คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 218 วรรคแรก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 123 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มกระทงความผิดและแก้ไขโทษของศาลอุทธรณ์ ทำให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมาย
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ลดโทษแล้วคงจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งคงจำคุก 30 เดือน เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษและดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13803/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: แก้ไขโทษจำคุกเล็กน้อย ศาลอุทธรณ์ ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงบทมาตรา จึงไม่อาจฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี โดยมิได้แก้บทมาตราเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า จ่าสิบตำรวจ ว. ผู้ร่วมจับกุมจำเลยไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองเคตามีน การแก้ไขบันทึกการจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้กระทำขึ้นเองโดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นด้วย ทั้งบันทึกดังกล่าวมิได้ทำขึ้น ณ สถานที่จับกุมจึงรับฟังไม่ได้ และหากศาลฟังว่าจำเลยกระทำความผิด ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13379/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การโต้เถียงดุลพินิจการลงโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 254,155.78 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกินหนึ่งปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษปรับสถานเดียวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพียงแต่กำหนดวิธีการเพื่อการบังคับคดีในกรณีที่จำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ไม่สมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 3 สถานเดียว แต่ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7308/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเรา, หน่วงเหนี่ยวกักขัง, กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท, การแก้ไขโทษ, การบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าว แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 371 ก็ไม่อาจลงโทษในความผิดฐานนี้ได้
สำหรับความผิดในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังแม้ศาลล่างทั้งสองจะพิพากษายืนกันมาให้จำคุก 1 ปี แต่ความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราซึ่งศาลล่างทั้งสองจำคุก 16 ปี อันไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงทำให้ข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไปด้วย
จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายที่ 2 ไปบังคับข่มขืนกระทำชำเราคนละหลายครั้งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสอง และ 310 วรรคแรก เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพรากเด็กและพาหญิงเพื่อการอนาจาร โดยพระภิกษุใช้อำนาจครอบงำผู้เสียหาย
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 13 ปีเศษ ผู้เสียหายพักอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 284 วรรคแรก ให้ลงโทษฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร จำคุก
10 ปี ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารตามมาตรา 279 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และความผิดฐานกระทำชำเรา เด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามมาตรา 277 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 15 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม มาตรา 91 เมื่อรวมโทษจำคุกทั้งหมดที่ศาลชั้นต้นวางโทษแล้ว ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โทษจำคุกในความผิดฐานกระทำอนาจารตามมาตรา 279 วรรคแรก จึงถูกลดโทษลงเหลือ 8 เดือน และโทษจำคุกในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามมาตรา 277 วรรคแรก ถูกลดโทษลงเหลือ 2 ปี 8 เดือน อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก
ความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ กำหนดโทษจึงคงเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว โทษจำคุกคงเหลือ 6 ปี 8 เดือน ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก
จำเลยเรียกเด็กหญิง พ. ไปพบเพื่อบอกให้ผู้เสียหายไปหาจำเลยที่กุฏิ เมื่อผู้เสียหายไปหาจำเลยแล้ว จำเลยได้ว่าจ้างรถยนต์กระบะพาผู้เสียหายไปวัดอื่นโดยให้ผู้เสียหายพักหลับนอนกับจำเลยที่กุฏิวัด 2 คืน ระหว่างนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ ผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงอายุ 13 ปีเศษ ย่อมเกรงใจจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุผู้อุปการะ ครอบครัวของผู้เสียหายเป็นธรรมดาจึงจำต้องยอมติดตามจำเลยไปด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดครองธรรม ทั้งย่อมเป็นพฤิตการณ์บังคับให้ผู้เสียหายจำยอมให้จำเลยกระทำทำอนาจารและกระทำชำเราในเวลากลางคืนอันเป็นการกระทำที่ล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เสียหาย และเป็นการพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมจำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและมีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้า การแจ้งข้อความเท็จ และการบังคับตามมาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้ารูปตา 1 ตา และเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรี 1 ตัว และจำเลยได้ทำเครื่องหมายการค้ารูปตา 3 ตา ประกอบกับนกอินทรี 3 ตัว แต่ลักษณะดวงตามีรัศมี 19 เส้น เหมือนรูปตาตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์และรูปนกอินทรีก็ถือกิ่งไม้ 1 กิ่ง กับลูกศร 3 ดอก เหมือนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์เช่นกัน คงต่างกันแต่จำนวนดวงตาและจำนวนนกอินทรีเท่านั้น และจำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าที่ทำขึ้นไปใช้กับสินค้าของจำเลยนำออกจำหน่าย อันแสดงให้เห็นได้ถึงเจตนาของจำเลยที่จะทำให้ประชาชนสับสน หลงผิด หลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นและนำไปใช้กับสินค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ย่อมเป็นความผิดตามคำฟ้องได้ โดยไม่จำต้องคำนึงถึงกรณีที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้านั้นแล้ว จำเลยจะนำไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้หรือไม่ หรือนายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้หรือไม่
