เรื่อง การลา อันเป็นกฎหมายและระเบียบที่ใช้บังคับแก่การบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6875/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่ตัดสิทธิ
พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดเห็นว่าตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีใด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 และประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น และให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยเร็ว" วรรคสอง "ประโยชน์ทดแทนตามวรรคหนึ่งที่เป็นตัวเงินถ้าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน" จะเห็นได้ว่าแม้ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น แต่ก็มิได้บัญญัติว่า หากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนแล้วจะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป ดังนั้น การยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีจึงเป็นกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิและไม่ใช่ขั้นตอนและวิธีการที่ต้องปฏิบัติก่อนจึงจะดำเนินการในศาลแรงงานได้แต่อย่างใด กรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะเสียสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทน จะต้องเป็นไปตามมาตรา 56 วรรคสอง กล่าวคือผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน และสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีสิทธิได้รับ แล้วแจ้งให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนมารับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินดังกล่าว แต่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคม ประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินนั้นจึงจะตกเป็นของกองทุน ดังนั้น แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้นตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6875/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมเกินกำหนด ไม่ตัดสิทธิ หากยังไม่ถึงกำหนดรับเงิน
ระยะเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้ต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนั้น เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิและไม่ใช่ขั้นตอนและวิธีการที่ต้องปฏิบัติก่อนจึงจะดำเนินการในศาลแรงงานได้แต่อย่างใด กรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะเสียสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนจะต้องเป็นไปตามมาตรา 56 วรรคสอง กล่าวคือผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนและสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีสิทธิได้รับ แล้วแจ้งให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนมารับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงิน แต่บุคคลดังกล่าวไม่มาภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินนั้นจึงจะตกเป็นของกองทุน ส่วนมาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนซึ่งทราบถึงสิทธิและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ไปขอรับสิทธิแล้วแต่บุคคลดังกล่าวมิได้อยู่ในประเทศไทย หรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถไปดำเนินการขอรับสิทธิตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเท่านั้น จึงมิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6703-6752/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหยุดกิจการชั่วคราวต้องมีเจตนาที่จะประกอบกิจการต่อไป หากมีแต่เจตนาให้เช่าเพื่อรับค่าเช่า ไม่ถือเป็นการหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว แทนที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วยเพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน ความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้
การที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้บริษัท ย. เช่าอาคารโรงงาน โรงอาหาร โกดังเก็บสินค้า และที่ดินรอบอาคารที่ตั้งบริษัทจำเลย รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดของจำเลย เพื่อให้บริษัทดังกล่าวใช้ผลิตเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นอันเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเลยเคยผลิตอยู่ก่อนแทนจำเลยนั้น จำเลยจึงไม่มีกิจการผลิตเครื่องปรับอากาษอันเป็นกิจการหลักที่จะดำเนินการต่อไป แม้จำเลยจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปโดยเปลี่ยนไปเป็นประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543 หลังวันให้เช่าโรงงานไปเพียงวันเดียวก็ตาม แต่ก็เป็นการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศส่งจำหน่ายให้บริษัท ย. แห่งเดียวเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า หลังให้เช่าโรงงานจำเลยคงมีลูกจ้างเหลืออยู่จำนวน 95 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยไว้และยังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับอาคารโรงงานจำเลยผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเป็นอาคารโรงงานก่อด้วยสังกะสีล้อมรอบอันมีลักษณะไม่ถาวร และในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 จำเลยเคยประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานไปครั้งหนึ่งแล้วด้วยสาเหตุคำสั่งซื้อลดน้อยลง เมื่อลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบกลับเข้าทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยก็ได้ประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานในระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 อีก อ้างเหตุผลว่าคำสั่งซื้อน้อยมาก จำเลยไม่มีงานให้ทำ ย่อมแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่จำเลยให้บริษัท ย.เช่าโรงงานทั้งหมดแล้วจำเลยคงประสงค์ที่จะได้รายได้หลักจากค่าเช่าเดือนละ 500,000 บาท เท่านั้น จำเลยหามีเจตนาที่จะประกอบกิจการอย่างแท้จริงอีกต่อไปไม่ การที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งห้าสิบหยุดงานระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 จึงมิใช่เป็นการหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามความหมายของมาตรา 75 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6701/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาชอบด้วยกฎหมาย หากแจ้งล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป
การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง มีบัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 6 มาตรา 582 ซึ่งมิได้กำหนดว่าการบอกเลิกจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ ส่วนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ว่า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบนั้น ก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา เพียงแต่ให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อเป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าเท่านั้น การบอกเลิกจ้างจึงอาจทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโยกย้ายงานที่ไม่เป็นธรรมและการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ศาลฎีกาชี้ว่าการโยกย้ายงานเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรเป็นสิทธิของนายจ้าง หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามถือเป็นฝ่าฝืนคำสั่งโดยร้ายแรง
บริษัทจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ มีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 มี 26 สาขา และต้องการเพิ่มอีก 5 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิม และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงาน โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 แต่โจทก์ขอเวลาวันเสาร์อาทิตย์ และจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่โจทก์ยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6699/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ต้องมีอำนาจบังคับบัญชาและปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมาย
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย
พนักงานขายบัตร ทำงานตามช่วงเวลาที่ระบุไว้จะไปทำงานหรือไม่ก็ได้ หากไม่ไปก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ ไม่ต้องยื่นใบลา ได้รับค่าตอบแทนจากการขายจากจำนวนบัตรที่ขายได้ในแต่ละวันหากขายไม่ได้หรือขายได้เพียงหนึ่งใบจะไม่ได้รับค่าตอบแทน แม้จะมาทำการขายในวันดังกล่าวก็ตามไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลาและสวัสดิการ จึงเป็นการทำงานโดยอิสระ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาและไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การตกลงกันปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่ประสงค์และการกำหนดให้พนักงานขายบัตรที่มาทำงานสายต้องถูกหักเงินเป็นค่าปรับ ก็มิใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชา แต่เป็นเพียงการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขายบัตรจึงมิใช่นายจ้างและลูกจ้างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6698/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินต่อศาลเพื่อฟ้องคดีแรงงาน: ศาลฎีกาตัดสินว่าชอบแล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม ที่กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ แต่นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่ง จึงจะฟ้องคดีได้นั้น เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มุ่งถึงสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จากนายจ้างโดยเร็วเมื่อลูกจ้างชนะคดี อันเป็นการป้องกันไม่ให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวชำระให้แก่ลูกจ้างชักช้า และตามมาตรา 125 วรรคสี่ ยังบัญญัติไว้สอดคล้องกันว่าเมื่อคดีถึงที่สุดลูกจ้างเป็นฝ่ายชนะคดี ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลแก่ลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบังคับคดี ซึ่งเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องนำมาวางศาลเมื่อฟ้องคดี ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวเป็นเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่พนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับ จึงมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้าง มิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม กำหนดไว้ จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6698/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินต่อศาลเพื่อฟ้องคดีแรงงาน: พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มิใช่ค่าฤชาธรรมเนียม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคสาม ที่กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสูศาลแรงงานได้ แต่นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งจึงจะฟ้องคดีได้นั้นเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มุ่งถึงสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จากนายจ้างโดยเร็วเมื่อลูกจ้างชนะคดีอันเป็นการป้องกันไม่ให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวชำระให้แก่ลูกจ้างชักช้า และตามมาตรา 125 วรรคสี่ ยังบัญญัติไว้สอดคล้องกันว่า เมื่อคดีถึงที่สุดลูกจ้างเป็นฝ่ายชนะคดี ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลแก่ลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบังคับคดี ซึ่งเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องนำมาวางศาลเมื่อฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวเป็นเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่พนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับ จึงมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้าง มิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด ดังนี้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคสาม กำหนดไว้ จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 27
of 74