คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิชิต คำแฝง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 603 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องเคลือบคลุมในคดีแรงงาน: การระบุจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลที่ชัดเจน
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปความว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยได้ยื่นขอเบิกค่ารักษาพยาบาลของ ว. สามีโจทก์ พร้อมแนบหลักฐานภายในเวลาตามระเบียบ แต่จำเลยตัดสิทธิโจทก์ หรือทำให้สิทธิโจทก์ลดลงอ้างว่า การเจ็บป่วยของ ว. สามารถเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ธ. ซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โจทก์จึงเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ครั้งที่ 4/2546 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 และครั้งที่ 13/2546 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 และให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามข้อบังคับ ระเบียบคำสั่งของจำเลย โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ได้ความชัดแจ้งว่า โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ โจทก์ก็มิได้บรรยายมาในคำขอท้ายฟ้องว่า ขอให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเท่าใด ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้กล่าวแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา กับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในส่วนที่ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องพิสูจน์เหตุผลความจำเป็นทางธุรกิจ และไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับทักษะลูกจ้าง
จำเลยทั้งสามทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2548 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเอกสาร ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 จำเลยทั้งสามมีหนังสือเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 เนื่องจากจำเลยทั้งสามมีความจำเป็นต้องลดรายจ่ายหรือตัดทอนรายจ่ายลง โดยอ้างว่าการเลิกจ้างเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าว คือ สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.7 ที่ระบุว่า "การสิ้นสุดสัญญาจ้างอาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนวันสิ้นสุดสัญญาตามข้อตกลงเนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือหลายเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (ก) การตัดทอนรายจ่าย - การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะของลูกจ้าง" ดังนั้น การเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าจำเลยทั้งสามไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะในการทำงานของโจทก์ อีกทั้งจะต้องปรากฏว่ากรณีการเลิกจ้างดังกล่าวมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างด้วย ซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินจึงต้องลดค่าใช้จ่ายและไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างให้โจทก์ต่อไปได้ การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่กรณีที่ขาดตำแหน่งที่เหมาะสมกับทักษะการทำงานของโจทก์ เป็นแต่เพียงขาดตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างของโจทก์ และการเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินนั้น ก็ยังไม่ปรากฏว่าประสบปัญหาเพียงใด ถึงขนาดมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ และตามหนังสือเลิกจ้างให้เหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์ คือ ตามแผนการตัดทอนค่าใช้จ่าย ดังนั้น การจะพิจารณาว่าที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องให้ได้ข้อเท็จริงว่า จำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินเพียงใด มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ มีแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายอย่างไร ได้ดำเนินการตามแผนการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และจำเลยทั้งสามขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่ทักษะการทำงานของโจทก์หรือไม่ อย่างไร อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว แล้วดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณโทษเพื่อพิจารณาข้อห้ามฎีกาในคดีอาญา ต้องรวมโทษที่เพิ่มขึ้นด้วย
การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกระทงความผิดและกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับ ซึ่งการเพิ่มโทษจำเลยในความผิดใด โทษที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมรวมเป็นโทษที่ศาลจะนำไปกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับในความผิดนั้น ดังนั้น จึงต้องนำการเพิ่มโทษมาคำนวณในการใช้สิทธิฎีกาด้วย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2550)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3039/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักเงินค่าจ้างเป็นเงินประกันโดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้างต้องคืนเงินให้ลูกจ้าง
จำเลยที่ 2 เป็นช่างซ่อมบำรุง ไม่ได้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์ ที่โจทก์หักค่าจ้างร้อยละ 5 ไว้เป็นเงินประกันหรือเงินสะสมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10, 76 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะดำเนินธุรกิจแข่งขันกับโจทก์ในขณะที่ยังเป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยที่ 2 ใช้เวลาทำงานไปทำกิจการส่วนตัวอันเป็นการทุจริตเวลาทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 10.2 หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์เพื่อปฏิเสธที่จะคืนเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์หักไว้ หากจำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ยังเป็นลูกจ้างโจทก์ก็ชอบที่โจทก์จะดำเนินคดีฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังที่ได้ดำเนินคดีไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง โจทก์ต้องคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้แก่จำเลยที่ 2 คดีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้โจทก์คืนเงินที่โจทก์หักจากค่าจ้างของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2701/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีแรงงาน: การฟ้องเรียกค่าจ้างคนละประเภทกัน ไม่ถือเป็นฟ้องซ้อน
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเรียกค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1524/2547 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2547 แก่โจทก์ แม้คดีนี้กับคดีก่อนจะเป็นการฟ้องตามสัญญาจ้างแรงงานเหมือนกันก็ตามแต่ก็เป็นคำฟ้องเรียกเงินคนละประเภทกัน มีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและประเด็นที่วินิจฉัยต่างกัน จึงไม่ใช่เป็นการยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันอันจะเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ้างงานต่อเนื่องโดยทำสัญญาต่ออายุ แม้มีกำหนดอายุสัญญา การไม่ต่อสัญญาถือเป็นการเลิกจ้างและต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์และจำเลยทำสัญญาจ้างฉบับแรกตั้งแต่ปี 2533 และมีการต่อสัญญากันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้าย โดยสัญญาจ้างแต่ละฉบับมีกำหนดอายุ 1 ปี แม้ตามสัญญาจ้างดังกล่าวจะกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ก็ตาม แต่การจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีการต่ออายุการจ้างเรื่อยมา เห็นได้ว่ามิใช่เป็นการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์โดยไม่ยอมให้โจทก์ทำงานต่อไป ย่อมถือว่าเป็นการเลิกจ้าง และกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต่อสัญญาจ้างก็มิใช่เหตุที่จำเลยจะอ้างเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐต่อหน่วยงาน กรณีลดหย่อนค่าบริการโดยไม่ชอบ และดอกเบี้ยผิดนัด
