คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า DERMATIX/ULTRA มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้มีคำทั่วไป ศาลฎีกาเพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า DERMATIX เป็นคำที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรมและเป็นคำไม่มีความหมายหรือคำแปล สาธารณชนที่พบเห็นคำดังกล่าวย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่าเป็นคำที่สื่อความหมายเกี่ยวกับอะไร แม้คำดังกล่าวมีเสียงเรียกขานหรือคำอ่านคล้ายกับคำว่า Dermatic มีความหมายว่า ซึ่งเกี่ยวกับผิวหนัง ทำให้สาธารณชนที่ได้ยินเสียงเรียกขานหรือคำอ่านของคำว่า DERMATIX ที่โจทก์ขอจดทะเบียนอาจเข้าใจได้ว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าเกี่ยวกับผิวหนังก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวประกอบกับรายการสินค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 796655 สินค้าจำพวก 3 คือ ซิลิโคนสำหรับเสริมสวย สารที่เตรียมขึ้นเพื่อใช้รักษาผิวหนังที่เสียหาย แผลเป็น และแผล ที่ไม่มีส่วนผสมของยาแล้ว เห็นได้ว่า คำว่า DERMATIX ซึ่งมีเสียงเรียกขานหรือคำอ่านที่สื่อความหมายว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าเกี่ยวกับผิวหนังนั้น มีลักษณะเป็นเพียงคำหรือเครื่องหมายเชิงแนะนำ (Suggestive Mark) ที่ชี้ชวนหรือแนะนำให้ทราบเป็นเบื้องต้นว่าเป็นสินค้าที่ใช้เกี่ยวกับผิวหนังเท่านั้น โดยไม่ได้อธิบายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงว่าเป็นซิลิโคนสำหรับเสริมสวย สารที่เตรียมขึ้นเพื่อใช้รักษาผิวหนังที่เสียหาย แผลเป็น และแผล ที่ไม่มีส่วนผสมของยา และเนื่องจากสิ่งที่ใช้เกี่ยวกับผิวหนังมีได้หลายประเภท สาธารณชนโดยทั่วไปเมื่อเห็นหรือได้ยินเสียงเรียกขานหรือคำอ่านของคำหรือเครื่องหมายดังกล่าวยังไม่อาจทราบได้โดยทันทีว่าสินค้าของโจทก์มีลักษณะอย่างไรหรือคุณสมบัติของสินค้าเป็นอย่างไร คงทราบได้แต่เพียงว่าเป็นสินค้าเกี่ยวกับผิวหนัง โดยจะต้องคิด จินตนาการ สืบหาต่อไป หรือเห็นตัวสินค้าที่คำหรือเครื่องหมายนั้นติดอยู่จึงจะทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าได้ ดังนี้ เครื่องหมายการค้าคำว่า DERMATIX ของโจทก์จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรง มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2) (เดิม)
ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMATIX ULTRA ตามคำขอเลขที่ 796657 ซึ่งโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยาที่ใช้ในการรักษารอยแผลเป็นนั้น ภาคส่วนคำว่า DERMATIX เป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรง โดยมีเหตุผลทำนองเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMATIX ตามคำขอเลขที่ 796655 ที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น เนื่องจากรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนมีลักษณะอย่างเดียวกัน ส่วนภาคส่วนคำว่า ULTRA แม้เป็นคำซึ่งมีความหมายว่า เกิน อย่างรุนแรง ที่สุด หรือดีเยี่ยม และโดยตัวมันเองถือได้ว่าเป็นคำสามัญที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยทั่วไป อันเป็นคำที่มีลักษณะไม่บ่งเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับภาคส่วนคำว่า DERMATIX โดยภาพรวมแล้ว เห็นได้ว่า คำว่า ULTRA เป็นภาคส่วนประกอบที่ขยายความภาคส่วนคำว่า DERMATIX ซึ่งเป็นภาคส่วนสาระสำคัญ แต่โดยที่คำว่า DERMATIX นั้นเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้า ที่ขอจดทะเบียนดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น เมื่อพิจารณารวมกันแล้วเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMATIX ULTRA จึงเป็นคำหรือข้อความที่ไม่ได้อธิบายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าใดโดยตรง เพราะสาธารณชนไม่อาจทราบได้โดยทันทีว่าเป็นสินค้าประเภทยาที่ใช้รักษารอยแผลเป็น และคำว่า ULTRA ไม่อาจทำให้ทราบได้ว่าสินค้าที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยมนั้นคืออะไร เครื่องหมายการค้าคำว่า DERMATIX ULTRA จึงเป็นคำหรือข้อความที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรง จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) (เดิม) แต่เนื่องจากเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMATIX ULTRA ภาคส่วนคำว่า ULTRA เป็นคำที่มีลักษณะไม่บ่งเฉพาะดังกล่าวข้างต้น ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจมีคำสั่งให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้ส่วนดังกล่าวของเครื่องหมายการค้านั้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 (1) ดังนั้น ในการขอจดทะเบียนการเครื่องหมายการค้านี้จึงให้โจทก์แสดงการปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14583/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'COKE ZERO' มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้คำว่า 'ZERO' ไม่ได้ระบุคุณสมบัติสินค้าโดยตรง