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวนั้น เป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นนั้น ในภาพรวมของแต่ละเครื่องหมายมีลักษณะเพียงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น ไม่ได้เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการจนถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนทั้งสองเครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และแม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ฎีกาขึ้นมาโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิด ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225
การที่โจทก์จะขอให้ศาลบังคับตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 116 ต้องปรากฏในขณะที่ยื่นคำขอว่าจำเลยได้กระทำการหรือกำลังจะกระทำการปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีคำขอดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องซึ่งบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดข้อหาปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ระหว่างเดือนมกราคม 2536 ถึงปลายเดือนมกราคม 2540 อันเป็นการแสดงว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวเสร็จสิ้นไป ก่อนวันที่โจทก์มีคำขอมาท้ายคำฟ้องประมาณ 7 เดือน ไม่ใช่กรณีที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำการหรือกำลังจะกระทำการดังกล่าวในขณะที่โจทก์มีคำขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 คำขอของโจทก์เช่นนี้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 116 ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้จำเลยระงับหรือละเว้นการปลอม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กรณีเช่นนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5248/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การโต้แย้งดุลพินิจศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจร จำคุก 6 เดือนโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำคุก 3 ปี โดยพิพากษาแก้เฉพาะอัตราโทษ ส่วนบทลงโทษคงลงโทษฐานรับของโจรตามเดิม เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานรับของโจร และศาลอุทธรณ์ไม่ควรเพิ่มโทษจำคุกจำเลย 3 ปี เป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำอนาจารและชำเราเด็กหญิงหลายครั้ง ศาลฎีกาตัดสินว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
จำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายรวม 4 ครั้ง และกระทำชำเราผู้เสียหายรวม2 ครั้ง หลังจากกระทำความผิดในแต่ละครั้งแล้ว จำเลยมิได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้เพื่อกระทำอนาจารหรือกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปอีกผู้เสียหายกลับไปที่บ้านและมาโรงเรียนตามปกติ ผู้เสียหายจึงพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละครั้งไปแล้ว แม้ว่าในแต่ละครั้งจำเลยจะกระทำไปโดยมีเจตนากระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายหรือกระทำชำเราผู้เสียหายเหมือนกันก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละครั้งจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยมีเจตนาต่างกันและมิได้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันแต่อย่างใด หากแต่การกระทำในแต่ละครั้งเป็นการกระทำที่จำเลยเกิดมีเจตนาขึ้นใหม่ในทุกครั้งที่ลงมือกระทำ มิใช่เจตนาเดิม การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้แต่เพียงว่า การกระทำของจำเลยในข้อหาดังกล่าวหาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวไม่ ให้ลงโทษในความผิด 4 กรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษจากความผิดร้ายแรงเป็นความผิดทั่วไป ทำให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คดีได้จำกัด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 290วรรคสอง ลงโทษจำคุก 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 290 วรรคแรก เป็นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือกระทำโดยทรมานและทารุณโหดร้ายมาเป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์ และแก้โทษที่ลงจาก 6 ปี เป็น 5 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำเลยจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษจากความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตายโดยมีเหตุฉกรรจ์ เป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่มีเหตุฉกรรจ์ ทำให้ฎีกาต้องห้าม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก เป็นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จาก ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตายโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือกระทำโดยทรมาน และทารุณโหดร้ายมาเป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่ประกอบด้วย เหตุฉกรรจ์ และแก้โทษที่ลงจาก 6 ปี เป็น 5 ปี จึงเป็นกรณี ที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำเลยจำคุกไม่เกิน ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก
of 13