คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิชิต คำแฝง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 758 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11996/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและการไกล่เกลี่ยในคดีทรัพย์สินทางปัญญา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
การไกล่เกลี่ยเป็นการใช้อำนาจของศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 30 ประกอบด้วยข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 27 (1) แม้จะไม่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันดังกล่าวตามที่ศาลนัดไว้หรือไม่ ก็หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับการไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้นเนื่องจากคำร้องดังกล่าวเป็นคำขอจึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 156 และมาตรา 21 เมื่อคดียังอยู่ในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและคู่ความทุกฝ่ายมาศาล ประกอบกับจำเลยทั้งสองได้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของจำเลยที่ 2 โดยมีการนำจำเลยที่ 2 เข้าตอบคำถามค้านและคำถามติงถือว่าคู่ความทุกฝ่ายได้มีโอกาสดำเนินคดีเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวในระหว่างที่ศาลออกนั่งพิจารณาคดีแล้วกระบวนพิจารณาของศาลจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การเพิกถอนการจดทะเบียนและการเรียกร้องค่าเสียหายจากการลอกเลียนแบบและใช้ชื่อทางการค้าโดยไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองในเครื่องหมายการค้านั้นตั้งแต่ในขณะที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ดังนี้ การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่ต้องฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ที่เป็นภาษาไทย จีน และอังกฤษ ซึ่งเขียนว่า "TOH KANG" และ "TANG TOH KANG" มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์ที่ 2 โดยใช้กับสินค้าจำพวกทองคำ คำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่ได้มีความหมายว่าทองคำหรือเกี่ยวข้องกับทองคำแต่อย่างใด หากแต่เป็นชื่อสกุลของบรรพบุรุษของฝ่ายโจทก์ที่ประกอบกิจการค้าทองคำติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2464 เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว และยังใช้คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 ตลอดมาด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 เพิ่งมาประกอบกิจการร้านทองในลักษณะเดียวกับโจทก์ทั้งสองเมื่อปี 2515 และต่อมาในปี 2531 ถึงปี 2532 จำเลยที่ 1 จึงได้นำคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นภาษาไทย คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า "โต๊ะกังบุ้นกี่" เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า "TOA KANG" เป็นอักษรภาษาอังกฤษ กับคำว่า "โต๊ะกังเยาวราช" เป็นอักษรภาษาไทยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเงิน ทอง นาก และอัญมณี ดังนี้ เห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 นำไปยื่นคำขอจดทะเบียนไว้นั้น ทุกเครื่องหมายจะมีคำว่า "โต๊ะกัง" แสดงว่าสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อยู่ที่คำว่า "โต๊ะกัง" หาใช่อยู่ที่คำว่า "บุ้นกี่" หรือ "เยาวราช" ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบไม่ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า "โต๊ะกัง" ที่เป็นภาษาไทย จีนและอังกฤษของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นการจดทะเบียนโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้จดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองที่ใช้ติดต่อกันมาโดยตลอดเสียไปแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้
จำเลยทั้งสองนำชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองใช้เป็นชื่อห้างย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสถานประกอบการค้าทองของจำเลยทั้งสองเป็นสถานประกอบการค้าทองของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นสถานประกอบการค้าทองที่โจทก์ทั้งสองมีส่วนรวมอยู่ด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการสับสนหรือหลงผิดดังกล่าวได้เช่นกัน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองให้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปล้นทรัพย์ด้วยการใช้สารทำให้มึนเมาทำให้เหยื่อไม่สามารถขัดขืนได้
จำเลยกับพวกนำธูปซึ่งมีส่วนผสมของสิ่งของบางอย่างที่ทำให้มึนเมาออกมาให้โจทก์ร่วมและ บ. ดม ทำให้โจทก์ร่วมเกิดอาการมึนศีรษะ เป็นเหตุให้อยู่ในภาวะไม่สามารถขัดขืนได้แล้วจำเลยกับพวกอีก 2 คน ได้ลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไป ถือได้ว่าเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์และการพาทรัพย์นั้นไปเมื่อร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
อาการมึนศีรษะที่โจทก์ร่วมและ บ. ได้รับหลังจากดมธูปที่จำเลยกับพวกนำมาให้ดมจนจำเลยกับพวกบอกให้ทำอะไรก็ทำให้ทุกอย่าง ทั้งหลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมและ บ. ก็ยังอาเจียนออกมาเป็นเลือดจนแพทย์ต้องฉีดยาให้นั้น ย่อมเป็นการบ่งชี้ชัดแจ้งแล้วว่าธูปนั้นมีสารพิษซึ่งเป็นโทษแก่ร่างกายและจิตใจ หากสูดดมแล้วจะทำให้เกิดอาการมึนเมาถึงขนาดตกอยู่ในภาวะไม่สามารถขัดขืนได้ ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่จำเป็นต้องนำพยานผู้ชำนาญการพิเศษมาสืบอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9208-9209/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาหมดอายุตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนต้องคืนหลักประกัน
การปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวนนั้น สามารถให้ปล่อยชั่วคราวได้สูงสุดเพียง 6 เดือนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 113 วรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนไม่อาจควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องมาขอปล่อยผู้ต้องหาด้วยการนำโฉนดที่ดินมาให้จำเลยยึดถือไว้อีก จำเลยจึงต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9208-9209/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปล่อยชั่วคราวเกิน 6 เดือนสิ้นสุดลง พนักงานสอบสวนต้องคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกัน
การปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวนนั้น สามารถให้ปล่อยชั่วคราวได้สูงสุดเพียง 6 เดือน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 113 วรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนไม่อาจควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องมาขอปล่อยผู้ต้องหาด้วยการนำโฉนดที่ดินมาให้จำเลยยึดถือไว้อีก จำเลยจึงต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9126/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาพิจารณาจากพยานหลักฐานบาดแผลของผู้ตาย
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 15)ฯ มาตรา 6 ยกเลิกความในมาตรา 30 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่ให้กักขังแทนค่าปรับในอัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวันกรณีจึงไม่อาจบังคับคดีให้กักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับจำนวน 75 บาท ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามกฎหมายเดิมต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าวว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 30 ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8705/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้เช่าในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้อื่นบนที่ดินที่เช่า แม้ไม่มีนิติสัมพันธ์โดยตรง
