คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พรเพชร วิชิตชลชัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 204 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันเมื่อมีการแยกกิจการ และขอบเขตความรับผิดของธนาคารตามสัญญาค้ำประกัน
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 สาขาธาตุพนมและสาขาสกลนคร ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ฉบับ ต่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด และโจทก์ตามลำดับ สำหรับการเป็นตัวแทนในการเก็บเบี้ยประกันภัย ต่อมาบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ได้แยกธุรกิจประกันวินาศภัยออกจากบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ด้วยการจัดตั้งบริษัทโจทก์ และโอนทรัพย์สิน หนี้สิน และความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ไปเป็นของบริษัทโจทก์ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 127 ในอายุสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 เก็บเบี้ยประกันภัยแล้วไม่นำส่งคืนให้แก่บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด และนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 626,649 บาท แต่ผิดนัดไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเบี้ยประกันภัยที่ไม่นำส่งคืนให้แก่บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ตามจำนวนเงินในหนังสือรับสภาพหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับที่สอง และต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรกด้วย เนื่องจากการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ตามวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ โดยได้รับผลตอบแทน ย่อมเป็นการค้ำประกันต่อกิจการในส่วนการประกันวินาศภัยนั้น ๆ ไม่ว่าส่วนกิจการประกันวินาศภัยจะถูกแยกไปตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่งหรือไม่ นอกจากนั้นในหนังสือต่ออายุสัญญาค้ำประกันซึ่งทำขึ้นหลังจากแยกกิจการในส่วนประกันวินาศภัยแล้วก็ยังระบุชื่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด เป็นคู่สัญญา ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 2 เองก็ประสงค์ผูกพันตนต่อกิจการประกันวินาศภัยที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนอยู่ ทั้งไม่ปรากฏว่าการแยกกิจการดังกล่าวทำให้ภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการเก็บและส่งเบี้ยประกันภัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การโอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ไปยังบริษัทโจทก์ ย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรกโอนมายังบริษัทโจทก์ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5522/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีซ้ำซ้อนหลังเข้ารับการฟื้นฟูยาเสพติด – พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด แล้วเสพไปครึ่งเม็ด และที่เหลืออีกครึ่งเม็ดจำหน่ายให้แก่ ส. เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณห้าหน่วยการใช้และมีน้ำหนักไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัมจึงไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 ข้อ 1 (1) (ข) และ ข้อ 2 (1) (ข) ดังนั้น เมื่อในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด และจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนครึ่งเม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวอีก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17822/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความเรียกค่าอากร: การคำนวณอากรผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าโดยสำแดงราคาของในใบขนสินค้า 40,446.57 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าราคาต่ำไปจึงให้เพิ่มราคาเป็น 159,228.63 บาท จำเลยที่ 1 ก็ระบุราคาของเพิ่มไว้ในใบขนสินค้าแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์พบว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับการลดอัตราอากรจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 5 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอากรเพิ่ม โดยคิดอัตราร้อยละ 40 ของราคา 40,446.57 บาทแทนที่จะใช้ราคา 159,228.63 บาท ย่อมเห็นได้ว่าเหตุที่จำนวนเงินค่าอากรขาเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่มขาดจำนวนไปตามที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีนี้นั้น เกิดจากกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์คิดค่าอากรจากฐานราคาสินค้าผิดพลาด มิใช่เหตุจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงราคาของผิดพลาด สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16312/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกกรณีมีข้อพิพาท: ผู้จัดการมรดกเดี่ยวและการวางเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองทายาท
เมื่อผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกและมีการฟ้องร้องผู้ร้องเพื่อเรียกทรัพย์คืนจากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก การที่จะให้ ส. บุตรของผู้คัดค้านเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องคงจะไม่อาจร่วมกันจัดการเพื่อประโยชน์ของกองมรดกได้ เพราะอำนาจของผู้จัดการมรดกในกรณีที่มีสองคนนั้น การจัดการจะต้องดำเนินการร่วมกัน ถ้าเกิดเป็นสองฝ่ายแล้วกรณีก็ไม่อาจจะหาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ได้ และคนใดคนหนึ่งก็ไม่อาจจัดการไปได้ จึงสมควรให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวแต่เพื่อมิให้เป็นการเสียหายแก่ฝ่ายผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทด้วยสมควรวางเงื่อนไขในคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกว่าถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่บุคคลที่มิใช่ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกโดยมิได้รับความเห็นชอบจากทายาททุกคนแล้ว จะต้องขออนุญาตจากศาลก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12569/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิด – รับของโจร – พยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ – ยกประโยชน์แห่งความสงสัย
