คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พรเพชร วิชิตชลชัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 204 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงธนาคารไม่ใช่ฐานยักยอกทรัพย์ ผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง
ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคาร แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบและหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น เงินที่จำเลยได้มาตามฟ้อง แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของผู้เสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่ฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงธนาคารจึงเป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายในฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8815/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งความเท็จ และการลงโทษซ้ำซ้อนในความผิดอาญา
เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ คือ รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย มิใช่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นผลมาจากการแจ้งดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แสดงต่อธนาคาร พ. สาขาบ้านไร่ จึงไม่ใช่การใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8542/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การร่วมกันกระทำผิด และการใช้คำรับสารภาพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั่งรถคันเดียวกันมาที่ร้านอาหาร แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เจรจาตกลงขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ดาบตำรวจ ก. ต่อมาสิบตำรวจโท ป. พาจำเลยที่ 3 ไปตรวจนับเงินค่าเมทแอมเฟตามีน วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาที่จุดนัดหมาย จำเลยที่ 1 ตรวจนับเงิน จำเลยที่ 2 พาสิบตำรวจโท ป. ไปรับเมทแอมเฟตามีนที่สถานีบริการน้ำมันคิวเอท ส่วนจำเลยที่ 4 นำเมทแอมเฟตามีนมามอบให้จำเลยที่ 2 ที่สถานีบริการน้ำมันคิวเอทและจำเลยที่ 2 ส่งมอบต่อให้สายลับในทันที พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันรู้เห็นเป็นใจและแบ่งหน้าที่กันทำมาตั้งแต่ต้น
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนซึ่งเจ้าพนักงานไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบก่อนและไม่ได้แจ้งว่าจะไม่ให้การก็ได้เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84, 134/1 และ 134/4 นั้น เห็นว่า มาตรา 84, 134/1 และ 134/4 ได้มีการแก้ไขโดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 ได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับ คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5902/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับอุทธรณ์ต้องทำหลังศาลมีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ มิใช่ก่อน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตในคำร้องขออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวจะอุทธรณ์ไม่ได้ ทั้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทำอุทธรณ์ฉบับใหม่หาได้มีผลเป็นการสั่งรับอุทธรณ์หรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ แต่ศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่เข้ามาเฉพาะฐานความผิดของจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4, และที่ 7 ที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพื่อศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับใหม่ต่อไป ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ แต่โจทก์กลับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์และขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปโดยไม่ได้โต้แย้งว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทำอุทธรณ์ฉบับใหม่ไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ถูกขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้บริโภค: การฟ้องแย้งของจำเลยในคดีผู้บริโภคชอบด้วยกฎหมายและผลของการผิดสัญญา
การแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีหน้าที่ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคก็เท่ากับว่าผู้บริโภคได้ร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินคดีแทนตน โดยผู้บริโภคมีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดี และหากผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภค มิได้ชำระให้แก่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด ดังนั้น การที่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ย่อมต้องถือว่าผู้บริโภคนั้นเป็นโจทก์ผู้ยื่นคำฟ้องเอง ส่วนผู้ประกอบการซึ่งถูกฟ้องมีฐานะเป็นจำเลย และทั้งโจทก์และจำเลยย่อมมีฐานะเป็น "คู่ความ" ตามวิเคราะห์ศัพท์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ดังนี้จำเลยผู้ถูกฟ้องย่อมฟ้องแย้งได้ และเมื่อฟ้องแย้งว่า จำเลยพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ผู้บริโภคเข้าครอบครองอยู่อาศัยมาโดยตลอด ขอให้ผู้บริโภคชำระราคาส่วนที่เหลือจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอจะรวมพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15544/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารรับเงินค่านำหมายที่แก้ไขเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิ
ใบรับเงินค่านำหมายที่จำเลยปลอมขึ้นและนำไปใช้ขอรับเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าจำเลยได้ชำระค่าป่วยการและค่าพาหนะให้แก่เจ้าพนักงานในการนำส่งหมายเรียกพยานโจทก์และหมายเรียกจำเลยที่ 1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ข้อ 5 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น จึงเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานระงับซึ่งสิทธิที่ศาลชั้นต้นจะเรียกเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย จึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารของศาลชั้นต้นโดยเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้จัดทำขึ้น จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์โอนทันทีเมื่อทำสัญญาซื้อขาย แม้ยังไม่ชำระเงินครบ การนำรถยนต์ไปโดยพลการถือเป็นการลักทรัพย์
โจทก์ร่วมซื้อรถยนต์ตู้จากจำเลยในราคา 310,000 บาท จำเลยรับชำระราคาแล้ว 200,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 และ 458 แม้จะได้ความว่าโจทก์ร่วมยังค้างชำระค่ารถยนต์ตู้อยู่ก็ตาม หากโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ร่วมผิดสัญญา จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อขอให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้ครบถ้วน จำเลยหามีสิทธิที่จะติดตามเอารถยนต์ตู้คันที่ขายไปนั้นคืนมาโดยพลการได้ไม่
การที่จำเลยบอกกับ ท. ซึ่งเป็นเพียงคนขับรถยนต์ตู้ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมว่าจะมาเอารถยนต์ตู้ไป ท. มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้และมิใช่ผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมให้จำเลยกระทำการเช่นนั้น จึงเป็นการบอกกล่าวให้รับทราบเท่านั้น และ ท. มิได้มอบกุญแจรถยนต์ตู้เพื่อให้จำเลยนำรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างก็ตาม แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์เพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท ดังนั้น การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2553

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนทันทีเมื่อทำสัญญาซื้อขาย แม้ยังไม่ได้โอนทะเบียน การนำรถไปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลักทรัพย์
โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453, 458
ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
(ประชมใหญ่ครั้งที่ 9/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเครื่องหมายการค้า: การพิสูจน์เจตนาและความยากในการแยกแยะสินค้าเลียนแบบ
แผ่นดิสก์ที่มีเครื่องหมายการค้า "SONY" อันแท้จริงของผู้เสียหายมีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นความลับ 4 จุด ไม่สามารถเปิดเผย มีเฉพาะผู้รู้จุดสังเกตนี้เท่านั้นจึงจะสามารถสังเกตได้ เป็นการยากที่ประชาชนหรือผู้ขายทั่วไปจะรู้ได้ว่าสินค้าแผ่นดิสก์ของกลางที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายหรือมีผู้ทำเลียนแบบขึ้น เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่าสินค้าแผ่นดิสก์ของแท้ของผู้เสียหายจำหน่ายในราคาเท่าใดและสินค้าแผ่นดิสก์วัตถุพยานที่จำเลยจำหน่ายนี้จำหน่ายในราคาเท่าไร พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่สืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจะรู้หรือไม่ว่าสินค้าแผ่นดิสก์ที่จำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 ให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่เมื่อฟังได้ว่าแผ่นดิสก์ของกลางจำนวน 360 แผ่น มีเครื่องหมายที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย อันเป็นสินค้าที่ต้องริบ จึงให้ริบเสีย แม้ว่าจะไม่มีผู้ถูกลงโทษในคดีนี้ก็ตาม ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์การประเมินภาษีโรงเรือนเกินห้าหมื่นบาท ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาโดยนำสถานีบริการน้ำมันพิพาทไปเทียบเคียงกับสถานีบริการน้ำมันของบริษัท ช. และนำดัชนีราคาผู้บริโภคมาปรับอัตราค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนพิพาทเป็นการไม่ชอบนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อกำหนดค่ารายปีของศาลภาษีอากรกลางถือเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทจำนวน 41,619.17 บาท ซึ่งไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 25 การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบ
of 21