พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3279/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษร่วมกัน แม้จำเลยไม่ได้รับการแต่งตั้งทนายความในชั้นพิจารณา ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาเดิม
ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นบัญญัติว่า "ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้" ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยทั้งสองเรื่องทนายความแล้ว จำเลยที่ 1 แถลงไม่ต้องการทนายความแต่ศาลชั้นต้นให้มีหนังสือขอแรงทนายความให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 แต่หลังจากนั้นมีการตั้งทนายความให้จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวแล้วดำเนินคดีไปจนเสร็จการพิจารณา โดยไม่มีการตั้งทนายความให้จำเลยที่ 1 ด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาก็ตาม แต่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 พอใจในผลแห่งคำพิพากษาแล้ว โดยเห็นได้จากจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ กับเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีฝิ่นเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง โดยเพิ่มเติมโทษขึ้นอีกตามอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้ฎีกาโต้เถียงแต่อย่างใด และเนื่องจากศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงว่าข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีทนายความในการต่อสู้คดีก็รับฟังได้มั่นคงเช่นนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ก็เป็นพยานหลักฐานเดียวกันกับที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของทนายจำเลยที่ 2 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการดูแลคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วยในตัว ดังนี้ จำเลยที่ 1 จะมีทนายความในการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือไม่ย่อมไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งปรากฏด้วยว่า ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วกว่า 2 ปี ด้วย ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิในฐานะนักโทษเด็ดขาดไปบ้างแล้ว แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่เห็นเป็นการจำเป็นที่จะพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขู่เข็ญผู้เสียหายโดยอ้างเป็นตำรวจ เปลี่ยนข้อหาจากชิงทรัพย์เป็นกรรโชก
จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมยอมความ: เหตุละเมิดความสงบเรียบร้อยฯ เป็นเหตุอุทธรณ์ มิใช่เหตุเพิกถอนกระบวนพิจารณา
คำร้องของจำเลยที่อ้างว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความโดยหลงผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาเนื่องจากจำเลยไม่เข้าใจถึงข้อความที่ระบุในสัญญาให้โจทก์บังคับจำเลยให้ออกจากอาคารพิพาท คำพิพากษาของศาลจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมได้สิ้นสุดลงก่อนที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เท่ากับจำเลยกล่าวอ้างว่า คำพิพากษาตามยอมเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นเพียงเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 (2) ที่จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้เท่านั้น แต่มิใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยกเลิกเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินการมาแล้วเสียทั้งหมดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8729/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลผูกพันคำพิพากษาคดีก่อน: ศาลพิจารณาผลคำพิพากษาเดิมที่วินิจฉัยสถานะที่ดิน แม้คดีก่อนยกฟ้อง
คดีก่อนโจทก์จำเลยพิพาทกันว่าที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นหรือทางสาธารณะ ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ แม้คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง แต่คำพิพากษาดังกล่าวได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ ตามที่คำฟ้องในคดีดังกล่าวอ้างและมีคำขอให้จดทะเบียนที่ดินเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโต้แย้งในประเด็นแห่งคดีแล้ว อันเป็นประเด็นข้อพิพาทเดียวกันกับคดีนี้และเกี่ยวกับที่ดินแปลงเดียวกัน คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวและจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวด้วย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความจำเป็นในการกระทำความผิด: ผู้สนับสนุนข่มขืนถูกข่มขู่ด้วยอาวุธ ศาลยกฟ้อง
แม้การที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองเพื่อให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราแล้วขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปส่งบ้านจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด และจำเลยที่ 2 กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาตาร์ ยาวประมาณ 1 ฟุต จี้ที่คอของผู้เสียหายเลยมาถึงคอของจำเลยที่ 2 จนผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายจึงร้องบอกจำเลยที่ 2 ให้ขับรถจักรยานยนต์ต่อไปจนถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ อีกทั้งไม่ใช่ภยันตรายที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 67 (2) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225