คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิชิต คำแฝง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 758 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ความแตกต่างของเครื่องหมาย, ประเภทสินค้า, เจตนาใช้, และความสับสนของสาธารณชน
เครื่องหมายการค้าโจทก์ขอจดทะเบียนเป็นอักษรโรมันเขียนว่า "HIGHER" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นภาษาไทยและอักษรโรมันว่า "ไฮเออร์ HI-ER" มีความแตกต่างอยู่ที่เครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีทั้งภาษาไทยและอักษรโรมัน แม้การเรียกขานอาจจะมีส่วนเหมือนกัน แต่การเรียกขานย่อมขึ้นอยู่กับสินค้าว่าแต่ละคนจะเรียกขานสินค้าอย่างไร สินค้าโจทก์และจำเลยแม้จะจำพวกเดียวกัน แต่เป็นคนละประเภทเมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การจัดจำหน่าย คุณภาพ และราคาสินค้าของโจทก์ ซึ่งแตกต่างจากสินค้าของจำเลย นอกจากนี้โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต มิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3), 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเตรียมอาวุธเพื่อวิวาทและการป้องกันเกินเหตุ การใช้อาวุธปืนยิงในความขัดแย้ง
จำเลยกับ ณ. ผู้ตาย ทะเลาะชกต่อยกันก่อน จากนั้นจำเลยได้กลับไปเอาอาวุธปืนที่บ้านจำเลยแล้วขับรถจักรยานยนต์ออกตามหา ณ. ผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยตระเตรียมเพื่อจะวิวาทหรือต่อสู้กับพวกผู้ตาย จึงเป็นการสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทและต่อสู้กับพวกผู้ตาย แม้ ณ. ผู้ตาย จะเข้ามาต่อยจำเลยและล็อคคอจำเลยไว้รวมทั้ง ว. ผู้ตายอีกคนหนึ่งเงื้ออาวุธมีดจะฟันจำเลยตามที่จำเลยนำสืบก็เป็นเหตุการณ์จากการสมัครใจทำร้ายกัน จำเลยไม่มีสิทธิใช้อาวุธปืนยิง ณ. และ ว. ผู้ตายทั้งสอง โดยอ้างว่ากระทำไปเพื่อป้องกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: คำว่า 'TWO WAY' ไม่เป็นลักษณะบ่งเฉพาะ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยใช้คำนี้กับสินค้าแป้งผัดหน้าไม่ละเมิดสิทธิ
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถาน ศาลต้องตรวจข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์และข้อเถียงตามคำให้การของจำเลยทั้งสิบเอ็ด หากมีข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในคำฟ้อง แต่จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การโต้เถียงปฏิเสธไม่รับ ศาลต้องกำหนดข้อที่ไม่รับกันนั้นไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 183 เมื่อจากคำฟ้องและคำให้การเห็นได้ชัดแจ้งว่าคดีมีข้ออ้างและข้อเถียงกันเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า จำเลยร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 370236 โดยเจตนาไม่สุจริตหรือไม่ เพราะโจทก์อ้างในคำฟ้องโดยแจ้งชัดว่าจำเลยร่วมผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 370236 ได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "TWO WAY" ไปใช้รวมกับคำอื่นโดยวางใต้อักษรโรมันคำว่า "Za" แล้วนำไปยื่นขอจดทะเบียนโดยมีเจตนาไม่สุจริตอาศัยการมีชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกและชนิดเดียวกันกับสินค้าของโจทก์เพื่อให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แต่จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การปฏิเสธไม่รับในข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง โดยให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธว่า การที่จำเลยร่วมผู้ขอจดทะเบียนได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 370236 โดยมีคำว่า "TWO-WAY FOUNDATION" อยู่ใต้คำว่า "Za" โดยปฏิเสธที่จะขอถือสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า "TWO-WAY" ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยร่วมกระทำการโดยสุจริต ปัญหาเรื่องผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสุจริตหรือไม่ จึงมิได้มีเฉพาะกรณีการใช้เครื่องหมายการค้าต่างเจ้าของโดยสุจริตตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 27 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดประเด็นนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในชั้นชี้สองสถานจึงเป็นการที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาว่าด้วยการพิจารณา
การที่จำเลยร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 รวมทั้งสินค้าแป้งผัดหน้าหรือแป้งแข็งด้วยตามคำขอเลขที่ 370236 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2541 เป็นเพียงการนำคำว่า "TWO WAY" ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเมื่อใช้กับสินค้าแป้งผัดหน้าหรือแป้งแข็งดังกล่าวมาใช้ประกอบกับคำว่า "Za" ซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า ทั้งปรากฏว่า จำเลยร่วมผู้ขอจดทะเบียนไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า "TWO WAY" ดังนี้ การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 370236 ของจำเลยร่วมจึงหาใช่การนำคำว่า "TWO WAY" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์มาใช้ประกอบเป็นเครื่องหมายการค้า โดยมีเจตนาไม่สุจริตอาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพเพื่อการค้า ข้อสันนิษฐานเรื่องลิขสิทธิ์ และอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า งานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในข้อเท็จจริงที่ศาลจะรับฟัง เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่หากข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ปรากฏต่อศาลเองว่างานที่ฟ้องร้องกันนี้มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้ลงโทษทางอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยรับสัญญาณภาพและเสียงของโจทก์ร่วมที่ส่งสัญญาณไปตามสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง จากนั้นใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับสายสัญญาณเคเบิ้ลเข้าเครื่องถอดรหัสสัญญาณไปพ่วงต่อเข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ของจำเลย แล้วขยายสัญญาณโทรทัศน์แยกและต่อสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพไปยังห้องเช่าต่าง ๆ ของผู้พักอาศัยในอาคารของจำเลย โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์จากค่าเช่าห้องพักและค่าบริการจากผู้เช่าเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมทั้งสอง ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการจัดทำงานแพร่ภาพแพร่เสียงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อการค้า จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งกระทงความผิดฐานฉ้อโกง: พิจารณาเจตนาและลักษณะการกระทำเป็นสำคัญ
การกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพแห่งการกระทำเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ แต่ที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมสำหรับความผิดฐานนี้ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายทั้งสิบเป็นคนละวันเวลาและในสถานที่ต่างกัน จะถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด 10 กระทง หาได้ไม่ แต่การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 กลุ่มหนึ่ง จากนั้นได้แบ่งแยกหน้าที่กันทำในลักษณะเดียวกันโดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และนาง ม. กลุ่มหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 นาย ล. นางสาว ช. และนาย ช. อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนต่างกลุ่มต่างเวลาและสถานที่กันโดยเจตนาให้เกิดผลต่อผู้เสียหายและประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรม รวม 3 กระทง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้สิทธิไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ แม้ข้อสัญญาบางส่วนเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าเป็นโมฆะ
แม้ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการที่ไม่ทำตามแบบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จะตกเป็นโมฆะ แต่ในสัญญาข้อ 24 ยังมีข้อความอีกว่า หากสัญญานี้ข้อใดข้อหนึ่งตกเป็นโมฆะหรือไม่อาจบังคับได้ ให้ถือว่าสัญญาข้ออื่นยังคงมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับต่อไปได้ เห็นได้ว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาจะใช้ประโยชน์จากสัญญาข้ออื่นหรือต้องการให้มีผลบังคับได้แยกต่างหากจากข้อสัญญาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่ตกเป็นโมฆะ การที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตกเป็นโมฆะจึงไม่ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8777/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า 'NETBURST' และอำนาจการพิจารณาของนายทะเบียน
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะสามารถรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ และขอให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ เป็นเรื่องของการฟ้องเพื่อให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หาได้เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว นอกจากนี้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย และโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยทั้งสิบห้า จึงไม่อาจกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์
คำว่า "NETBURST" เป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น ไม่ได้เป็นคำศัพท์ที่มีและใช้อยู่โดยปรากฏในพจนานุกรม ดังนั้น การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาความหมายของคำว่า "NETBURST" โดยแยกคำเป็นภาคส่วนแล้วนำความหมายของแต่ละภาคส่วนตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาเลือกมารวมกันเพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าวโดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงหยิบยกความหมายนั้น ๆ มาใช้ จึงไม่ถูกต้องเพราะทั้งคำว่า "NET" และคำว่า "BURST" ยังมีความหมายอื่น ๆ อีก ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์การนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด ดังนั้น คำว่า NETBURST ไม่เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง แต่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
คำว่า NETBURST มีลักษณะบ่งเฉพาะ นายทะเบียนต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน โจทก์ยังไม่มีสิทธิขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8084/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญาซื้อขาย, การคิดดอกเบี้ยผิดสัญญา, การบังคับคดี, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ 4 ประการ โดยกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายเลือก แต่สำหรับแนวทาง 2 ประการ คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงหรือกำหนดระบุแนบท้ายไว้แต่อย่างใด จึงยังคงเหลือแนวทางการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์อาจเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนได้ตามสัญญาดังกล่าวอีกเพียง 2 แนวทาง กล่าวคือ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารโจทก์ในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น การที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ในต่างประเทศได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศเท่ากับว่าโจทก์ได้จ่ายเงินไปเป็นเงินเยนอันเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้เงินไทยชำระหนี้ดังกล่าวไปและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เงินไทยไปชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ธนาคารตัวแทนโจทก์ไปเมื่อใด หนี้จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายไปจึงยังคงเป็นหนี้เงินต่างประเทศอยู่ เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนอันจะถือได้ว่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนเป็นเงินไทยในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ได้จ่ายเงินแทนโจทก์หรือในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์หักบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้อีกทางหนึ่งตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆ ตามประกาศของธนาคารโจทก์ ดังที่ปรากฏในรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกค้าและในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งควรเป็นเบี้ยปรับที่หากสูงเกินส่วนศาลย่อมพิจารณาลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจะเห็นได้ว่า ข้อความในสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 มีลักษณะเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคืนให้แก่โจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 เริ่มชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เป็นต้นไป ซึ่งกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวทวงถาม ย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็มีสัญญาข้อ 7 ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไว้อีกข้อหนึ่งต่างหาก โดยระบุว่าให้ใช้อัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 สัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 นี้ เป็นข้อสัญญาที่ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดเอาแก่จำเลยที่ 1 ในช่วงที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ และในการเรียกดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ โจทก์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) และในข้อ 3 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว และเป็นประกาศที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำสัญญาทรัสต์รีซีทคดีนี้จนถึงวันฟ้อง เมื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวและข้อความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ที่ระบุว่า "อัตราสูงสุด" ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า "อัตราสูงสุด" ว่า "ที่ธนาคาร (โจทก์) ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด" จึงหมายถึง อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังกล่าว อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามที่ปรากฏในประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่าง ๆ นั่นเอง และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 ก็ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าในการคิดดอกเบี้ยของโจทก์แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราต่าง ๆ ตามรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะแม้เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนดอกเบี้ยมาดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หนี้ของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้เป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8041/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฆ่าผู้อื่นโดยเหตุบันดาลโทสะ: การบุกรุกยามวิกาลและการข่มเหงทางจิตใจ
ป. อายุ 18 ปี เป็นบุตรสาวและอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยซึ่งเป็นบิดา แม้ผู้ตายจะเป็นคนรักของ ป. แต่ก็ลักลอบคบหาไปมาหาสู่กันโดยจำเลยและ ม. ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน ขณะเกิดเหตุเป็นยามวิกาล เวลาถึง 1 นาฬิกาเศษ ผู้ตายแอบเข้ามาในบ้านทางช่องหน้าต่างห้องนอนของ ป. ชั้นบนของบ้านซึ่งอยู่ติดกับห้องนอนของจำเลยและอยู่กันลำพังเพียงสองต่อสอง ย่อมเป็นการกระทำที่อุกอาจผิดแบบธรรมเนียมประเพณีขัดต่อศีลธรรมอันดี ขาดความเคารพยำเกรงกระทบกระเทือนต่อจิตใจของจำเลยผู้เป็นบิดา ป. และเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุอย่างร้ายแรง นับได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยใช้อาวุธปืนสั้นติดตัวไปในขณะนั้นเนื่องจากได้ยินเสียงดังผิดปกติในห้องนอนของ ป. ยิงผู้ตายในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นการกระทำผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเหตุบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8003/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนลิขสิทธิ์เพลงคาราโอเกะโดยเด็ดขาดและการละเมิดลิขสิทธิ์จากการผลิตซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมเพลงพิพาท ทั้งคำร้องทำนองซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ในส่วนของคาราโอเกะทุกรูปแบบให้แก่โจทก์ที่ 2 เมื่อตามข้อสัญญาลิขสิทธิ์เพลงข้อ 1 ระบุข้อห้ามไว้ด้วยว่า "การโอนลิขสิทธิ์นี้เป็นการโอนตลอดอายุสัญญาแห่งลิขสิทธิ์ซึ่งผู้โอนลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิที่จะนำไปขายหรือจัดทำเอง รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นไปจัดทำ" ฉะนั้น การที่จำเลยร่วมกับพวกอนุญาตให้นาย ช. ใช้มาสเตอร์เทปเพลงพิพาทพร้อมลิขสิทธิ์ คือ ทั้งตามคำร้อง ทำนองเพลงพิพาทที่ขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ไปทำการบันทึกเสียงและภาพทำเป็นคาราโอเกะได้ด้วยดังกล่าว จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 2
การกระทำของจำเลยที่จงใจมอบหมายภริยาจำเลยให้นำมาสเตอร์เทปเพลง 2 เพลง เช่นเดียวกับที่ได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดให้โจทก์ที่ 2 ไปแล้ว คือ เพลง น. และเพลง ส. ซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ไปให้บุคคลภายนอก ซึ่งจำเลยสามารถคาดหมายได้ว่าบุคคลภายนอกต้องนำมาสเตอร์เทปดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายในท้องตลาดแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 เพราะกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน จากนั้นบุคคลภายนอกก็ผลิตวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 ดังที่จำเลยคาดหมาย ถือว่าจำเลยกับพวกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์คาราโอเกะของโจทก์ที่ 2
of 76