คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิชิต คำแฝง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 758 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7143/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ สิทธิเหนือที่ดิน การครอบครองปรปักษ์ และอายุความคดี
กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกเป็นของ ส. ผู้ซื้อฝากนับแต่โจทก์กับ ส. ได้ทำสัญญาขายฝาก การที่ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยชอบ แต่การที่จำเลยร่วมฟ้องขับไล่โจทก์และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยร่วมครบถ้วนแล้ว ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของโจทก์และเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่งแม้จะยังมิได้มีการจดทะเบียน ก็ไม่มีผลให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ เพียงแต่ทำให้ไม่บริบูรณ์ถึงขั้นเป็นทรัพยสิทธิ แต่ระหว่างคู่กรณีย่อมมีผลผูกพันต่อกันในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ ทำให้โจทก์มีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองใช้ยันจำเลยร่วมได้ และมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ด้วย เมื่อโจทก์ได้เข้าทำการปรับปรุงบริเวณที่ดินพิพาทตลอดมา เพื่อจะสร้างอาคารโรงเรียนขึ้นใหม่ในลักษณะแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของ การที่จำเลยเข้าไปปลูกเพิงอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าอาศัยสิทธิของจำเลยร่วมจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยร่วม
คดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยร่วมจะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ต่างกับคดีนี้ที่โจทก์ตั้งประเด็นในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทที่โจทก์ได้มาโดยสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วม ขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งอ้างว่าอาศัยสิทธิของจำเลยร่วมเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาท จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ที่ดินพิพาทแม้จำเลยร่วมมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินอยู่ แต่สิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมยังคงมีผลผูกพันต่อกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ การที่โจทก์ได้ใช้สิทธิดังกล่าวเข้าทำการปรับปรุงที่ดินโดยถางหญ้ากับทำความสะอาดภายในบริเวณที่ดินพิพาทอีกครั้งหนึ่งเพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารโรงเรียนขึ้นใหม่เป็นการยืนยันว่าโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนกระทั่งถูกจำเลยซึ่งเป็นบริวารของจำเลยร่วมบุกรุกเข้าไปสร้างโรงเรือนลักษณะเป็นเพิงชั้นเดียวฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7143/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินจากการเช่าซื้อ สิทธิยันจำเลยร่วมได้ แม้ยังมิได้จดทะเบียน
จำเลยร่วมซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกับโจทก์ ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนจากจำเลยร่วม หากโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อเสร็จสิ้น จำเลยร่วมยอมให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทันที และจำเลยร่วมจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุด โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยร่วมครบถ้วนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2536 คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยผลแห่งข้อกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วม ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงย่อมตกเป็นของโจทก์ และเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1229 วรรคหนึ่ง ผลแห่งนิติกรรมดังกล่าวนี้แม้จะยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็หามีผลทำให้นิติกรรม ตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ดังเช่นนิติกรรมซื้อขาย แลกเปลี่ยนหรือให้อสังหาริมทรัพย์ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง มาตรา 519 และมาตรา 525 บัญญัติไว้เป็นพิเศษไม่ เพียงแต่ทำให้ไม่บริบูรณ์ถึงขั้นเป็นทรัพยสิทธิเท่านั้น แต่ระหว่างคู่กรณีย่อมมีผลผูกพันต่อกันในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ ทำให้โจทก์มีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงใช้ยันจำเลยร่วมได้
ส่วนการที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเสียภายในสิบปีตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/30 หรือไม่ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังเช่นการบังคับคดีภายในสิบปี อันเป็นเหตุให้คดีหมายเลขแดงที่ 525/2532 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ฟ้องจำเลยร่วมให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ก็เป็นเพียงทำให้ความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของโจทก์ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิเท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมแล้ว จำเลยร่วมหามีสิทธิใดในที่ดินพิพาทที่จะใช้ยันโจทก์ได้ไม่ เมื่อได้ความว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5828/2534 ซึ่งพิพากษาให้เพิกถอนการขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในคดีที่โจทก์ร้องขัดทรัพย์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2534 แล้ว โจทก์ได้นำครูและนักเรียนเข้าปรับปรุงถางหญ้าในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตลอดมาเพื่อสร้างอาคารเรียนในลักษณะแสดงความเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ดังนี้การที่จำเลยเข้าไปปลูกเพิงในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอ้างว่าอาศัยสิทธิของจำเลยร่วมจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา)
คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 525/2532 ของศาลชั้นต้น เพราะคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยร่วมจะต้องดำเนินการจดทะเบียนสิทธิที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์หรือไม่เท่านั้น ต่างกับคดีนี้ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องตั้งประเด็นในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่โจทก์ได้มาโดยสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งอ้างว่าอาศัยสิทธิของจำเลยร่วมเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
ส่วนในปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น แม้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงยังมีชื่อจำเลยร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่สิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมยังคงมีผลผูกพันต่อกันในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่บนที่ดินพิพาท จนกระทั่งถูกจำเลยซึ่งเป็นบริวารของจำเลยร่วมบุกรุกเข้าไปก่อสร้างอาคารในที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 คดีโจทก์ในส่วนนี้เกี่ยวกับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
(ประชุมใหญ่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5402/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องของคู่สัญญารับขนของทางทะเล แม้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าไปแล้ว และข้อยกเว้นการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง
ใบตราส่งเป็นเอกสารที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ผู้ส่งของเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลแล้ว โจทก์จึงเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลย เมื่อปรากฏว่าของที่ระบุไว้ในใบตราส่งซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะได้ส่งสินค้าคืนให้แก่ผู้ขายไปโดยโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นต่อไปแล้วก็ไม่มีผลทำให้ความผูกพันตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นผลบังคับ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อปรากฏว่ายังไม่มีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่งและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้าคืน โจทก์ในฐานะเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลจึงชอบที่จะฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามสัญญารับขนของทางทะเลได้ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่
ตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่การสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดการกระทำโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าหรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าสินค้าได้รับความเสียหายจากลังสินค้าตกจากรถยกในระหว่างการขนย้ายสินค้าเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ หาใช่เกิดจากการที่โจทก์บรรจุหีบห่อสินค้าไม่แข็งแรงดังที่จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้คดีไม่ และฟังได้ว่าสาเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดจากการใช้รถยกขนย้ายสินค้าเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์โดยปราศจากความระมัดระวังอย่างมากและโดยไม่นำพาต่อความเสียหายใด ๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นแก่สินค้าจากการขนย้ายเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าจึงเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งคือจำเลยหรือตัวแทนเป็นผู้กระทำโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยจะนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มาใช้บังคับหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5190/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาและดอกเบี้ยผิดนัด: ศาลสั่งดอกเบี้ยตามกฎหมายเมื่อดอกเบี้ยในสัญญาสูงเกินกฎหมาย
ในการที่ธนาคารพาณิชย์ประกอบการธนาคารพาณิชย์นั้นต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 โดยเฉพาะในการเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวมาตรา 14 (2) บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้และหากธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 14 (2) ดังกล่าว ย่อมมีความผิดทางอาญาที่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท ตามมาตรา 44 และปรากฏว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 (2) ดังกล่าว คือประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศฉบับนี้ ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อ สรุปได้ว่าธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้า และอัตราสูงสุดที่จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกด้วยส่วนต่างสูงสุดตามที่ประกาศไว้ดังกล่าวแล้วเว้นแต่ในกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขจึงเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราที่ธนาคารพาณิชย์นั้นได้ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนั้นหากลูกค้ามิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราที่ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไม่ได้ และการฝ่าฝืนนั้น นอกจากจะเป็นการกระทำความผิดทางอาญาดังกล่าวแล้ว การเรียกดอกเบี้ยเช่นว่านั้นยังเป็นการขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันมีผลให้การกำหนดเรียกดอกเบี้ยนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี) นับแต่วันที่ธนาคารได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 นอกจากนี้โจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับผิดชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดซึ่งเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี และเมื่อนำสืบก็ปรากฏว่ามีการคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีทในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ธนาคารชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท ร้อยละ 19 ต่อปีเป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดอันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) และ 44 ดังกล่าวแล้วดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าว แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ป.พ.พ. มาตรา 224 ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขชื่อจำเลยในคำพิพากษาและการลงโทษความผิดเครื่องหมายการค้า
