คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรพล เจียมจูไร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 434 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบชัดเจนตามเงื่อนไขที่กำหนด จึงมีผลผูกพัน
การที่บริษัท ภ. มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าที่จำเลยต้องชำระต่อบริษัท ภ. ไปให้แก่โจทก์ รวมทั้งหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยได้ระบุเป็นเงื่อนไขว่า บริษัท ภ. จะได้จดแจ้งการโอนหนี้ ค่าขายสินค้าไว้ในใบแจ้งหนี้ และเอกสารการซื้อขายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นว่าการแจ้งการโอนดังกล่าวมิได้เป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ในอนาคตทั้งหมด แต่เป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เฉพาะราย เป็นการเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะมีผลใช้ยันจำเลยได้ต่อเมื่อโจทก์ได้จดแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ดังกล่าวไว้ในใบแจ้งหนี้ที่ยื่นต่อจำเลยเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าใบรายการลูกค้า ใบวางบิล ใบส่งของชั่วคราวที่บริษัท ภ. มีไปถึงจำเลยไม่ได้ จดแจ้งเรื่องการโอนหนี้ตามเงื่อนไขที่บริษัท ภ. กำหนดไว้ จึงยังถือไม่ได้ว่าบริษัท ภ. ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิ เรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยทราบแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความผิดฐานครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: จำเลยต้องมีส่วนร่วมรู้เห็นการครอบครอง ไม่ใช่แค่พบของในบริเวณใกล้เคียง
ในบันทึกจับกุมและบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน แต่กลับปรากฏในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เห็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดคุยกับจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ไปนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 120 เม็ด มาจากเสาด้านข้างบันไดบ้านมามอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดังนั้น คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็ไม่มีส่วนใดแสดงถึงการที่จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นครอบครองเมทแอมเฟตามีนจำนวน 120 เม็ดดังกล่าวเลย เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคนไปหยิบมาส่งมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจที่จะแสดงได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นครอบครองร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา เมื่อโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดแจ้ง แต่โจทก์ก็ได้นำสืบได้ไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายนัดผ่านทนายความ แม้ทนายขอถอนตัวแต่ศาลยังไม่อนุญาต ถือว่าชอบแล้ว
การที่ ส. ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอนุญาต ทนายจำเลยจึงยังมีฐานะเป็นคู่ความอยู่ แม้หลังจากนั้น ส. ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยอีก ก็ไม่ทำให้ ส. พ้นจากการเป็นทนายความของจำเลย เมื่อเจ้าพนักงานศาลนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปส่งให้ ส. โดยวิธีปิดหมาย จึงเป็นการส่งหมายนัดโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ถือว่า ส. ทนายจำเลยทราบกำหนดนัดแล้ว แม้จะมีการส่งหมายนัดไปให้จำเลยจะมิชอบ ก็ไม่เป็นผลให้การส่งหมายนัดให้ทนายจำเลยไม่ชอบไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1658/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางค่าธรรมเนียมศาลกับการรับพิจารณาอุทธรณ์: ศาลต้องรับอุทธรณ์หากวางค่าธรรมเนียมครบถ้วน
ในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์จำเลยได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้ ส่วนการที่จำเลยวางเงินค่าธรรมเนียมและค่าขึ้นศาลไม่ครบถ้วน ก็เป็นเรื่องของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่จะมีคำสั่งต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1657/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาต้องส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยให้ยื่นคำร้องขอนุญาตต่อศาลชั้นต้นพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความฝ่ายอื่นยื่นอุทธรณ์และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาแล้ว ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่จำเลยอุทธรณ์ จึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของโจทก์เพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น หาเป็นข้อยกเว้นให้ไม่ต้องส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด คำสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1655/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: คดีครอบครองปรปักษ์เปลี่ยนเป็นคดีพิพาทกรรมสิทธิ์ มีทุนทรัพย์ต่ำกว่า 3 แสนบาท ศาลแขวงมีอำนาจ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านทั้งสี่ ผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแต่อนุญาตให้ผู้ร้องอยู่อาศัย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ มิใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือทุนทรัพย์ของคดีไม่เกินสามแสนบาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพาทตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบ 25 (4) ศาลจังหวัดไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: มูลคดีเกิดจากสถานที่รับบัตรเครดิต ไม่ใช่สำนักงานใหญ่