ศาลฎีกาพิพากษากลับให้รับจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้า ที่โจทก์ขอจดทะเบียนนั้นเป็นคำที่ใช้ประกอบกัน โดยในส่วนคำว่า COKE และ โค้ก มีลักษณะบ่งเฉพาะที่โจทก์ใช้มานานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่แล้ว ส่วนคำว่า ZERO แม้จะมีความหมายว่า ศูนย์ หรือไม่มีค่า และคำว่า ซีโร่ เป็นคำที่เลียนมาจากคำว่า ZERO ดังกล่าวทำให้มีความหมายเช่นเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อนำคำว่า ZERO และ ซีโร่ มาใช้ประกอบคำว่า COKE และ โค้ก ลักษณะการใช้และความหมายคำดังกล่าวยังไม่ถึงกับทำให้มีความหมายโดยตรงว่าเป็นเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล ส่วนการที่โจทก์อาจโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้ไม่มีส่วนผสมน้ำตาล ก็เป็นเพียงการโฆษณาสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบถึงลักษณะของสินค้าเครื่องดื่มของโจทก์ต่างหากจากความหมายของคำดังกล่าว คำว่า ZERO และ ซีโร่ เป็นเพียงคำหรือถ้อยคำที่อาจเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าก็ด้วยการเทียบเคียงและโฆษณาประกอบ ไม่ถึงขนาดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวก 32 ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้โดยตรง จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) และไม่จำต้องให้โจทก์แสดงการปฏิเสธไม่ขอถือคำว่า ZERO และ ซีโร่ เป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวหรือปฏิเสธอย่างอื่นตามมาตรา 17 (1) และ (2) เพราะนอกจากเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะทุกส่วนแล้ว คำว่า ZERO และ ซีโร่ ดังกล่าวนี้ บุคคลอื่นก็อาจนำไปใช้หรือประกอบคำอื่นในเครื่องหมายการค้าของตนเพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตราบเท่าที่ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่พึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประการอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22313/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ลักษณะบ่งเฉพาะและขอบเขตการผูกขาดสิทธิ
ไม่ว่าอักษรจีน คำว่า "เตี้ยน สุ่ย โหลว" จะแปลว่า ภัตตาคารที่ขายอาหารว่างและน้ำ หรือองค์การที่เกี่ยวกับน้ำก็ตาม แต่อักษรจีนคำว่า เตี้ยน สุ่ย โหลว เป็นอักษรจีนที่ใช้ทั่วไป อาจมีสำเนียงและลีลาการออกเสียงแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าเป็นภาษาจีนกลาง จีนแต้จิ๋ว หรือจีนกวางตุ้ง และสามารถแปลความหมายได้หลายอย่าง ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้ในเครื่องหมายการค้าหรือบริการของตนได้ บุคคลใดจะอ้างเป็นผู้ถือสิทธิของตนแต่ผู้เดียวไม่ได้
แม้เครื่องหมายบริการของโจทก์ยังมีอีกภาคส่วน คือ รูปรอยประดิษฐ์ลักษณะวงกลมอยู่บนอักษรจีนคำกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้วอาจทำให้เข้าใจว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายดังกล่าวแตกต่างไปจากบริการอื่น แต่เมื่ออักษรจีนดังกล่าวไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ก็เป็นกรณีที่ต้องให้โจทก์แสดงเจตนาว่าจะไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 17 วรรคหนึ่ง (1) แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายหรือมีคำขอท้ายฟ้องทั้งไม่ได้อุทธรณ์ไว้ จึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5451/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้ายและความเป็นเครื่องหมายเฉพาะ
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่ประกอบด้วยคำว่า "Mc" เป็นสาระสำคัญและใช้คำว่า "Mc" กับผลิตภัณฑ์อาหารหลายรูปแบบมาตลอด ส่วนบริษัท ฟ. ผู้ขอจดทะเบียน
ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน
ดังกล่าว จะมีภาคส่วนอักษรโรมัน คำพยางค์แรกว่า "Mac" และมีอักษรโรมันตัว M และ c เช่นเดียวกันกับคำว่า "Mc" ในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ก็ตาม แต่คำดังกล่าวเป็นคำที่มีความหมายโดยทั่วไปหมายถึงชาวสกอตแลนด์ จึงมิใช่คำประดิษฐ์ ผู้ขอจดทะเบียนจึงมีสิทธิใช้เป็นคำต้นของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้ เมื่อพิจารณาถึงเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์อาจเรียกขานได้แตกต่างกัน เช่น บิคแม็ค แม็คฟิช แม็คโดนัลด์'ส แม็คพิซซ่า แม็คเบอร์เกอร์ และแม็คทูไนท์ เป็นต้น ซึ่งมีเสียงเรียกขานแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนยังประกอบด้วยรูปประดิษฐ์นกอินทรี จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งไม่มีภาพหรือรูปประดิษฐ์ของสัตว์ใดเป็นสัญลักษณ์ แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าของตนมายาวนานและแพร่หลายเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่ต้องห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) และมาตรา 13 แม้คำว่า "Candy" ในเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 7 วรรคสอง (2) และผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนประกอบด้วยภาคส่วนอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะด้วย เมื่อพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้ว เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: คำว่า 'Von Dutch' ไม่ขัดต่อกฎหมาย และการพิพากษาเกินคำฟ้อง
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2543) เรื่อง เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2543 ข้อ 2 (2) กำหนดว่า เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้า แหล่งกำเนิดของสินค้า หรือความเป็นเจ้าของสินค้า เป็นเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ซึ่งประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (13) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันเป็นบทบัญญัติที่ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ ดังนั้น การตีความบทบัญญัติมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับ "แหล่งกำเนิดของสินค้า" นั้น หมายถึง เครื่องหมายหรือคำบรรยายที่สื่อความหมายถึงหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นประเทศ เมือง หรือสถานที่อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือที่มาของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยตรงเท่านั้น ไม่อาจตีความโดยขยายความให้หมายความรวมถึงเครื่องหมายหรือคำบรรยายที่สื่อความหมายถึงหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นคนสัญชาติของประเทศหรือบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ ด้วยได้ เพราะหากตีความโดยขยายความเช่นนั้นจะมีผลเท่ากับเป็นการไม่ให้นำคำที่สื่อความหมายถึงคนสัญชาติของประเทศหรือบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในสถานที่นั้นมาขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ทั้ง ๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้ง สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยคำว่า "Von" เป็นคำในภาษาเยอรมันที่แปลว่า "จาก ของ มาจาก" ส่วนคำว่า "Dutch" เป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า "ชาวเนเธอร์แลนด์" เมื่อนำคำทั้งสองคำมารวมเข้าด้วยกันเป็น "Von Dutch" ย่อมแปลความหมายได้ว่า "มาจากชาวเนเธอร์แลนด์" มีความหมายที่สื่อถึงคนชาติเนเธอร์แลนด์โดยตรง หาได้สื่อความหมายถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ อันเป็นชื่อเรียกสถานที่ซึ่งอยู่ในความหมายของ "แหล่งกำเนิดของสินค้า" ตามข้อ 2 (2) ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวไม่ เครื่องหมายการค้า คำว่า "Von Dutch" ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ จึงไม่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้า ทั้งยังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเพราะอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าด้วย และเมื่อนำไปใช้กับสินค้าที่ขอจดทะเบียนสามารถสื่อความหมายได้เพียงว่า สินค้าดังกล่าวมาจากหรือเป็นของคนชาติของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยรวมเท่านั้น ไม่อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้เป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง อันจะทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้านั้นได้
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 กระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวมีคำวินิจฉัยโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวและพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 นั้น ในปัญหานี้ปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในการออกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) มิได้ตั้งข้อหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ว่ากระทำการโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อในการออกคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการส่วนตัว จึงไม่ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2534 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2183-2184/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากลุ่มของสี: ลักษณะบ่งเฉพาะและความแตกต่างจากสินค้าอื่น
ปัญหาที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น เมื่อได้มีคำวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ในชั้นนี้มาโดยละเอียดซึ่งต้องมีการพิพากษาคดีในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางด้วยแล้ว ย่อมไม่จำเป็นที่ต้องมีการทุเลาการบังคับคดีอีกต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองเพราะไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2072/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'CHICLETS CRUNCH' มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้ 'CRUNCH' หมายถึงลักษณะสินค้า แต่โจทก์สละสิทธิ ทำให้เครื่องหมายการค้าเป็นที่รู้จักและแตกต่าง
