คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 86 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินมรดก, การโอนสิทธิ, และความสุจริตของผู้รับโอน: กรณีเพิกถอนนิติกรรม
เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 จะว่ากล่าวกันต่างหาก ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้
โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริต แต่กลับบรรยายฟ้องว่าแม้จำเลยที่ 3 รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ อันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 87 (1)
การที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตายเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ 3 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 แล้ว การที่จะเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยแต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5916-5917/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: สัญญาและผลผูกพัน, การคัดค้านการจดทะเบียน, ศาลแก้ไขคำพิพากษา
ที่ผู้ร้องสอดโต้แย้งโจทก์เกี่ยวกับสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีมีปัญหาตีความข้อความในสัญญา และตามอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดก็ไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดต้องนำสืบพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงใด เมื่อข้อความในสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยตีความข้อสัญญาได้ ย่อมไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอีกต่อไป ส่วนในปัญหาว่าเครื่องหมายบริการคำว่า "METALEX" ของโจทก์กับเครื่องหมายบริการคำว่า "METALTECH" ของผู้ร้องสอดคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของบริการหรือไม่ ตามรูปคดีและลักษณะของเครื่องหมายบริการดังกล่าวก็สามารถวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความคล้ายกันหรือไม่ได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอีกต่อไปเช่นกัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมมีอำนาจสั่งงดสืบพยานได้โดยชอบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง และ 104 วรรคหนึ่ง
ข้อความในสัญญายุติข้อพิพาท ข้อ 2 (b) ไม่มีข้อความเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ และในส่วนข้อความเกี่ยวกับการใช้คำว่า "METALTECH" ของผู้ร้องสอดที่ตกลงกันเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นที่คล้ายกับคำว่า "METALEX" น้อยลง ล้วนเป็นข้อตกลงในเรื่องการกระทำหรืองดเว้นกระทำการซึ่งแตกต่างจากการแสดงเจตนาสละประเด็นข้อพิพาท จึงไม่อาจแปลข้อความสัญญายุติข้อพิพาทถึงขนาดว่าโจทก์และผู้ร้องสอดตกลงสละประเด็นเกี่ยวกับข้อพิพาทในการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายบริการ ของโจทก์และเครื่องหมายบริการ "METALTECH" ของผู้ร้องสอดมีการใช้คำในส่วนภาคสำคัญคล้ายกัน ประกอบกับโจทก์ยังเป็นผู้มีสิทธิห้ามผู้ร้องสอดใช้เครื่องหมายบริการตามสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความ และการที่ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่ใช้คำว่า METALTECH ก็เพื่อให้เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายบริการนี้สำหรับบริการประเภทเดียวกับโจทก์ตามที่ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 44 ซึ่งการใช้เครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH เช่นนี้ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายบริการดีกว่าผู้ร้องสอด จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67 และแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยในคดีนี้โดยตรง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องสอดได้ทำสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีผลให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าและมีสิทธิห้ามผู้ร้องสอด ทั้งมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดด้วย และเมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความโดยอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนให้แล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอด จึงร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรองและคุ้มครองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดโดยสมัครใจเองเพื่อยังให้ผู้ร้องสอดได้รับความรับรองและคุ้มครองอันมีผลให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ถือเสมือนหนึ่งว่าคดีในส่วนระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเพื่อร้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67 ซึ่งเมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายบริการดีกว่าผู้ร้องสอด ก็ชอบที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า "METALTECH" ของผู้ร้องสอดได้