คำว่า มูลคดี หมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง เมื่อใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตของจำเลยระบุว่า สถานที่รับบัตรและส่งใบเรียกเงินคือที่ทำงานของจำเลย ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มิใช่สำนักงานใหญ่ของธนาคารโจทก์ ดังนั้น การอนุมัติและการออกบัตรเครดิตโดยสำนักงานใหญ่ของโจทก์จึงเป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติของโจทก์เท่านั้น เมื่อจำเลยรับบัตรเครดิต ณ ที่ทำงานของจำเลย อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเลยจะสามารถนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้แทนการชำระค่าสินค้าค่าบริการ หรือใช้ถอนเงินสดจากสถานประกอบกิจการค้าหรือธนาคารที่มีข้อตกลงในการรับบัตรของโจทก์ จนเป็นเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิและมูลหนี้ตามฟ้อง หากปราศจากเหตุและขั้นตอนสุดท้ายดังกล่าวเสียแล้ว โจทก์จำเลยย่อมไม่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับบัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่อกัน เช่นนี้ มูลคดีจึงมิได้เกิดขึ้น ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ การโอนเช็คโดยสุจริต และความรับผิดของผู้สั่งจ่าย
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 เมื่อเช็คพิพาทตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ถือ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้ถือ ย่อมเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามเช็คได้ จำเลยที่ 2 ไม่อาจต่อสู้โจทก์ด้วยข้อต่อสู้อาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1402/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์อุทธรณ์ฎีกาแยกรายโจทก์, การวางค่าขึ้นศาลเกิน, ศาลชอบที่จะพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวางเงินครบถ้วน
แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องรวมกันมาในคดีเดียวและเสียค่าขึ้นศาลรวมกันมา แต่การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จากทุนทรัพย์ 235,350 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาลเพียง 5,885 บาท มิใช่เสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ 412,500 บาท โจทก์ที่ 1 ทยอยนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาล 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 7,000 บาท ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย ซึ่งเป็นการวางเงินเกินกว่าที่ต้องเสียเป็นเงิน 1,115 บาท แต่โจทก์ที่ 1 สำคัญผิดว่ายังชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ครบ จึงได้ขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ได้ ตั้งแต่วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ครบถ้วนและสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ยื่นหลังจากที่โจทก์ที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ครบถ้วน การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาวางเงินของโจทก์ที่ 1 และในที่สุดมีคำสั่งไม่อนุญาตขยายระยะเวลาวางเงินของโจทก์ที่ 1 ในครั้งต่อมาพร้อมกับสั่งไม่รับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1402/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณทุนทรัพย์อุทธรณ์ฎีกาแยกรายโจทก์ และการวางค่าขึ้นศาลที่ครบถ้วน
แม้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จะฟ้องรวมกันมาในคดีเดียวกันและเสียค่าขึ้นศาลรวมกันมา แต่การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนสามารถใช้สิทธิเฉพาะตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แยกต่างหากจากกันได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ราคาไร่ละ 300,000 บาท ทุนทรัพย์ในส่วนของโจทก์ที่ 1 จึงคิดเป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิในที่ดิน 1 ใน 9 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 86.2 ตารางวา แต่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ได้ที่ดินพิพาทเนื้อที่เต็มตามฟ้อง จึงเท่ากับขอให้ได้ที่ดินเพิ่มอีก 313.8 ตารางวา คิดเป็นเงิน 235,350 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 5,885 บาท มิใช่เสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ 412,500 บาท
โจทก์ที่ 1 ได้ทยอยนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาล 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 7,000 บาท โดยครั้งที่ 2 นำมาวางในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้และวางเกินกว่าที่ต้องเสียแต่โจทก์ที่ 1 สำคัญผิดว่ายังชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ครบจึงขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ออกไปอีก ดังนี้ ถือว่าโจทก์ที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ได้ตั้งแต่นั้นและสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ยื่นหลังจากนั้น เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่จำต้องขอขยายระยะเวลาวางเงินอีกต่อไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาวางเงินให้โจทก์ที่ 1 ต่อไปอีก และในที่สุดมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในครั้งต่อมาพร้อมกับสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 เพราะเหตุโจทก์ที่ 1 ไม่นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
of 44