คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1857/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่ไม่ได้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาต และการรอการลงโทษสำหรับนักกีฬายิงปืน
แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่า จำเลยมีกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร ) จำนวน 11 นัด และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 100 นัด ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และผู้ชำนาญการที่ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นว่า กระสุนปืนทั้งสองขนาดเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ก็ตาม แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 กำหนดว่า "เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง" ซึ่งหมายความว่า เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 เว้นแต่ เครื่องกระสุนปืนนั้น แม้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาดที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้วเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง .223 (5.56 มิลลิเมตร) และขนาดเพียง 7.62 มิลลิเมตร ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 (1) และ ข้อ 2 (2) (ก) กับ (ข) จึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ เครื่องกระสุนปืนของกลาง จึงเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกัน เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง จึงจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ดังนั้น แม้จะรับฟังว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับปืนกลซึ่งใช้ในทางการทหารเพื่อใช้ในการสงครามดังเช่นที่โจทก์ฎีกา แต่คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) จำนวน 11 นัด และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 100 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าเครื่องกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และเครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ไม่เป็นกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือกระสุนเพลิง การที่จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
แม้กระสุนปืนเล็กขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (REMINGTON) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (SAKO) ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ก็ตาม ก็เป็นเพียงการดัดแปลงเพื่อนำไปใช้เท่านั้น ทั้งจำเลยรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ตรวจพิสูจน์เครื่องกระสุนปืนของกลางว่า หากนำเครื่องกระสุนปืนของกลางไปใช้ ปืนอาจได้รับความเสียหายและคนยิงอาจได้รับอันตราย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางมิใช่เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ย่อมรวมถึงการมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ด้วย ถือได้ว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงไม่ใช่เป็นกรณีความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แม้ พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ จะบัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้คนละมาตราก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1852/2511

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนของกลางคดีอาวุธปืนภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ผ่อนผันโทษ แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบแล้ว
สำหรับปืน ปลอกกระสุนปืนและเม็ดตะกั่วของกลางนั้น. เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นของที่จำเลยใช้กระทำผิด.แม้จะเป็นปืนที่ไม่มีทะเบียน. และในขณะฟ้องตลอดจนเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษ จะเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ริบเสียสิ้น. ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32. แต่เมื่อคดีมาสู่ศาลอุทธรณ์และอยู่ระหว่างพิจารณา ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2510 มาตรา 5. ยอมให้ผู้มีอาวุธปืน กระสุนปืนฯ. โดยไม่ได้รับอนุญาต.นำไปขอรับอนุญาตได้ภายใน 90 วัน. โดยผู้นั้นไม่ต้องได้รับโทษ. ต้องถือว่าในระหว่างนั้น กฎหมายยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืน กระสุนปืนฯ. โดยไม่ได้รับอนุญาต. แม้เป็นเรื่องที่ถูกฟ้องและศาลลงโทษไปก่อนใช้พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ดังกล่าวแล้วก็ตามศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิพากษาคืนของกลางให้เจ้าของไปได้. และแม้จะได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายหลังระยะเวลา 90 วันตามที่กฎหมายกำหนดไว้. ก็หาทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียไปไม่.
อนึ่งคดีนี้ศาลอุทธรณ์อ้างบทมาตราของพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ข้างต้นผิด.แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2507

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาต ป.3 และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
ใบอนุญาตแบบ ป.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนจากผู้ที่ระบุไว้หากไปซื้อจากผู้อื่น ก็ย่อมเป็นการซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาต ฉะนั้น เมื่อในใบอนุญาตแบบ ป.3 นี้ กำหนดให้ซื้อจากร้านจำหน่ายอาวุธปืน จำเลยไม่ใช่ผู้ตั้งร้านจำหน่ายอาวุธปืนได้ขายอาวุธปืนให้จึงเป็นการโอนอาวุธให้แก่ผู้มิได้รับอนุญาตตามความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯแต่ไม่ผิดตามมาตรา 34 เพราะมาตรา 34 เป็นบทบัญญัติอยู่ในส่วนที่ 2 ว่าด้วยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า และเป็นบทห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำหน่ายอาวุธปืนและกระสุนปืนให้แก่ผู้ที่มิได้รับอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2500 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการค้ากำไรเกินควรและการแสดงราคาสินค้า: การแต่งตั้งกรรมการ การกำหนดราคา และหน้าที่ของผู้ขาย
กรรมการป้องกันการค้ากำไรเกินควรที่ข้าหลวงประจำจังหวัดตั้งขึ้นตาม ม.6 แห่งกฎหมายนี้ เป็นการตั้งเฉพาะตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ ถ้าบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว อำนาจของผู้แทนของบุคคลตามตำแหน่งนั้น ๆ ที่จะเข้าประชุมเกี่ยวกับกิจการตาม ก.ม.นี้ หาเกิดขึ้นไม่
ม.8 แห่ง ก.ม.นี้ให้อำนาจคณะกรรมการหลายประการ แต่ละประการไม่จำต้องใช้บังคับพร้อมกันทั้งหมด ความเหมาะสมมีเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการจะต้องมีมติให้ถูกต้องเป็นราย ๆ ไป
ตาม ม.16 แห่ง ก.ม.นี้ แม้คณะกรรมการจะได้มีมติกำหนดราคาสูงสุดไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่บังคับว่า ผู้ขายจะขายต่ำกว่าราคานั้นไม่ได้ เพียงแต่บังคับว่าอย่าขายให้เกินราคาสูงสุดที่เจ้าหน้าที่กำหนด.