การที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยโดยไม่มีอำนาจ แต่โจทก์ก็ทำไปตามทางปฏิบัติของจำเลยที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งคณะกรรมการของจำเลยก็ยอมรับในเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติงานของจำเลยที่เคยทำกันมาในเรื่องอัตราค่าบริการที่โจทก์ใช้คำนวณในเรื่องดังกล่าวนี้ ทั้งโจทก์เองเป็นผู้ตรวจสอบพบเหตุกระทำผิดวินัยแล้วเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบ อีกทั้งโจทก์ได้ทำหนังสือขออนุญาตการลดราคาค่าบริการไปยังผู้อำนวยการจำเลยผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่หนังสือขออนุมัติลดราคากลับสูญหายในภายหลังจึงไม่มีผู้ใดทราบว่าผู้อำนวยการจำเลยอนุมัติให้ลดราคาหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยจึงเป็นการกระทำไปภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติงานที่เคยดำเนินการกันมาโดยจำเลยก็ยอมรับให้โจทก์ปฏิบัติเช่นนี้ได้มาโดยตลอด การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ อีกทั้งมิได้เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 787/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบหมายงานประกันชีวิตแก่ลูกจ้างที่ทำสัญญาจ้างเฉพาะงานวินาศภัย มิอาจเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม
โจทก์ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิตต่อมาบริษัท ท. จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2543 โดยรับโอนงานในส่วนประกันชีวิตจากบริษัท ท. มา ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2543 บริษัท ท. ยังคงประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิตทั้งสองประเภทควบคู่มาด้วยกันโดยยังไม่ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา 121 วรรคสอง แต่เป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิตภายใต้บทบัญญัติมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ที่ให้กระทำต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขว่าบริษัท ท. ต้องแยกรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันชีวิตออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนั้น งานในส่วนประกันวินาศภัยและงานในส่วนประกันชีวิตต่างก็เป็นงานของบริษัท ท. ผู้เป็นนายจ้างของโจทก์
หนังสือสัญญาข้อตกลงรับทราบเงื่อนไขในการจ้างทำขึ้นในตอนที่โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างทดลองงานเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2547 แต่ข้อความตามหนังสือก็ระบุว่าเป็นเงื่อนไขในการจ้างในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ท. ไม่ได้ระบุว่าเป็นเงื่อนไขที่ใช้เฉพาะในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงานเท่านั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัท ท. และทำงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ดังนั้น การที่บริษัท ท. ให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริการวินาศภัยทำงานประกันชีวิตด้วย งานประกันชีวิตซึ่งเป็นธุรกิจส่วนหนึ่งของบริษัท ท. จึงเป็นงานในความรับผิดชอบของโจทก์โดยชอบด้วยเงื่อนไขในการจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างที่โจทก์ทำงานประกันชีวิตให้บริษัท ท. ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2543 จำเลยซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ก็รับโอนทรัพทย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์และลูกจ้างในส่วนธุรกิจประกันชีวิตจากบริษัท ท. แต่ไม่ได้รับโอนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยมาด้วย และหลังจากวันที่ 27 มีนาคม 2543 ถึงวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง จำเลยมิได้ให้โจทก์ทำงานประกันชีวิต โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำเหน็จชราภาพไม่ระงับ แม้มิได้ยื่นคำขอภายใน 1 ปี มาตรา 56 วรรคหนึ่ง มิใช่บทตัดสิทธิ
โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อสำนักประกันสังคมจังหวัด เมื่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดมีคำสั่งว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี จึงไม่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ โจทก์ก็อุทธรณ์ต่อจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งเก้ามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ดังนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี โจทก์จะยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าว จะมีผลทำให้สิทธิที่ได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป จึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ ซึ่งต่างกับกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่มารับประโยชน์ทดแทนภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ซึ่งมาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหนึ่งปีก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: การพิจารณาเหตุผลการเลิกจ้าง, เงินช่วยเหลือพิเศษ และการกำหนดค่าเสียหาย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมาย โดยฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ฟังมาเป็นยุติว่า โจทก์เลิกจ้างเพราะผู้กล่าวหาไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานล่วงเวลา และเรื่องโจทก์ประสบภาวะขาดทุนโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาแต่แรกในหนังสือเลิกจ้าง ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาเพราะผู้กล่าวหาขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และโจทก์ขาดทุน อีกทั้งเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (4) ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างในการกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้างได้และตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ได้กำหนดให้ถือเอาเงินช่วยเหลือพิเศษที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม เงินช่วยเหลือพิเศษดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้กล่าวหาเป็นกรณีพิเศษที่โจทก์เลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเท่านั้น จึงเป็นการจ่ายเงินคนละกรณีกัน โจทก์จะถือว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษเป็นการจ่ายค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมไม่ได้ และเมื่อจำเลยในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้พิจารณากำหนดค่าเสียหายโดยการนำเอาเงินช่วยเหลือพิเศษที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างแล้วมาประกอบการพิจารณาด้วย ย่อมเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว และมิใช่กรณีที่จำเลยกำหนดค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างผู้กล่าวหาเกินไปกว่าคำร้องขอ
of 61