คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 351 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำ, มี, ขายสุรากลั่น: การแยกกระทงความผิด และการลงโทษตาม พ.ร.บ.สุรา
คำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้วว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทำสุรากลั่นบรรจุถุงพลาสติก 4 ใบ บรรจุถุงพลาสติก 7 ถุง บรรจุแกลลอน 20 ใบ ปริมาณ 592 ลิตร โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วจำเลยมีสุรากลั่นจำนวนและปริมาณดังกล่าวไว้ในครอบครอง จากนั้นจำเลยขายสุรากลั่นจำนวนและปริมาณดังกล่าว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการกระทำในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน กล่าวคือ เมื่อจำเลยทำสุรากลั่นแล้ว จำเลยมีสุรากลั่นดังกล่าวไว้ในครอบครอง จากนั้นขายสุรากลั่นนั้น การกระทำความผิด ของจำเลยสำเร็จไปในแต่ละขั้นตอนของการกระทำแต่ละครั้ง หาได้ขัดแย้งหรือขัดต่อเหตุผลแต่ประการใดไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การที่จำเลยทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาต กับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรากลั่น แม้สุรากลั่นจะเป็นจำนวนเดียวกัน แต่ความผิดแต่ละฐานต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดที่แตกต่างกันและสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ และ พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 บัญญัติความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรากัน จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน
ความผิดฐานขายสุรานั้น ตาม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 31 มีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท สำหรับมาตรา 30 เป็นบทบัญญัติความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 5 คือ การทำสุรา หรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และถ้าได้ขายสุราที่ทำขึ้นนั้นด้วยต้องระวางโทษหนักขึ้น เป็นบทฝ่าฝืนโทษจากการทำสุราเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่บทบัญญัติให้การขายสุราที่ทำขึ้นเป็นความผิดตามมาตรานี้อีกบทหนึ่ง ดังนั้นที่จำเลย ขายสุรากลั่นที่จำเลยทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3816/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรอการลงโทษจำคุกในคดีอาวุธปืน พิจารณาจากพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง และโอกาสฟื้นฟู
อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนแก๊ปยาว ซึ่งได้ความว่าจำเลยมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการยิงสัตว์เล็กๆ ที่มารบกวนกัดกินพืชไร่ของจำเลยและชาวบ้าน จำเลยไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ในการก่อเหตุใดๆ ตามพฤติการณ์จึงไม่ร้ายแรงมากนัก ยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ ทั้งการลงโทษจำคุกระยะสั้น นอกจากจะไม่เกิดผลในการแก้ไขฟื้นฟูความประพฤติของจำเลยแล้ว ยังทำให้จำเลยมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวโดยสุจริตต่อไปได้การรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า แม้จะปรากฏว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกแต่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจึงยังไม่ถึงที่สุด คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวอาจถูกศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งผลสุดท้ายจำเลยอาจไม่ต้องรับโทษถึงจำคุก กรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกามีอำนาจรอการลงโทษจำเลยในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753-3756/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งย้ายงานชอบด้วยกฎหมาย การเลิกจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อลูกจ้างละทิ้งหน้าที่
ก่อนที่จำเลยจะออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานที่สาขาโพนพิสัย จำเลยได้เสนอทางเลือกให้โจทก์ทั้งสี่ก่อนแล้วคือให้ไปทำงานกับบริษัทที่รับซื้อกิจการและรับโอนพนักงานของจำเลยที่กรุงเทพมหานครทั้งหมดโดยให้โจทก์ได้รับตำแหน่งเดิม รายได้เท่าเดิม และปฏิบัติงานอยู่สถานที่เดิม หรือย้ายไปประจำที่สาขาโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นกิจการเพียงแห่งเดียวของจำเลยที่เหลืออยู่ หรือลาออกจากบริษัทจำเลย แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง จำเลยจึงมีความจำเป็นต้องสั่งให้โจทก์ทั้งสี่ไปทำงานที่สาขาอำเภอโพนพิสัยในตำแหน่งเดิม อัตราเงินเดือนเดิม คำสั่งของจำเลยดังกล่าวมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือแกล้งโจทก์ทั้งสี่ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (5) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และการพิสูจน์เหตุแห่งการเลิกจ้าง
โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ เดือนละหลายครั้ง จนจำเลยต้องมีหนังสือตักเตือนโจทก์ และต้องเปลี่ยนเวลาทำงานของโจทก์จากเวลาทำงานเดิม 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เป็น 9.00 นาฬิกา ถึง 18.00 นาฬิกา ต่อมาโจทก์ขอเปลี่ยนเวลาทำงานกลับไปเป็นเวลาเดิม เห็นได้ว่าจำเลยได้พยายามแก้ไขการมาทำงานสายของโจทก์ตลอดมา แต่โจทก์ไม่ปรับปรุงตัว วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสายถึง 37 นาที และเมื่อปลายปี 2545 ว. ได้ออกแบบงานชิ้นหนึ่งแล้วนำไปให้โจทก์ดำเนินการเขียนแบบตั้งแต่ตอนเช้าโดยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต้องนำไปให้ลูกค้าในวันรุ่งขึ้นเวลา 10.00 นาฬิกา โจทก์ไม่เขียนแบบเองแต่นำไปมอบให้พนักงานเขียนแบบคนอื่นดำเนินการแทน วันรุ่งขึ้นโจทก์ไปทำงานสายและปรากฏว่าผู้ที่โจทก์มอบให้เขียนแบบแทนเขียนแบบไม่เสร็จ ทำให้ ว. ต้องเสนอผลงานที่ยังไม่เสร็จต่อลูกค้า การที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ และการทำงานของโจทก์มีปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานกับฝ่ายออกแบบ เป็นเหตุให้งานของจำเลยไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด และในวันที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสาย ย่อมมีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3373/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงการจ่ายโบนัสมีผลผูกพัน แม้บริษัทขาดทุน การเลิกจ้างตามข้อเสนอพนักงาน ถือเป็นการเลิกจ้างโดยชอบ