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "CHICLETS CRUNCH" เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า หมากฝรั่ง ลูกอม ขนมหวาน แม้คำว่า "CRUNCH" ซึ่งแปลว่าเคี้ยว เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรง แต่โจทก์ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในคำดังกล่าวแล้ว และโจทก์ใช้คำว่า "CRUNCH" ประกอบกับคำว่า "CHICLETS" ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่มีในพจนานุกรม โดยตัวอักษรของทั้งสองคำมีขนาดเท่ากันและเรียงต่อกันเป็นลำดับ สาธารณชนย่อมทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าภายในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: ภาพประดิษฐ์ที่ไม่โดดเด่นและใช้ร่วมกับเครื่องหมายอื่น ย่อมไม่สามารถจดทะเบียนได้
เครื่องหมายการค้าอันพึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นด้วย สำหรับคดีนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปคลื่นประดิษฐ์ โดยโจทก์บรรยายถึงลักษณะของเครื่องหมายนี้ว่า "ใช้แถบเส้นที่มีขนาดกว้างและความหนาที่แตกต่างกัน และมีความเข้มของสีที่แตกต่างกันประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปคลื่นโปร่งขนาดใหญ่ที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแตกต่างจากเครื่องหมายอื่น เมื่อพิจารณาจากส่วนปลายแหลมด้านบนลงมาจะเห็นได้ว่าในช่วงต้นแถบเส้นจะมีขนาดเล็กและมีสีทึบ แต่แถบเส้นดังกล่าวจะขยายกว้างขึ้นในขณะที่เคลื่อนที่เป็นวงโค้งจากด้านซ้ายไปสู่ด้านขวา โดยความเข้มของสีแถบเส้นจะค่อยๆ จางลงไป จนกระทั่งมีสีอ่อนที่สุดแล้วแถบเส้นดังกล่าวก็จะเคลื่อนที่วกกลับเป็นวงโค้งทางซ้ายมือจนถึงปลายแหลมด้านล่าง ณ จุดนั้นแถบเส้นจะกลับมีลักษณะเป็นแถบเส้นที่มีขนาดเล็กและมีสีทึบอีกครั้ง แล้วเคลื่อนที่เป็นวงโค้งจากด้านขวากลับไปสู่ด้านซ้าย โดยแถบเส้นดังกล่าวจะขยายกว้างขึ้นและมีสีจางลง ในที่สุดจะวกกลับไปทางด้านขวาจดกับส่วนปลายแหลมด้านบน" จึงพิจารณาได้ว่าเครื่องหมายของโจทก์นี้เป็นภาพประดิษฐ์ตามความหมายของคำว่า "เครื่องหมาย" ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนี้ของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น ก็ย่อมถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 แต่จะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่นั้นย่อมต้องพิจารณาตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 ว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ ซึ่งเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์นี้เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะของรูปทรงเรขาคณิตโดยอาจมองได้ว่าเป็นการดัดแปลงมาจากรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
หรือรูปวงรี อย่างไรก็ดี แม้จะมีการตกแต่งด้วยเส้นโค้งและนำความหนาบางและระดับสีเข้มจางมาใช้เพื่อทำให้เกิดความสวยงามและแตกต่างไปจากรูปทรงเรขาคณิตดังกล่าว แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับรูปทรงเรขาคณิตอื่นทั่วๆ ไป โดยเฉพาะหากไม่ได้นำมาวางเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาพร้อมๆ กัน ต่างจากเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพประดิษฐ์รูปทรงเรขาคณิตอื่นซึ่งสามารถทำให้สาธารณชนเห็นถึงความแตกต่างได้ อันจะถือได้ว่าเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นจนมีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าโจทก์ที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วจะเห็นว่า เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ถูกใช้มาในลักษณะของกรอบภาพที่มีคำว่า "MILO" หรือ "ไมโล" ปรากฏอยู่ข้างในเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าอื่นๆ ทั่วไปในท้องตลาดก็มีการใช้กรอบภาพในลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่เช่นกัน แม้ว่าจะไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ แต่ก็เห็นได้ว่า ภาพประดิษฐ์ในลักษณะที่เป็นกรอบภาพเช่นนี้ไม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างใดในอันที่จะทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้าจดจำหรือแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าตามที่โจทก์กล่าวอ้างได้ หากนำไปใช้โดยลำพังกับสินค้าเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่นเช่นใด ถือว่าเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ไม่ใช่ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6)
เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ไม่ใช่ชื่อ คำหรือข้อความ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) หรือ (2) จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์การมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม มาพิจารณาได้ เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4128/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะ ห้ามใช้คำที่บ่งบอกลักษณะสินค้าโดยตรง
