คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,250 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขืนใจเรียกทรัพย์ด้วยการแจ้งเท็จเรื่องการจับกุมและประกันตัว ไม่เข้าข่ายความผิดฐานกรรโชกทรัพย์เนื่องจากขาดองค์ประกอบการขู่เข็ญ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อุบายข่มขืนใจ อ. ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้จำเลยกับพวกได้รับเงินจำนวน 80,000 บาท อันเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยจำเลยกับพวกขู่เข็ญ แจ้งเท็จแก่ อ. ว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจับไปโดยไม่ทราบข้อหา หากมีเงินสองแสนบาทจะเอาไปประกันตัวผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และบอกว่าจะช่วยเต็มที่ เป็นเหตุให้ อ. หลงเชื่อและเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียงของผู้เสียหายยอมมอบเงิน 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวก เห็นว่า การที่จำเลยบอกว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ย่อมไม่ใช่คำพูดที่เป็นการขู่เข็ญหรือข่มขู่ว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ทั้งไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย คำบอกดังกล่าวบอกด้วยว่าหากมีเงินก็จะเอาไปประกันตัวผู้เสียหาย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าถ้าไม่มีเงินก็คงไม่ไปประกันตัวผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการตามกฎหมาย การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือเจ้าพนักงานตำรวจจะให้ประกันผู้ต้องหาก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การข่มขู่หรือการขู่เข็ญ คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6142-6144/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาแน่นอน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
การพิจารณาว่ามีเหตุยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคสี่หรือไม่ ต้องพิจารณาเสียก่อนว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่ หากเป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างหรือไม่ และงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลย ข้อ 7 ระบุอย่างเดียวกันว่า "ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความประสงค์จะเลิกสัญญานี้จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15/30 วัน เว้นแต่การเลิกสัญญาตามความในข้อ 6 แสดงว่าแม้สัญญาจ้างจะกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แล้ว ก็ยังให้สิทธิจำเลยเลิกสัญญาโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ที่ 2 หรือโจทก์ที่ 3 ทราบล่วงหน้าได้ สัญญาจ้างที่ให้สิทธิจำเลยผู้เป็นนายจ้างบอกเลิกสัญญาได้ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่นนี้ ระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน และเมื่อไม่เป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4898/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิด พ.ร.บ.จัดหางานฯ เรียกเก็บค่าบริการเกินอัตรา และไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้รับอนุญาต
จำเลยทั้งสองได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองประกาศและรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ แล้วเรียกค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด และไม่ออกใบรับตามแบบที่อธิบดีกำหนดให้แก่คนหางาน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคสอง ประกอบมาตรา 47 และการกระทำแต่ละกรรมย่อมเป็นความผิดสำเร็จต่างกรรมกัน
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 36 (1) เป็นบทบังคับให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศต้องปฏิบัติ จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่มีสัญญาหรือไม่ได้ทำสัญญาจึงไม่มีสัญญาและหลักฐานส่งให้อธิบดีกรมการจัดหางานพิจารณาอนุญาตก่อนไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1210/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเกิน 15 หน่วยการใช้ ถือเป็น 'มีไว้เพื่อจำหน่าย' แม้ไม่ได้บรรยายฟ้องชัดเจน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 17 เม็ด (หน่วยการใช้) ซึ่งจำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไปไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการบรรยายฟ้องว่า จำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนเป็นหน่วยการใช้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครอง จึงถือได้ว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11613/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: การกระทำผิดร้ายแรงต้องมีเจตนาและผลกระทบต่อบริษัท และต้องมีการตักเตือนเป็นหนังสือ
แม้ ส. จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์เพื่อการส่วนตัวแจกจ่ายไปยังเพื่อนร่วมงานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์และรูปถ่ายที่จัดส่งไปเป็นภาพโป๊ลามกอนาจารซึ่งไม่เหมาะสม แต่เมื่อผู้รับก็ทราบว่าผู้ที่ส่งมาคือ ส. กระทำในนามส่วนตัว มิใช่กระทำในนามบริษัทโจทก์ ความเสื่อมเสียโดยตรงก็น่าจะตกแก่ ส. เอง ไม่เกิดผลกระทบต่อโจทก์มากนัก พฤติการณ์แห่งการกระทำของ ส. จึงยังไม่ถึงกับเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์จะเลิกจ้าง ส. โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ทั้งยังถือไม่ได้ว่า ส. ตั้งใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันจะทำให้โจทก์เลิกจ้าง ส. ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีกเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7262/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามเรื่องข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ปรากฏในฟ้องเดิม แม้การตายของผู้เสียหายจะเป็นผลจากการกระทำจำเลย