การวินิจฉัยพยานหลักฐานซึ่งถือว่าเป็นคำซัดทอดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227/1 ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนี้โดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน เมื่อปรากฏว่าพยานโจทก์มีประวัติความประพฤติในทางลักทรัพย์และเบิกความไม่อยู่กับร่องกับรอย จึงเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดที่ถือว่าไม่มีน้ำหนักอันหนักแน่นหรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีอันควรแก่การเชื่อถือ ไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12203/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายรถยนต์: เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์และผลกระทบต่อความผิดฐานออกเช็ค
การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สัญญาซื้อขายรถยนต์สมบูรณ์ การที่โจทก์ร่วมตกลงกับจำเลยนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ว่าจะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่จำเลยจนกว่าเช็คทั้งสี่ฉบับจะเรียกเก็บเงินได้นั้น แสดงว่าโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงให้ถือการที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับหรือไม่ เป็นเงื่อนไขของการที่จะมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ ตราบใดที่ธนาคารยังไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ สัญญาซื้อขายรถยนต์ย่อมไม่มีผลสมบูรณ์ โจทก์ร่วมมีสิทธิติดตามเอารถยนต์กลับคืนมาได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนว่ามีข้อตกลงนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว ย่อมฟังได้ว่าขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับยังไม่มีมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8147/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานเบิกความต่างจากชั้นสอบสวน ศาลชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอื่นประกอบเพื่อพิสูจน์ความจริง
คดีนี้ ก. มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลโดยตรงและได้เบิกความรับว่าได้ให้การไว้ในฐานะผู้กล่าวหาตามคำให้การเอกสารหมาย จ.16 จึงเป็นเรื่องที่ ก. เบิกความในเรื่องที่ตนประสบพบเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้โดยตรง ส่วนถ้อยคำของ ก. ที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.16 ก็เป็นถ้อยคำของ ก. เองมิใช่ถ้อยคำอันเป็นคำบอกเล่าของบุคคลอื่นที่นำมาเสนอต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด อันจะเป็นพยานบอกเล่าตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 226/3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7015/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: การพิสูจน์ที่มาของเงินในบัญชีธนาคาร และการประเมินเงินได้พึงประเมิน
บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินครั้งแรกเพราะเห็นว่าการประเมินยังไม่ถูกต้อง มิใช่เพราะเห็นว่าโจกท์ไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่ม ซึ่งถือไม่ได้ว่าการเรียกตรวจสอบตามหมายเรียกเสร็จสิ้นลงแล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่เห็นว่าถูกต้องได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 19 อีกครั้ง แม้การประเมินครั้งหลังจะทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีมากกว่าการประเมินครั้งแรก แต่มีผลทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว จึงมิใช่การประเมินซ้ำซ้อน โดยเฉพาะการประเมินครั้งหลังยังเป็นการประเมินในเรื่องเดิมเกี่ยวกับยอดเงินได้พึงประเมินของโจทก์โดยเจ้าพนักงานประเมินอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบมาแล้วเท่าที่มีอยู่เดิมในการประเมินครั้งแรกเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณามิใช่การประเมินในเรื่องใหม่ที่ไม่เคยตรวจสอบไต่สวนมาก่อน จึงไม่จำต้องแจ้งโจทก์มาชี้แจงแสดงหลักฐานเพิ่มเติม
ข้อความในอุทธรณ์ของโจทก์เป็นไปในทำนองเดียวกับที่กล่าวในคำฟ้องโดยไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร วิธีการประเมินมิใช่ขั้นตอนปกติด้วยเหตุผลใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
บัญชีเงินฝากธนาคารที่โจทก์เปิดไว้ หากโจทก์อ้างว่าเงินในบัญชีมีส่วนที่เป็นของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย โจทก์ต้องพิสูจน์ให้ได้ความเช่นนั้น เงินดังกล่าวเป็นจำนวนสูงมาก โจทก์อ้างว่าเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ซึ่งตามปกตินิติบุคคลย่อมต้องมีการจัดทำบัญชีรับจ่าย บัญชีแสดงรายการเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมทั้งงบการเงิน แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าเงินของห้างมีที่มาอย่างไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด การโอนเงินเข้าบัญชีเป็นเงินสำหรับหมุนเวียนในการประกอบการค้าของห้างโจทก์ก็เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งยอดเงินในวันสุดท้ายของปีเป็นหนี้ธนาคารหรือคงเหลือ 5,000 บาท ก็ไม่อาจสรุปว่าเงินฝากในบัญชีไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่ายอดเงินที่เข้าบัญชีมีส่วนที่เป็นของห้างจำนวนเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำยอดเงินฝากเข้าบัญชีภายหลังหักจำนวนเงินที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการชำระค่าสินค้าของห้างเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และหักค่าใช้จ่ายเหมาให้ในอัตราร้อยละ75 โดยงดเบี้ยปรับ จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6352/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานกรณีผู้เสียหายไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลได้ โดยใช้ภาพและเสียงคำให้การในชั้นสอบสวน
โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลได้ เนื่องจากผู้เสียหายย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยมีนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำผู้เสียหายด้วย มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำผู้เสียหายดังกล่าวออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ซึ่งการที่ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนดังกล่าวได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย: ไม่ใช่เจ้าหนี้ในคดีอาญา
ผู้ร้องมิใช่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไปซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาที่ผู้ร้องได้ชดใช้ไปตามสัญญาประกันภัยได้
ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น
of 21