ในชั้นพิจารณาคำคัดค้านของโจทก์โดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์โดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดว่าใครเป็นผู้มีสิทธิดีกว่า ซึ่งย่อมต้องนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในการที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทำสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกันนั้นมาใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวที่มีผลผูกพันคู่สัญญาและแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่า มิใช่จะถือเพียงว่าสัญญาดังกล่าวรวมทั้งคำพิพากษาตามยอมนั้นไม่มีผลผูกพันนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของผู้ร้องสอดไม่ถูกต้อง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11707/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานและการรับฟังพยานหลักฐานในคดีเช็ค - การประวิงคดีและการยื่นเอกสารไม่ถูกต้อง
ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย หากนางสาว ว. เป็นพยานสำคัญของจำเลย จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกพยานเสียแต่เนิ่น ๆ แต่จำเลยหากระทำไม่ ทั้งตามอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยก็มิได้อ้างถึงเหตุขัดข้องแต่ประการใด พฤติการณ์ของจำเลยส่อว่าประสงค์จะขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปเพื่อประวิงให้ชักช้า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
สัญญากู้เงินมีการขูดลบตกเติมข้อความในสัญญาหลายแห่งโดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ เหตุดังกล่าวแต่ประการเดียวยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ว่า สัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม สำหรับสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่จำเลยอ้างว่าแจ้งความดำเนินคดีเรื่องเอกสารปลอม จำเลยมิได้อ้างส่งต่อศาลชั้นต้น แต่เพิ่งแนบมาท้ายอุทธรณ์และฎีกา โดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องใด จึงเป็นการยื่นเอกสารฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่อาจรับเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9201/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-สิทธิเช่า: ศาลมีอำนาจงดสืบพยานเมื่อวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายได้ และสิทธิเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอด
การที่ศาลจะสั่งงดสืบพยานเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง และ 104 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีนี้จำเลยทั้งสองให้การว่าเป็นฟ้องซ้อน และยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การพอวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้แล้วศาลชั้นต้นย่อมสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยเสียได้
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าที่ดิน 2 แปลงที่ ท. มีต่อจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และสัญญาเช่าที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาเช่าในขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาอันเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งโจทก์ไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างหรือมีคำขอบังคับขณะยื่นฟ้องคดีก่อนได้ ทั้งคำขอที่ให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินในคดีนี้ยังกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนด้วย จึงมิใช่เป็นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้อนที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา ซึ่งผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน อันเป็นหนี้เหนือบุคคล หาใช่เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินหรือเป็นทรัพยสิทธิไม่ และการเช่าทรัพย์สินนั้น ปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้และดูแลทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าตายสิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าก็เป็นอันระงับสิ้นสุดลง และไม่เป็นมรดกตกทอดไปถึงทายาททั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าหรือไม่ เพราะหากมีข้อตกลงก็เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าแก่บุคคลภายนอกในระหว่างที่ผู้เช่ามีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 544 เท่านั้น ดังนั้น พินัยกรรมของ ท. ที่ยกสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่โจทก์จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่โจทก์เกี่ยวกับที่ดินที่เช่าและไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 จะต้องให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป จำเลยที่ 1 ย่อมพิจารณาให้จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้เช่าที่ดินแต่ละแปลงต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่า: การยินยอม/ให้อภัย, เหตุหย่าต่อเนื่อง, และอายุความฟ้อง
ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสืบพยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์จะสืบหรือไม่เพียงใด เมื่อศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำแถลงของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้วว่ามีเหตุฟ้องหย่าประการใดประการหนึ่งตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ได้ยินยอมหรือให้อภัยเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยาแล้วหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้จะเป็นเพียงเหตุหย่าเหตุหนึ่งในจำนวนเหตุหย่าหลายเหตุตามฟ้องก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานหลักฐานโจทก์ และจำเลยซึ่งถือเสมือนว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยจะนำมาสืบนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงชอบแล้ว
การยินยอมและให้อภัยที่จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนกระทั่งเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงนำคดีมาฟ้อง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้
การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ต่อเนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานเนื่องจากโจทก์ไม่นำสืบตามนัด และประเด็นค่าส่งประเด็น
หมายนัดมีข้อความว่า "นัดฟังประเด็นกลับและสืบพยาน" แม้มีการพิมพ์เพิ่มเติมคำว่า "และสืบพยาน" และ ไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ แต่ข้อความในหมายนัดดังกล่าวมีข้อความถูกต้องตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ในหนังสือส่งประเด็นคืนของศาลจังหวัดปทุมธานี ทั้งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ลงลายมือชื่อไว้ในหมายนัดตามระเบียบ การออกหมายนัดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
แม้หมายนัดจะมีข้อความว่านัดสืบพยานโดยมิได้ระบุให้ชัดเจนว่านัดสืบพยานโจทก์ แต่คดียังอยู่ในขั้นตอนการสืบพยานโจทก์ และโจทก์มีพยานบุคคลอีกหลายปากที่เป็นพยานนำ ซึ่งโจทก์จะต้องนำมาสืบต่อศาลชั้นต้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานไว้จึงหมายถึงนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบตามนัดหากมีเหตุขัดข้องไม่อาจนำพยานมาสืบได้ โจทก์ก็ควรยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี แต่ทนายโจทก์เพียงแต่มอบฉันทะให้เสมียนทนายโจทก์มาฟังประเด็นกลับ กำหนดวันนัดสืบพยาน และรับทราบคำสั่งศาลเท่านั้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีด้วย แสดงว่าโจทก์มิได้เอาใจใส่คดีของตนว่าศาลชั้นต้นนัดมาเพื่อพิจารณาในเรื่องใด ไม่นำพยานมาสืบตามหน้าที่นำสืบและตามที่ ศาลชั้นต้นนัด ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์ชอบแล้ว
แม้เจ้าพนักงานศาลจัดส่งประเด็นไปศาลอื่นตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอส่งประเด็นยังมิได้ชำระค่าส่งประเด็นก็ตาม การส่งประเด็นนั้นก็ชอบแล้ว เพราะศาลมีอำนาจเรียกให้โจทก์ชำระค่าส่งประเด็นในภายหลังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานโจทก์เนื่องจากไม่นำพยานมาศาลตามนัด และประเด็นค่าส่งประเด็นที่ไม่ชำระ
หมายนัดมีข้อความว่า "นัดฟังประเด็นกลับและสืบพยาน" แม้มีการพิมพ์เพิ่มเติมคำว่า "และสืบพยาน" และไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ แต่ข้อความในหมายนัดดังกล่าวมีข้อความถูกต้องตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ในหนังสือส่งประเด็นคืนของศาลจังหวัดปทุมธานี ทั้งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ลงลายมือชื่อไว้ในหมายนัดตามระเบียบ การออกหมายนัดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
แม้หมายนัดจะมีข้อความว่านัดสืบพยานโดยมิได้ระบุให้ชัดเจนว่านัดสืบพยานโจทก์ แต่คดียังอยู่ในขั้นตอนการสืบพยานโจทก์ และโจทก์มีพยานบุคคลอีกหลายปากที่เป็นพยานนำ ซึ่งโจทก์จะต้องนำมาสืบต่อศาลชั้นต้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานไว้จึงหมายถึงนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบตามนัด หากมีเหตุขัดข้องไม่อาจนำพยานมาสืบได้ โจทก์ก็ควรยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี แต่ทนายโจทก์เพียงแต่มอบฉันทะให้เสมียนทนายโจทก์มาฟังประเด็นกลับกำหนดวันนัดสืบพยาน และรับทราบคำสั่งศาลเท่านั้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีด้วย แสดงว่าโจทก์มิได้เอาใจใส่คดีของตนว่าศาลชั้นต้นนัดมาเพื่อพิจารณาในเรื่องใดไม่นำพยานมาสืบตามหน้าที่นำสืบและตามที่ศาลชั้นต้นนัด ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์ชอบแล้ว
