คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิชา มหาคุณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 329 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อุทธรณ์ในฐานะคนอนาถาถึงที่สุด ทำให้ไม่มีสิทธิฎีกาต่อเรื่องขยายเวลาวางค่าธรรมเนียมศาล
จำเลยอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาต จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาต คำสั่งศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในเวลาต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลออกไปอีกเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาซึ่งถึงที่สุดแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อไปอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์จำกัดหลังคำสั่งไม่อนุญาตดำเนินคดีอนาถา: ผลกระทบต่อการขยายเวลาวางค่าธรรมเนียมศาล
จำเลยยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์อย่างคนอนาถาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถึงที่สุดแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 156 วรรคท้าย การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลออกไปอีกเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1มีคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์อย่างคนอนาถาซึ่งถึงที่สุดแล้วจำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อไปอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1794/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำนวนอุทธรณ์โดยตรงถึงศาลฎีกาโดยไม่ผ่านศาลอุทธรณ์: ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาจนกว่าศาลชั้นต้นจะพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์โดยตรง
โจทก์ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาต่อมาเจ้าหน้าที่รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์และสำเนาคำร้องดังกล่าวแล้วมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์แต่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนไปศาลฎีกา โดยไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายและมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ กรณียังถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 233 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้ ศาลฎีกาให้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาคำร้องที่โจทก์ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหลังหย่าเมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบุตร
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรซึ่งตกอยู่แก่จำเลยฝ่ายเดียวตามข้อตกลงจดทะเบียนหย่า แต่ตามคำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีโจทก์ประสงค์ที่จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ได้ตกลงไว้กับจำเลย ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์ที่จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521
แม้จำเลยไม่มีพฤติการณ์ประพฤติตนไม่สมควรในการใช้อำนาจปกครองตามข้อตกลงที่จดทะเบียนแต่ปรากฎภายหลังว่ามีพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตร ศาลเห็นสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจจากจำเลยมาเป็นโจทก์ได้ตาม มาตรา 1520 และ 1521

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหลังหย่า โดยคำนึงถึงความผาสุกและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการคงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่าโดยจำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมาย่อมเป็นการใช้อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์หายจากโรคเครียดเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้อง โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการและจำเลยได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสอง ซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสองประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงมีเหตุสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามมาตรา 1584/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าโดยบันดาลโทสะ: การพิจารณาเจตนาและความต่อเนื่องของเหตุการณ์
ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายได้พูดจาดูถูกจำเลยก่อนในลักษณะที่จำเลยเหมือนของเล่นได้แล้วจะเลิกเมื่อไรก็ได้ และเป็นหญิงใจง่ายหลอกกินเงินได้ เมื่อจำเลยโกรธและใช้รองเท้าตบหน้าผู้ตาย ผู้ตายกลับตามไปทำร้ายจำเลยอีก จนจำเลยทนไม่ได้เดินไปที่ห้องพักนำมีดปอกผลไม้ยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง กลับมาใช้ปาดคอผู้ตาย ซึ่งเหตุการณ์ตั้งแต่ผู้ตายพูดจาดูถูกจำเลยแล้วจำเลยกลับไปบ้านพักนำมีดมาปาดคอจนผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น เป็นระยะเวลาที่สืบเนื่องเชื่อมโยงติดต่อกันมาโดยตลอดในขณะนั้นเองและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ขาดตอน เนื่องจากห้องพักของจำเลยกับที่เกิดเหตุห่างกันไม่มากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ตระเตรียมการหรือวางแผนฆ่าผู้ตายมาก่อนการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่โจทก์พิสูจน์ความผิดจำเลย, พยานหลักฐานสนับสนุนฟ้อง, การใช้กฎหมายอาญาที่เปลี่ยนแปลง
ในคดีอาญาเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ เป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนฟ้องและพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 จะบัญญัติให้ถ้อยคำของจำเลยหรือผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงพยานหลักฐานของโจทก์อย่างหนึ่งที่จะนำสืบสนับสนุนฟ้องเท่านั้น ทั้งเป็นเพียงพยานบอกเล่าจึงมีน้ำหนักน้อยเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา โจทก์มีหน้าที่จะต้องนำพยานเข้าสืบให้เห็นโดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริงตามฟ้องลำพังแต่เพียงเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบเมทแอมเฟตามีนที่ตัวจำเลย แม้จะมีจำนวนค่อนข้างมากก็ยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7317/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่นอกเหนือจากที่ยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่พิพาทไม่ใช่เป็นของจำเลยแต่เป็นของผู้ร้อง โดยผู้ร้องชำระราคาครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาซื้อขายหลังจากนั้นผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์จนได้สิทธิครอบครองประเด็นตามคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง จึงมีว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่พิพาทโดยซื้อมาจากจำเลยแล้วหรือไม่การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า หลังจากทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทแล้ว จำเลยสัญญาว่าจะดำเนินการจดทะเบียนโอนที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้แก่ผู้ร้องในภายหลัง เท่ากับอ้างว่าสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตามที่อ้างมาในคำร้องขัดทรัพย์ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำร้องขัดทรัพย์ ถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิฎีกา แม้ต่อมาผู้ร้องฎีกาก็ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7236/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการอนุญาตจ่ายค่าใช้จ่ายจากการฟ้องคดีของ ผู้ทำแผน/ผู้บริหารแผน ในคดีฟื้นฟูกิจการ
เมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามากำกับตรวจสอบ และอนุญาตให้มีการกระทำการต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไป มีอำนาจในการแต่งตั้ง ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน รวมทั้งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง กรณีจึงรวมถึงการอนุญาต หรือมีคำสั่งอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย เช่นนี้ เมื่อเกิดปัญหาประการใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูกิจการและกฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คณะกรรมการเจ้าหนี้ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ทั้งแผนก็มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยชัดแจ้ง บุคคลที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นคำร้องเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวต่อศาลโดยตรงได้
การที่ผู้ทำแผนดำเนินคดีแก่ผู้ตรวจสอบรายงานการเงินและกรรมการของลูกหนี้โดยกล่าวอ้างกระทำละเมิดต่อลูกหนี้ เป็นเหตุให้ผู้ทำแผนคนเดิม ผู้ทำแผนคนใหม่ และผู้บริหารแผน ถูกบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีข้อหาละเมิด ย่อมถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้ทำแผนคนเดิม เหตุนี้ค่าทนายความและค่าใช้จ่าย อันเกิดจากการต่อสู้คดีของผู้ทำแผนคนเดิม ผู้ทำแผนคนใหม่ และผู้บริหารแผน เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/62 (1) เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ผู้บริหารแผนสามารถนำเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
การที่กฎหมายให้ผู้ทำแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้ทำแผนจึงมีฐานะเป็นผู้แทนของลูกหนี้ในวันที่จะกระทำการใดๆ แทนลูกหนี้ในช่วงเวลาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้บังคับของมาตรา 90/45 ประกอบกับ มาตรา 90/14 (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่ผู้ทำแผนคนเดิมฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ ผู้ตรวจสอบรายงานการเงินกับพวก โดยอ้างว่า กระทำละเมิดต่อลูกหนี้ นั้น กรณีมิใช่เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินได้ หากว่ามีการแพ้คดี ผู้ทำแผนจะกระทำการดังกล่าวได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว การฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าว จึงอยู่ในขอบอำนาจ และกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ ความสัมพันธ์และความรับผิดระหว่างลูกหนี้กับผู้ทำแผน จึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 816

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6965/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาล ต้องมีพฤติการณ์พิเศษ หรือเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจยื่นคำขอได้ทันเวลา
การขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ เป็นกรณีที่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่ให้พึงกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น ส่วนข้อความในบทบัญญัติดังกล่าวที่ว่า "เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย" นั้น ใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้คู่ความฝ่ายนั้นไม่อาจมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นและได้มีคำขอภายหลังเมื่อสิ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นไปแล้ว ซึ่งกรณีเช่นว่านี้การขอขยายระยะเวลานอกจากจะพึงกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษแล้วยังจะต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งยังอยู่ภายในระยะเวลาที่ยังสามารถนำเงินมาชำระได้ คำร้องดังกล่าวจึงพึงกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษเท่านั้นไม่อยู่ในบังคับว่าต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยด้วย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยไปถึงว่าคำร้องของจำเลยที่ 2 มีเหตุสุดวิสัยหรือไม่ จึงชอบแล้ว
of 33