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ซึ่งทำขึ้นก่อนฟ้อง หลังจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตาม ได้มอบอำนาจไว้อย่างกว้างขวางและระบุไว้ชัดเจนว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีต่อสู้คดีทางอาญาและทางแพ่งอันเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในศาลได้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นการมอบอำนาจแก่ผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์แล้ว
การฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายืนตามคำสั่งของนายทะเบียน ไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ หรือในกฎหมายใดบัญญัติให้โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่ทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องภายหลังกำหนดดังกล่าวได้
โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นสาระสำคัญสองส่วน คือคำที่เป็นตัวอักษรโรมันสองคำรวมกันในลักษณะประดิษฐ์ คือคำว่า POPCORN อ่านว่า ป๊อบคอร์น แปลว่า ข้าวโพดคั่ว และคำว่า CHICKEN อ่านว่า ชิคเคน แปลว่าไก่ เมื่อรวมคำกันแล้วแปลว่า ไก่ข้าวโพดคั่ว เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 29 รายการสินค้า 18 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เน้นที่สัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม คำว่า POPCORN CHICKEN อาจจัดอยู่ในความหมายของสินค้ารายการที่ 1) เนื้อสัตว์ 2) ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ 4) สัตว์ปีกไม่มีชีวิต 5) ผลิตภัณฑ์ทำจากสัตว์ปีก และ 6) สัตว์ล่าไม่มีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้ารายการที่ 17) อาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม ทั้งเมื่อพิเคราะห์เฉพาะคำว่า POPCORN มีความหมายเดียวกันกับสินค้ารายการที่ 9) ผลไม้ที่ผ่านกรรมวิธี และที่ 10) ผักที่ผ่านกรรมวิธี ส่วนลำพังคำว่า CHICKEN ก็เป็นคำสามัญในการค้าขายสินค้าตามรายการข้างต้น เครื่องหมายการค้า POPCORN CHICKEN เมื่อจะนำไปใช้กับสินค้าต่าง ๆ ตามความประสงค์ของโจทก์ดังที่แสดงออกไว้ในคำขอจดทะเบียน จึงนับได้ว่ามุ่งประสงค์ที่จะให้เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้ารายการที่ 17) อาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 6 (1) หากยอมรับให้จดทะเบียนคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรงเช่นนี้ได้ย่อมจะทำให้โจทก์ผูกขาดการใช้คำสามัญที่แสดงลักษณะของการนำพืชหรือสัตว์มาทำการแปรรูปเป็นอาหาร อันเป็นการกีดกันสิทธิของบุคคลทั่วไปที่จะใช้คำเหล่านั้นโดยชอบเกี่ยวกับการค้าของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5140/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: คำว่า DERMACREAM เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะสินค้า จึงจดทะเบียนไม่ได้
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เป็นที่สุดนั้น ย่อมหมายถึงคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากผู้ขอจดทะเบียนยังไม่เห็นด้วยกับเหตุผลในคำวินิจฉัยว่าลักษณะของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอมีลักษณะไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรแล้ว ผู้ขอย่อมนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ทบทวนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้ ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ของโจทก์ โดยตั้งข้อหาไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ระบุรายการสินค้าในแต่ละคำขอไว้หลายรายการนั้นเป็นลักษณะของการพิจารณาเป็นรายคำขอ มิใช่ต้องพิจารณาสินค้าแต่ละชนิดในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนเมื่อนายทะเบียนพบลักษณะที่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าชนิดใดในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอนั้น หากโจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ต้องห้ามจดทะเบียนสำหรับสินค้าชนิดใดเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์มิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง โจทก์ก็ชอบที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าชนิดนั้นโดยระบุเฉพาะสินค้าชนิดนั้นในคำขอจดทะเบียนได้
เมื่อพิจารณาจากรายการสินค้าในจำพวกที่ 3 ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ซึ่งมีความหมายว่าครีมหรือของเหลวสำหรับผิวหนัง ล้วนเป็นสินค้าที่เป็นของเหลวหรือมีของเหลวอยู่ด้วยซึ่งใช้กับผิวหนังทั้งสิ้น โดยเฉพาะโลชั่นใช้กับเด็กอ่อนเห็นได้ชัดว่าเป็นของเหลวหรือครีมสำหรับผิวหนัง และสินค้าในจำพวกที่ 16 ก็เป็นสินค้าที่มีส่วนผสมของของเหลวหรือครีมสำหรับผิวหนัง คำว่า DERMACREAM จึงเป็นคำที่มีความหมายเล็งถึงลักษณะของสินค้าในจำพวกที่ 3 และที่ 16 ดังกล่าวโดยตรงอันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1) และ มาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
of 2