เจ้าพนักงานศาลจัดส่งประเด็นไปศาลอื่นตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอส่งประเด็นยังมิได้ชำระค่าส่งประเด็นก็ตาม การส่งประเด็นนั้นก็ชอบแล้ว เพราะศาลมีอำนาจเรียกให้โจทก์ชำระค่าส่งประเด็นในภายหลังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นคำฟ้องไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ศาลไม่ชอบวินิจฉัยเอง โจทก์มีสิทธิฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโดยถือว่าสัญญายังไม่เลิกกัน คำฟ้องจึงไม่มีประเด็นเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 605 และโจทก์ย่อมไม่อาจนำสืบถึงความเสียหายของโจทก์ดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้อง เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นและคู่ความก็มิได้นำสืบกันมา ศาลจะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยเอาเองโดยไม่มีข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานสนับสนุนย่อมเป็นการไม่ชอบ และมีเหตุสมควรให้โอกาสโจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547-1548/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิการสืบพยานในคดีแรงงาน: ประเด็นการเลิกจ้างและความเกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาท
คดีมีประเด็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ หรือโจทก์ไม่มาทำงานเองเพราะกลัวความผิดที่ยอมให้บุคคลภายนอกนำสิ่งของเข้ามาไว้ในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1โดยพลการ ที่จำเลยที่ 5 จะนำ ย. มาสืบว่าโจทก์เป็นผู้นำ ภ. ซึ่งตามทางพิจารณาคือบุคคลภายนอกที่จำเลยทั้งห้าอ้างไว้ในคำให้การขนสิ่งของเข้ามาในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการ จึงเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี จำเลยที่ 5 นำสืบได้แต่ที่จำเลยที่ 5 จะนำสืบ ย. ว่าโจทก์เก็บค่าไฟฟ้าจาก ย. แล้วไม่นำไปชำระจนถูกการไฟฟ้าฯ ตัดไฟฟ้าในโกดังของจำเลย กับที่จำเลยที่ 5 จะนำ ว. มาสืบว่าโจทก์เบิกความเท็จว่าเป็นผู้นำ ว. มาทำงานกับจำเลยนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีและไม่ใช่การนำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างว่าคำเบิกความของโจทก์ไม่ควรเชื่อฟังอันเป็นการพิสูจน์ต่อพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120 ที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำ ว. และ ย. มาสืบในข้อหลังจึงชอบแล้ว แต่ที่ไม่อนุญาตให้นำ ย. มาสืบข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้นำ ภ. ขนสิ่งของ เข้ามาในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6573/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนตัวทนาย & เจตนาประวิงคดี: ศาลชอบที่จะไม่อนุญาตถอนตัวทนาย หากจำเลยทราบวันนัดแต่จงใจไม่มาศาล
การที่ทนายความจะยื่นคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการแต่งตั้งให้เป็นทนาย จะต้องแสดงให้เป็นที่พอใจ แก่ศาลว่าทนายความผู้นั้นได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้ว เว้นแต่จะหาตัวความไม่พบ แต่ตามคำร้องที่ทนายจำเลยยื่นต่อศาลชั้นต้นขอถอนตนจากการเป็นทนายจำเลยนั้น ไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยได้แจ้งเรื่องการขอถอนตนให้จำเลยทราบแล้ว และมิใช่กรณีที่หาตัวจำเลยไม่พบ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตนจากการเป็นทนาย จึงชอบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 65 วรรคหนึ่งแล้ว
ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสจำเลยนำพยานมาสืบถึง 3 นัด และกำชับมิให้จำเลยเลื่อนคดีมาโดยตลอด แต่จำเลยก็มิได้ใส่ใจที่จะนำพยานมาสืบตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ทั้ง ๆ ที่พยานจำเลยก็มีแต่ตัวจำเลยเพียงปากเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถจะสืบให้เสร็จสิ้นได้ในนัดเดียว ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏจากคำร้องขอถอนตนของทนายจำเลยเองว่า จำเลยทราบวันนัดแล้วแต่ก็มิได้เดินทางมาเบิกความต่อศาลชั้นต้นตามนัด ซึ่งทนายจำเลยเห็นว่า การที่จำเลยไม่มาศาล 3 นัด ติดต่อกันเป็นการจงใจไม่มาศาลมีลักษณะประวิงคดีให้ล่าช้า ทนายจำเลยจึงขอถอนตนจากการเป็นทนายดังกล่าว เป็นการยอมรับว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีจริง ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า
เมื่อจำเลยแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนก็จะต้องรับผิดชอบในการกระทำของทนายความที่ตนแต่งตั้ง จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบวันนัดเพราะทนายความไม่แจ้งให้ทราบไม่ได้ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย
of 11