แม้โจทก์กับจำเลยจะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ร่วมเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ร่วมและสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงก่อนหน้านี้ไม่ยอมออกไปจากที่พิพาทนั้นย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยโดยการยื่นคำฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลเรียกผู้ให้เช่าคือโจทก์ร่วมเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 ซึ่งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เมื่อโจทก์ร่วมยินยอมเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามที่โจทก์มีคำขอแล้ว ก็ย่อมมีผลทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8548/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองและพยายามส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และ 4 จำเลยทราบประกาศกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97ฯ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 6 (1) และมาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2539 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวจึงมีผลบังคับใช้
คำฟ้องของโจทก์ในข้อ ก. กล่าวว่า จำเลยมีไว้เพื่อขายซึ่งเฟนเตอมีนอันเป็นวัถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97ฯ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยได้ทราบประกาศนี้แล้ว และจำเลยได้พยายามนำเฟนเตอมีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรไทย เพื่อไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการบรรยายฟ้องที่ยืนยันว่าจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้ว แม้ท้ายฟ้องหรือในการพิจารณาโจทก์มิได้นำส่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว ก็หาทำให้การฟ้องและการดำเนินคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมจากภาพยนตร์วิดีโอ: ความรับผิดของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ประกอบการ
ตามสัญญาอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ซึ่งเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์กำหนดว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะสร้างภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายดังกล่าวตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ อันเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มาดัดแปลงและจำเลยร่วมที่ 2 มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ดัดแปลงขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ที่ได้มาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี เท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยวิธีอื่น ไม่อาจให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้น หรือให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานยนตร์นั้นแก่ผู้อื่นได้ ตลอดจนไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น หรือไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 13 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 (ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537) มาตรา 15 ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์ แล้วนำวิดีโอนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้น โดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้น การกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 (1) หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยวิธีอื่น ซึ่งรวมถึงการบันทึกเป็นม้วนวิดีโอเทปภาพยนตร์ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 แม้ว่าจะได้รับอนุญาตจากจำเลยร่วมที่ 2 ให้นำภาพยนตร์ดังกล่าวที่จำเลยร่วมที่ 2 สร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกจำหน่ายตามสัญญาที่ทำกับจำเลยร่วมที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายได้เช่นกัน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ได้บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปก็ได้ ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ซึ่งเห็นได้ว่าการสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล มีเพียงดุลพินิจในการสั่งเกี่ยวกับค่าทนายความซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ต้องเป็นไปตามอัตราค่าทนายความในตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยไม่ได้แยกให้จำเลยแต่ละคนชดใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องชดใช้แก่โจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมในภาพยนตร์: การทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต และความรับผิดของผู้ประกอบการ
โจทก์เป็นผู้ประพันธ์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะมีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ทำสัญญาก็ตาม แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 มีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ภายใน 7 ปีตามสัญญาเท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีอื่น ดังนี้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวีดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์แล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้นโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญา และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) ส่วนวิดีโอเทปที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำซ้ำขึ้นแล้วนำออกจำหน่ายและให้เช่านั้นเป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าวิดีโอเทปนั้นตนได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ยังนำออกจำหน่ายให้เช่าเพื่อหากำไร การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยร่วมที่ 2 ยังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 (1) หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย
จำเลยร่วมที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการซื้อขายลิขสิทธิ์ทั้งในรูปของภาพยนตร์หรือภาพยนตร์วิดีโอเทปเพื่อนำมาผลิตหรือบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกขาย ให้เช่า หรือให้ใช้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ การเข้าทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นั้นจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบถึงสิทธิของคู่สัญญาเสียก่อนว่ามีสิทธิอนุญาตหรือไม่เพียงใดเพื่อป้องกันปัญหาที่จำเลยร่วมที่ 1 อาจต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 เข้าทำสัญญากับจำเลยร่วมที่ 2 โดยมิได้ทำการตรวจสอบถึงสิทธิดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ก่อน เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรม นวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจอ้างว่าตนมีสิทธิตามสัญญาที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้ เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นซึ่งมีงานวรรณกรรมของโจทก์รวมอยู่ด้วยโดยทำเป็นวิดีโอเทปและนำม้วนวิดีโอเทปที่ทำขึ้นนั้นออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) และมาตรา 27 (1) หรือตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) และมาตรา 31 (1)
of 76