คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5140/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า ‘DERMACREAM’ เป็นคำที่สื่อถึงลักษณะสินค้าโดยตรง ไม่เป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงแหล่งกำเนิด
แม้อักษรโรมันคำว่า DERMACREAM จะไม่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับใดและเป็นคำที่โจทก์คิดประดิษฐ์เองก็ตาม แต่คำว่า DERMA โจทก์ยอมรับว่าเป็นคำที่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงผิวหนัง แม้ภาษาอังกฤษจะมิใช่ภาษาประจำชาติหรือภาษาราชการของประเทศไทย แต่ก็เป็นภาษาที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันทั้งในแวดวงการศึกษาและธุรกิจ ย่อมทำให้คำว่า DERMA เป็นที่รู้จักและเข้าใจกันได้อย่างแพร่หลาย เพราะบุคคลทั่วไปสามารถศึกษาได้ รวมทั้งตามพจนานุกรมคำว่า DERMA ยังนำไปใช้ในศาสตร์ที่เกี่ยวกับผิวหนังด้วย ส่วนคำว่า DREAM พจนานุกรมก็ให้ความหมายไว้ว่า ของเหลว โจทก์เพียงนำเอาคำว่า DERMA กับคำว่า CREAM ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมมาเขียนติดกันเท่านั้น ซึ่งรายการสินค้าต่างๆ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนจำพวกที่ 3 และที่ 16 ล้วนเป็นสินค้าที่เป็นของเหลวหรือครีมซึ่งใช้สำหรับผิวหนังทั้งสิ้น คำว่า DERMACREAM จึงเป็นคำที่มีความหมายเล็งถึงลักษณะของสินค้าในจำพวกที่ 3 และที่ 16 ดังกล่าวโดยตรง อันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112-5113/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้า ‘โต๊ะกัง’ ที่เป็นชื่อเสียงและบ่งเฉพาะ ทำให้การใช้ชื่อทางการค้าอื่นคล้ายคลึงกัน ก่อให้เกิดความสับสนได้
คำว่า "โต๊ะกัง" เดิมนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ประกอบกิจการร้านค้าทองคำรูปพรรณและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" สำหรับสินค้าทองคำรูปพรรณของตนตั้งแต่ก่อนปี 2457 โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และใช้ชื่อร้านค้าว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งนำมาจากชื่อของนายโต๊ะกังเอง โดยที่คำดังกล่าวมิได้มีความหมายว่าร้านค้าทองคำแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำหลายรายนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาใช้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่มีผู้รู้จักและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วไปนิยมใช้คำนี้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าโดยเห็นว่า มีความหมายถึงร้านค้าทองคำ
ประชาชนผู้ซื้อสินค้าทองคำจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือซื้อทองคำที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" ย่อมสามารถพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เพื่อแยกแยะความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นี้ยังคงมีความหมายบ่งเฉพาะที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำว่า "โต๊ะกัง" จึงเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะได้และมิใช่คำสามัญที่หมายถึงร้านค้าทองรูปพรรณดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์ การที่โจทก์ทั้งสองนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาประกอบกับเครื่องหมายการค้าของตน จึงเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญอันมีลักษณะเด่น ประชาชนอาจสังเกตและจดจำได้ง่ายกว่าคำอื่นตลอดจนรูปที่โจทก์ทั้งสองนำมาประกอบ ทั้งคำว่า "โต๊ะกัง" ที่เขียนและอ่านออกเสียงได้เหมือนกันย่อมถือว่าเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ง่าย
ปัญหาข้อพิพาทในคดีที่ พ. ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนถูกฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของ พ. เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นั้น เมื่อยังไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ พ. แล้ว ย่อมไม่อาจถือได้ว่า พ. มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง
of 2