โจทก์ฟ้องบริษัทรุ่งชัยอะไหล่เทรดดิ้ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ที่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในช่องคู่ความว่าบริษัทรุ่งชัยเทรดดิ้ง จำกัดจึงเป็นกรณีการพิมพ์ผิดพลาดซึ่งชอบที่จะแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจที่จะแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดเครื่องหมายการค้า: การแก้ไขชื่อจำเลยที่พิมพ์ผิดพลาด และการเป็นตัวการร่วม
โจทก์ฟ้องและดำเนินคดีแก่บริษัทรุ่งชัยอะไหล่ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และนาง ร. กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทดังกล่าวเป็นจำเลยที่ 2 ดังนั้นที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในช่องคู่ความว่า บริษัทรุ่งชัย เทรดดิ้ง จำกัด จึงเป็นกรณีการพิมพ์ผิดพลาดซึ่งชอบที่จะแก้ไขได้ตาม ป.วิ.อ. มาตารา 190 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจที่จะแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ถูกต้องดังกล่าวได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ดังโจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงเป็นตัวการร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 โดยไม่ต้องปรับบทตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 114 อีก แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นนิติบุคคลและจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเครื่องหมายการค้าปลอม ความรับผิดของกรรมการบริษัท และการพิจารณาโทษ
ความผิดที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กรุงเทพมหานคร และสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทองซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยที่ 2 ถูกจับ จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสาม (ก) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีได้นั้นต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ซึ่งมีโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายเท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมทั้งสองมิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารฯ
การที่จำเลยที่ 2 มีอาหารปลอมไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่าย โดยที่อาหารดังกล่าวนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยก็ด้วยเจตนาเดียวว่าประสงค์จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม เมื่ออาหารปลอมนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยและกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานจำหน่ายสินค้าเครื่องหมายการค้าปลอมและอาหารปลอม ความรับผิดของจำเลยร่วม
ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108,110และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25,27,59 เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กรุงเทพมหานครและสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทองซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยที่ 2 ถูกจับจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง(3) และวรรคสาม(ก)โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 120
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งมีโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมทั้งสองมิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
จำเลยที่ 2 มีอาหารปลอมไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยที่อาหารดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยก็ด้วยเจตนาเดียวที่ประสงค์จะจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม เมื่ออาหารปลอมนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมและกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3584/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เนื่องจากศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาเพียงเล็กน้อย และการฎีกาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจโทษ
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 3 ปี ส่วนความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 43 (4) , 157 ซึ่งเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยไว้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเพียงแต่ปรับบทความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกซึ่งเป็นความผิดที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง กับแก้โทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้เบาลงจากจำคุก 3 ปี เหลือเพียงจำคุก 1 ปี จึงนับเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อยเท่านั้น คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท: เจตนาเดียวกันในการทำร้ายผู้เสียหายหลายคน
จำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าใครเป็นใคร ลักษณะของเจตนาในการกระทำความผิดเป็นอันเดียวกัน แม้จะมีการกระทำต่อผู้เสียหายสองคนด้วยกันก็อยู่ภายในเจตนาอันเดียวกันนั้น การที่จำเลยที่ 2กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกาย ส. เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส และทำร้าย ป. เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายในขณะเดียวกัน จึงถือว่าเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
of 76