ตามกฎหมายแรงงานไม่มีบทบัญญัติเรื่องการจ่ายเงินโบนัส ว่าเงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเมื่อกิจการมีผลกำไรเท่านั้น กรณีจึงต้องพิจารณาจากข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งระบุว่า "เงินโบนัสปลายปี กรณีถ้าการจ้างของท่านไม่ถูกยกเลิกอันเป็นสาเหตุจากท่าน บริษัทฯ จะจ่ายท่านหนึ่งเดือนหรือตามอัตราส่วนการจ้างแรงงานของท่านระหว่างปีปฏิทินสิ้นสุด 31 ธันวาคม" ข้อความดังกล่าวชัดเจนว่าจำเลยตกลงจะจ่ายเงินโบนัสปลายปีให้แก่โจทก์ โดยมีข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายเพียงประการเดียวคือกรณีที่โจทก์ถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุจากโจทก์ ดังนั้น แม้กิจการของจำเลยจะประสบกับภาวะขาดทุน จำเลยก็จะยกมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่จ่ายเงินโบนัสปลายปีให้แก่โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336-3337/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และทำลายเอกสาร โดยการกระทำของลูกจ้างที่ทุจริตต่อหน้าที่
บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 84 หมายความว่า ผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้ บ. เป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่ บ. ในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่ บ. ต้องเผาบัญชีเงินกู้ หาก บ. ทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บ. ก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจาก บ. อาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่ บ. ยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336-3337/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมและใช้เอกสารสิทธิ การทำลายเอกสาร และความรับผิดของผู้สั่งการกระทำผิด
โจทก์ที่ 1 ส่งสำเนาคำขอกู้และหนังสือกู้เงินโดยไม่ได้ส่งต้นฉบับต่อศาลแต่พนักงานสอบสวนรับรอง สำเนาถูกต้องโดยไม่ปรากฏว่าสำเนานั้นไม่ตรงกับต้นฉบับ ทั้งจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น ศาลรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 238
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำขอกู้เงินในฐานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนผู้จัดการ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่า ช. ถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมปลอมคำขอกู้และหนังสือกู้เงินและไม่ได้ใช้คำขอกู้และหนังสือกู้เงินปลอม จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ฐานปลอมคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงินราย ช. หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ชอบแล้ว
บ. เผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้ จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่กรณีเป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3251/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากประมาทเลินเล่อ แม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นบ้าง แต่หากไม่ร้ายแรงเพียงพอ ศาลไม่อาจถือเป็นเหตุเลิกจ้างได้
โจทก์มีหน้าที่จัดการให้มีการส่งเทปรายการโทรทัศน์ของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้แก่สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 9 โดยเร็ว เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวมีเวลาตรวจสอบและนำออกอากาศได้ทันเวลา โจทก์หลงลืม จัดส่งเทปโทรทัศน์รายการ "แฟชั่นมิวสิค" ของจำเลยจนได้รับแจ้งจากผู้ช่วยผู้จัดการจำเลย โจทก์จึงรีบติดต่อจัดส่งเทป ดังกล่าวไปให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ก่อนกำหนดเวลาออกอากาศประมาณครึ่งชั่วโมง และเทปดังกล่าวถูกนำออกอากาศตามกำหนดเวลา เป็นเหตุให้จำเลยถูกสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวตำหนิและภาคทัณฑ์ด้วยวาจา การตำหนิและภาคทัณฑ์ด้วยวาจาดังกล่าวเป็นเพียงการเตือนเพื่อป้องปรามมิให้เกิดเหตุทำนองนี้อีก และการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของโจทก์เพียงแต่ทำให้การออกอากาศรายการ "แฟชั่นมิวสิค" ฉุกละหุกบ้างเท่านั้น ทั้งปรากฏว่าหลังเกิดเหตุสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวก็ยังคงให้รายการ "แฟชั่นมิวสิค" ของจำเลยออกอากาศได้ตามผังรายการตลอดมา ความเสียหาย ที่จำเลยได้รับจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แม้จะมีอยู่บ้างในแง่ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ก็ไม่ถึงกับเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันคดีน้ำมันปลอมปน: ศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้น แต่ลดโทษปรับและรอการลงโทษ
การกระทำความผิดของจำเลยฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดนั้น ความผิดแต่ละฐานแยกออกต่างหากจากกันได้ชัดเจน ทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำ เวลาที่การกระทำเป็นความผิดสำเร็จลงตลอดจนบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากคำร้องขยายเวลาไม่ชอบ และฎีกาในข้อเท็จจริงต้องได้รับอนุญาตจากศาล
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกา โดยผู้ที่ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยแต่ละคน จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตตามที่ขอก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ขยายกำหนดยื่นฎีกาตามคำร้อง เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาล่วงเลยกำหนดยื่นฎีกาแล้วก็ไม่มีผลย้อนไปทำให้คำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกาที่ไม่ชอบดังกล่าว ให้เป็นคำร้องที่ชอบ
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีการแก้ไขกฎหมายบทความผิดและบทกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพียงแต่ปรับใช้บทกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 3 และแก้ไขโทษให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายใหม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองแต่ละคนไม่เกินกระทงละห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาโดยมิได้ร้องขอหรือดำเนินการให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาได้ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
of 36