คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 164 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6559/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบ: จำเลยอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งประเด็นความผิด, ฎีกาจึงยกประเด็นใหม่ไม่ได้
จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์โดยมิได้กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไม่ถูกต้องในข้อหาใด อย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์และเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6375/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขายท่อเพื่อหักเงินมัดจำ: จำเลยไม่ยินยอม โจทก์ไม่มีสิทธิขาย
การที่โจทก์ตกลงซื้อลมและแก๊สจากจำเลยโดยโจทก์วางเงินมัดจำ(ประกัน)ค่ายืมท่อบรรจุลมและแก๊สไว้แก่จำเลย ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยมารับท่อและคืนเงินมัดจำ มิฉะนั้นจะนำท่อออกขายทอดตลาด อันเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์แม้จำเลยได้ทราบแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ตกลงด้วย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำท่อออกขายตามที่ได้แจ้ง ทั้งนี้เพราะสัญญาซื้อขายและสัญญายืมท่อระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะขายท่อของจำเลยเพื่อนำเงินมาหักออกจากเงินมัดจำค่ายืมท่อ แม้จำเลยจะมีหน้าที่ต้องคืนเงินมัดจำค่ายืมท่อให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องคืนท่อให้แก่จำเลยเช่นกัน เมื่อโจทก์นำท่อของจำเลยไปขายโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำท่อแก่โจทก์ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5448/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการตามขอเป็นคนอนาถา: การงดสืบพยานและผลกระทบต่อการดำเนินคดี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง จำเลยทั้งสามทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้วไม่มาศาล และไม่ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้งดสืบพยานจำเลย เมื่อจำเลยไม่นำพยานมาสืบจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนอนาถา ให้จำเลยทั้งสามนำค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายใน 15 วันนั้น เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องของจำเลยทั้งสามแล้วว่า จำเลยทั้งสามไม่ใช่คนอนาถา จะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสาม คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5203/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยต้องรับผิดในเช็คปลอม หากไม่ได้ต่อสู้เรื่องประมาทเลินเล่อของโจทก์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ได้
จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า เช็คพิพาทเป็นของโจทก์ มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและตราประทับตรงกับตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลย จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ ว. ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีนอกประเด็นหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท คดีก็ไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้สืบสันดานผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องแทนหากผู้เสียหายไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตาย
ว. บิดาโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตายตามมาตรา 5 (2) โจทก์ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานจึงไม่มีอำนาจจัดการแทน ว. ฟ้องจำเลยได้ เมื่อ ว. เพียงแต่ร้องทุกข์โดยยังไม่ได้ฟ้องคดี ย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29 ที่โจทก์จะดำเนินคดีต่าง ว. ผู้ตายต่อไปได้ โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาของผู้สืบสันดานเมื่อผู้เสียหายเสียชีวิต โดยไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตาย
ว. บิดาโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. ตายโดยไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตายตามมาตรา 5 (2) โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานจึงไม่มีอำนาจจัดการแทน ว. ฟ้องจำเลยได้ ปรากฏว่า ว. เพียงแต่ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น ยังไม่ได้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29 ที่โจทก์จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และเมื่อ ว. ตายสิทธิที่ ว. ได้ร้องทุกข์ไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 เพราะการฟ้องคดีต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เสียแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4870/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษฐานช่วยเหลือตำรวจค้นยาเสพติดและการแก้ไขโทษตามกฎหมายใหม่
เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับ เจ้าพนักงานตำรวจย่อมนำจำเลยที่ 1 ไปค้นหายาเสพติดให้โทษที่บ้านจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลและพาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเมทแอมเฟตามีนที่บ้านจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดในตั๋วสัญญาใช้เงิน การสลักหลังห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยขัดต่อกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 899 บัญญัติว่า "ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่" อันเป็นบทบัญญัติเบ็ดเสร็จทั่วไปใช้บังคับกับตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค ส่วนมาตรา 915 บัญญัติว่า "ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดีจะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน?" ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไปเช่นเดียวกับมาตรา 899 และ มาตรา 985 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 915 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความว่า ห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อมาตรา 983 (2) หาเป็นผลบังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 899 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3952/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบหลังคดีถึงที่สุด การพิมพ์หมายเลขทะเบียนผิดพลาดไม่อาจขยายระยะเวลาได้
แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.อ. มาตรา 36 แต่การที่ผู้ร้องพิมพ์หมายเลขทะเบียนรถยนต์บรรทุกของกลางในคำร้องผิดพลาด เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องนั้น เป็นความผิดของผู้ร้องเองไม่อาจถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางให้แก่ผู้ร้องได้ ทั้งระยะเวลาขอคืนทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 36 ไม่อาจขยายออกไปเป็น 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 98 (4) ซึ่งเป็นอายุความล่วงเลยการลงโทษสำหรับจำเลยผู้ที่ยังไม่ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางใหม่เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดจึงเกินกำหนดระยะเวลาตาม ป.อ. มาตรา 36

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3838/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับชำระหนี้โดยไม่สงวนสิทธิทำให้สิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาเป็นอันตกไป
จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของจำเลย แต่โจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ปัจจุบันจำเลยได้เข้าอยู่และใช้อาคารพาณิชย์ดังกล่าวแล้ว กรณีไม่ได้เป็นเรื่องจำเลยรับมอบอาคารพาณิชย์ทั้งที่ชำรุดบกพร่อง อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องตามมาตรา 598 แห่ง ป.พ.พ. สิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 การที่จำเลยยอมเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารพาณิชย์ที่ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างแล้ว ถือได้ว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้แล้ว โดยจำเลยไม่สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับในเวลาที่จำเลยยอมรับชำระหนี้ จำเลยจึงเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาไม่ได้
of 17