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของโจทก์ร่วมทั้งสองด้วย ซึ่งตามคำฟ้องดังกล่าวระบุว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพและเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ดังนั้น ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายภายหลังโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นอุทธรณ์แล้ว การตายของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นความสัมพันธ์และเป็นผลธรรมดาที่เกิดจากการกระทำของจำเลยย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 อันมีผลทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้นนั้น เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ระบุในฟ้องดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้องและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งซื้อพัสดุเพื่อเลี่ยงวิธีสอบราคาถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ และเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ระเบียบโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 16 กำหนดว่า "การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจะจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อให้อำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้" การที่นาย ม. ได้แบ่งการจัดซื้อจากใบสั่งของฝ่ายต่างๆในบริษัทแยกเป็นการจัดซื้อแต่ละใบไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อจะได้ทำการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษไม่ต้องใช้วิธีสอบราคา จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2547 ข้อ 16 และเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้างนาย ม. ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคท้าย และ ป.พ.พ. มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16007/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน การจ่ายค่าอาหารหรือหยุดชดเชยไม่สามารถใช้แทนได้
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62, 63 บัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติในการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยเคร่งครัดตามอัตราที่กำหนดไว้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาเพื่อคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าแรงงาน จึงกำหนดอัตราค่าแรงงานไว้มิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ถือว่าเป็นบทบังคับเด็ดขาด ซึ่งจะตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าอาหาร ค่าจ้างโดยคำนวณจากยอดขายสินค้า และจัดให้ลูกจ้างหยุดชดเชยในวันอื่น โดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16007/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดนายจ้างต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน การจ่ายค่าอาหารหรือหยุดชดเชยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังต่อไปนี้ (1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย" และมาตรา 63 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย" ดังนั้น การที่จำเลยให้ลูกจ้างและโจทก์ทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าอาหาร ค่าจ้างโดยคำนวณจากยอดขายสินค้า และจัดให้ลูกจ้างหยุดชดเชยในวันอื่น โดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15904/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน: ความรับผิดจำกัดเฉพาะการทำงานในตำแหน่งเดิมที่ระบุในสัญญาค้ำประกัน
จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์มีข้อความระบุว่าตามที่โจทก์รับจำเลยที่ 1 ไว้เป็นพนักงานในตำแหน่ง PASSENGER SERVICE หากจำเลยที่ 1 กระทำการใดเป็นการเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่าด้วยประการใดๆ จำเลยที่ 2 จะขอรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามความเป็นจริง เป็นกรณี จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่ง PASSENGER SERVICE จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมชำระหนี้กรณีจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ในขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่ง PASSENGER SERVICE เท่านั้น
ตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์มีอำนาจอนุมัติบัตรโดยสารเครื่องบินราคาพิเศษหรือบัตรโดยสารไม่คิดราคา โจทก์ย้ายตำแหน่งจำเลยที่ 1 ไปทำหน้าที่เลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ มีหน้าที่ส่งคำสั่งอนุมัติไปให้เจ้าหน้าที่พิมพ์คำสั่งออกบัตรโดยสารราคาพิเศษ หรือรับบัตรโดยสารมาก่อนแล้วให้ผู้โดยสารมารับบัตรและชำระราคาที่จำเลยที่ 1 (จำเลยที่ 1 รับชำระราคาไว้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์) เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 สามารถกระทำการทั้งในหน้าที่ตามระเบียบและฝ่าฝืนระเบียบ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันมากขึ้นเกินกว่าที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานในขณะทำหน้าที่เลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ ไม่ใช่ในขณะทำงานตำแหน่ง PASSENGER SERVICE จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
of 125