พบผลลัพธ์ทั้งหมด 129 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีละเมิด: การรู้ถึงการละเมิดของนิติบุคคล และอำนาจของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง
โจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งในระหว่างเกิดเหตุมี ส. เป็นผู้ว่าการ ส. จึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การที่ น. ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายอันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าโจทก์รู้ด้วยหาได้ไม่ เพราะ น. ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ส่วนคำสั่งของโจทก์เรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองอำนวยการและกองกฎหมายนั้น เป็นเพียงคำสั่งกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภายในองค์กรของโจทก์เท่านั้น การที่ น. มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่วางตามปกติ ไม่ใช่เป็นการกระทำแทนผู้ว่าการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะของตัวการตัวแทนอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ว่าการ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ส. ผู้ว่าการของโจทก์ได้ทราบเรื่องตามที่เจ้าหน้าที่เสนอมาตามลำดับชั้นและลงนามอนุมัติให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8696/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการครอบครองทรัพย์สินหลังเลิกสัญญาเช่า: กำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเสียหายที่จำเลยยังคงครอบครองรถแท็กซี่ของโจทก์ ทำให้โจทก์ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินที่เช่าออกให้เช่าโดยอาศัยเหตุมาจากการเลิกสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้จะเรียกวันละ 400 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับค่าเช่า แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าค้างชำระ กรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7312/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการเป็นเจ้าสำนักและเดินโพยพนันฟุตบอล การปรับบทความผิดตามกฎหมาย
แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าการเดินโพยของจำเลยทั้งสองก็เพื่อให้สามารถมีการเล่นการพนันทายผลฟุตบอลสำเร็จลุล่วง และเป็นหน้าที่ต่อเนื่องจากการเป็นเจ้าสำนักโดยจำเลยทั้งสองมิได้จัดให้บุคคลอื่นเป็นคนเดินโพย การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนและเป็นคนเดินโพยฝ่ายเจ้ามือในการพนันทายผลฟุตบอล ซึ่งต่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวคือ จำเลยทั้งสองเป็นทั้งเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนและเป็นคนเดินโพยฝ่ายเจ้ามือในการพนันทายผลฟุตบอล ตามลักษณะหรือสภาพแห่งการกระทำทั้งสองกรณีนั้นต่างเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ แม้จะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเดียวกันก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่ปรากฏในคำฟ้องจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7009/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพนัน: ลดโทษจำคุกอาชีพเจ้ามือรับกินรับใช้ แม้พฤติการณ์ร้ายแรง แต่โทษรวมสูงเกินไป
จำเลยทั้งสองเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบหลายงวด ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำเป็นอาชีพ พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสองไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว รวมทั้งอ้างความจำเป็นในการกระทำความผิด ก็มิใช่เหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ตามโทษจำคุกที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในแต่ละกระทงมีกำหนดเวลาน้อยกว่าสามเดือน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกได้ ตาม ป.อ. มาตรา 55 แม้จะปรากฏว่าโทษจำคุกที่กำหนดใหม่จะต่ำกว่าอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำตามมาตรา 12 (1) แห่ง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิผู้ค้ำประกันและผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการมรดกของผู้ตาย
นอกจากผู้คัดค้านกับผู้ตายจะอยู่กินกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยตามปกติธรรมดาของสามีภริยาทั่วไปแล้ว ผู้คัดค้านยังได้เข้าค้ำจุนช่วยเหลือธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้ตายโดยยอมเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมกับผู้ตายในการผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่อีกด้วย ซึ่งการเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมดังกล่าว ทำให้ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยจากกองมรดกของผู้ตายเพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น ทั้งยังเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดาที่มีเหนือผู้ตายได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลที่ต้องถูกกระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่อันเนื่องจากการจัดแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5288/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งมอบยาเสพติดระหว่างผู้กระทำผิดร่วมกันไม่ถือเป็นการจำหน่าย แต่มีเจตนาครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นความผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามฟ้องจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 4 เพราะการจำหน่ายหมายถึงการจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน แต่พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำนวนเมทแอมเฟตามีนถึง 1,818 เม็ด เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ให้ยกฟ้องในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงเป็นการไม่ชอบ แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4921/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกสัญญาเช่าซื้อ การคืนสภาพสู่ฐานะเดิม และการเรียกร้องค่าเสียหายจากการใช้ทรัพย์สิน
จำเลยให้การโดยชัดแจ้งว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ทั้งปรากฏตามหลักฐานใบรับรถซึ่งจำเลยเป็นฝ่ายอ้างส่งว่า โจทก์ได้รับรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ดังนั้น จึงต้องฟังว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ดังนั้น คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้ทรัพย์สินและค่าเสียหายจากจำเลยได้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพรถที่เช่าซื้อซึ่งเป็นรถใหม่ และการนำรถไปใช้บรรทุกดินเพื่อรับจ้างของจำเลยแล้ว เห็นควรกำหนดค่าใช้ทรัพย์สินและค่าเสียหายแก่โจทก์เท่ากับค่าเช่าซื้อที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ในแต่ละเดือน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงโดยอ้างว่าเป็นข้อกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ชี้เป็นการอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ขณะที่ทำคำขอสินเชื่อ สัญญากู้เงิน และสัญญาค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนจันทร์ สะพาน 5 ยังไม่ได้จดทะเบียนสาขา ไม่อาจมีการมอบอำนาจจากโจทก์ให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการสาขา นิติกรรมที่ทำที่สาขาถนนจันทร์ สะพาน 5 ไม่อาจใช้บังคับได้ สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเงินกู้จึงตกเป็นโมฆะนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 มิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นการยกเหตุแห่งการต่อสู้ขึ้นใหม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ดำเนินการได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า อ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันแทนโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและรับฟังว่าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครรับจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไว้โดยมีการมอบอำนาจไม่ขาดสาย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2063/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตการลงโทษตามบทมาตราที่อ้างในฟ้อง และการอุทธรณ์คดีอาญาที่ศาลยกฟ้อง
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 358 และ 362 ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินสามปีและไม่เกินหนึ่งปีตามลำดับ โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยต้องด้วยเหตุฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 359 (4) และมาตรา 365 (2) แต่การที่พนักงานอัยการโจทก์อ้างบทมาตรามาในฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 358 และมาตรา 362 มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เพราะโจทก์อ้างมาตราตามข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า แต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องและตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 192 วรรคสี่ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทฉกรรจ์ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยต้องด้วยเหตุฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 359 (4) และมาตรา 365 (2) แต่การที่พนักงานอัยการโจทก์อ้างบทมาตรามาในฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 358 และมาตรา 362 มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เพราะโจทก์อ้างมาตราตามข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า แต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องและตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 192 วรรคสี่ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทฉกรรจ์ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง