คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 453

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 703 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนเงินรถยนต์คันแรก: การจอง vs. ซื้อ/เช่าซื้อ และเงื่อนไขการรับมอบรถ
หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 กันยายน 2554 เรื่องการคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่อนุมัติหลักการและแนวทางในการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรกกำหนดว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการต้องเป็นการซื้อรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยมิได้ระบุถึงการจองรถยนต์ไว้ด้วย การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ให้ขยายเวลาส่งมอบรถยนต์และยื่นเอกสารสำหรับโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกโดยบันทึกข้อความของสำนักมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 2 ส่วนมาตรฐานฯ 3 เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเอกสารใบจองรถยนต์เพื่อการขอใช้สิทธิรถยนต์คันแรกระบุว่า ผู้ขอใช้สิทธิต้องซื้อหรือจองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่ไม่สามารถรับมอบรถยนต์หรือไม่สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และไม่สามารถยื่นเอกสารหลักฐานได้ภายในวันสิ้นสุดโครงการ สามารถนำใบจองมาขอใช้สิทธิตามโครงการรถยนต์คันแรกได้ แสดงว่าผู้ขอใช้สิทธิตามโครงการที่จองรถยนต์ไว้แล้วยังจะต้องซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อต่อไปอีกจึงจะมีสิทธิได้รับเงินคืน
การที่จำเลยจองรถยนต์กับบริษัท ต. ผู้จำหน่ายรถยนต์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ก่อนคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการและแนวทางในการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 มิใช่เป็นการจองซื้อรถยนต์จากบริษัท ต. ผู้จำหน่ายรถยนต์โดยตรง หากแต่เป็นการจองเพื่อนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ล. ผู้ให้เช่าซื้อ โดยบริษัท ล. เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือแก่บริษัท ต. จนครบถ้วนแล้วนำหลักฐานการซื้อขายรถยนต์ที่ออกโดยบริษัท ต. ไปจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัท ล. จากนั้นจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท ล. เจ้าของรถยนต์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้จองรถยนต์เพื่อนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น หาใช่เป็นผู้ซื้อรถยนต์จากบริษัท ต. โดยตรงไม่ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยจองรถยนต์เป็นการตกลงซื้อขายรถยนต์ที่สมบูรณ์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อรถยนต์ตามมติคณะรัฐมนตรีในโครงการรถยนต์คันแรก เมื่อจำเลยได้รับมอบรถยนต์ที่จองในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 และทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 จึงเป็นการเช่าซื้อรถยนต์ภายในระยะเวลาของโครงการ จำเลยย่อมมีสิทธิขอรับเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่จ่ายไปคืนตามมติคณะรัฐมนตรี การใช้สิทธิขอรับเงินของจำเลยมิได้ผิดเงื่อนไขอันจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11115/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายเพิ่มเติมจากรถยนต์ชำรุดหลังคืนทรัพย์: ฟ้องบังคับได้แม้มีคำพิพากษาแล้ว
ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนให้จำเลยทั้งสามส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน พร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายและชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยทั้งสามได้ส่งมอบรถยนต์คืนพร้อมชำระค่าเสียหายกับค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีแก่โจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อรถยนต์มีสภาพชำรุดและโจทก์นำออกขายทอดตลาดได้ราคาไม่ครบถ้วนตามราคารถยนต์ที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ส่วนที่ยังขาดจำนวนอยู่ได้ เนื่องจากเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ทั้งมิใช่กรณีที่จะไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากการบังคับคดีจำต้องอาศัยคำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ใดบ้าง กรณีจึงไม่อาจนำมูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังศาลมีคำพิพากษาไปบังคับคดีเอากับจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าว ดังนั้นคำพิพากษาในคดีนี้จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนและเกิดขึ้นภายหลังศาลในคดีก่อนพิพากษาไปแล้ว หาใช่ค่าเสียหายที่กำหนดซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆียะ ผู้ขายต้องรับผิดคืนเงิน
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากจำเลย แต่เมื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินแล้วปรากฏว่า บ้านปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของผู้อื่นบางส่วน เป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยและขอให้จำเลยคืนเงิน แต่จำเลยไม่คืนเงินให้ ถือได้ว่าโจทก์มีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อเท็จจริงรับฟังว่า บ้านพิพาทที่โจทก์ซื้อจากจำเลยตั้งอยู่บนที่ดินที่ซื้อบางส่วนและบางส่วนตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น กรณีถือได้ว่าโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากมิได้มีความสำคัญผิดการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์มีสิทธิบอกล้างโดยการแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายได้และเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17923/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินโดยคนต่างด้าวหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ดิน: โมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้สัญญาหมาย จ.1 จะระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาเช่า แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของเนื้อหา หาใช่เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองประสงค์จะครอบครองที่ดินเพื่อใช้หรือได้รับประโยชน์ในที่ดินชั่วระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ และโจทก์ทั้งสองได้ให้เงินแก่จำเลยเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 โดยแท้จริงไม่ แต่จุดประสงค์แห่งสัญญามุ่งเน้นเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินจากจำเลยเพื่อก่อสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 อันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่เจตนาที่จะเช่าทรัพย์กันแต่อย่างใด สัญญาหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาเช่า
โจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นคนต่างด้าว การซื้อที่ดินเพื่อให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนโจทก์ทั้งสอง มีลักษณะให้นิติบุคคลถือสิทธิในที่ดินแต่เพียงในนามเท่านั้น แท้จริงแล้วโจทก์ทั้งสองยังคงเป็นผู้ครอบครองที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ข้อยกเว้นการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว สัญญาซื้อขายจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12163/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายน้ำมันราคาคงที่ ความรับผิดในสัญญา และการคำนวณค่าเสียหายจากส่วนต่างราคา
โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายราคาคงที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมน้ำมันเตาจำนวน 6,030,000 ลิตร ภายในช่วงเวลาที่กำหนด วันเดียวกัน โจทก์ทำสัญญาสั่งซื้อน้ำมันชนิดดังกล่าวจากบริษัท ช. เพื่อสำรองส่งมอบให้จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยทำเป็นสัญญาซื้อขายเพื่อความแตกต่างซึ่งเป็นประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน หลังจากจำเลยทำสัญญากับโจทก์แล้ว จำเลยซื้อน้ำมันจากโจทก์ไม่ครบจำนวนตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามสัญญาซื้อขายราคาคงที่ฯ ข้อ 4.1 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่อาจสั่งซื้อสินค้าได้ครบตาม ข้อ 1.4 ของสัญญานี้...ผู้ขายมีสิทธิเลือกที่จะปรับผู้ซื้อตามข้อ 4.3 และสัญญาดังกล่าว ข้อ 4.3 ระบุว่า ค่าเสียหายจะเท่ากับค่าปรับดังต่อไปนี้ของจำนวนสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบ (แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า) 4.3.1 ร้อยละ 10 (สิบ) ของจำนวนราคาสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบตามสัญญาข้อ 1.4 ของสัญญานี้ 4.3.2 หรือเท่ากับมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่น ๆ ภายในประเทศที่ต่ำกว่าในประเภทสินค้าเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย และเอกสารแนบท้าย ก. ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่ไม่สามารถรับสินค้าปริมาณการสั่งซื้อนั้นไว้ได้...ผู้ซื้อจะถูกปรับ (และอาจถูกปรับสูงขึ้น) โดยจะต้องชำระราคาเพิ่มอีก 10% จากราคาตามข้อ 5 หรือชำระมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าที่ตกลงกันตามข้อ 5 กับราคาตลาด (เฉพาะกรณีที่ราคานั้นต่ำกว่าราคาตามข้อ 5) ของผู้ค้าน้ำมันหลักรายอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ราย คูณจำนวนที่ยังสั่งซื้อไม่ครบ เมื่อพิจารณาประกอบกับใบกำกับสินค้า (Invoice) หรือใบแจ้งหนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าค่าเสียหาย คือ ส่วนต่างระหว่างราคาคงที่ตามสัญญากับราคาน้ำมันในตลาดขณะนั้นซึ่งต่ำกว่า เมื่อโจทก์จ่ายค่าเสียหายนี้ให้แก่บริษัท ช. ตามสัญญาเพื่อความแตกต่างที่โจทก์ทำไว้กับบริษัทดังกล่าว โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้ตามสัญญาซื้อขายราคาคงที่ฯ ข้อ 4.3.2 แม้โจทก์จะไม่ได้คิดคำนวณค่าเสียหายจากมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่น ๆ ภายในประเทศที่ต่ำกว่าในประเภทสินค้าเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย ตามข้อสัญญา ก็ตาม แต่การคิดค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้องไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะค่าเสียหายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท ช. เป็นผู้ค้ารายใหญ่ ต้นทุนการดำเนินการย่อมต่ำกว่าผู้ค้ารายย่อยอื่น ๆ ในประเทศอยู่แล้ว โจทก์นำสืบค่าเสียหายว่าต้องจ่ายเงินที่เป็นส่วนต่างของราคาน้ำมันให้แก่บริษัท ช. เป็นเงิน 42,587,757 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และเนื่องจากเป็นหนี้เงิน จึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายเครื่องจักรเก่า ยอมรับสินค้าแล้วมีหน้าที่ชำระราคา แม้ภายหลังมีชำรุด การฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
เครื่องบรรจุเอกสารพิพาททั้งสามเป็นเครื่องเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เป็นธรรมดาที่สมรรถนะของเครื่องไม่อาจเทียบได้กับเครื่องใหม่ การซื้อขายสินค้าจึงต้องพิจารณาจากข้อตกลงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาเป็นกรณีไป ดังนั้น การปรับบทกฎหมายในเรื่องความรับผิดกรณีมีความชำรุดบกพร่องจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายในแต่ละมาตราประกอบกัน ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะมาตราหนึ่งมาตราใด จากข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารแต่ละเครื่องเสร็จ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาให้บริการกัน ต่อมามีการทำใบสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารทั้งสามเครื่อง แสดงว่าจำเลยยอมรับสินค้าของโจทก์ตามสภาพของสินค้าที่มีการติดตั้งแล้ว และขณะติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารไม่ได้ชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าเครื่องบรรจุเอกสารจะอ้างความชำรุดบกพร่องอันไม่สามารถเห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบมาปฏิเสธไม่ชำระค่าสินค้าไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญา ส่วนภายหลังนั้นการใช้งานเครื่องบรรจุเอกสารมีความชำรุดบกพร่อง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต้องว่ากล่าวกันตามข้อตกลงสัญญาให้บริการ มิใช่กรณีที่จำเลยจะอ้างเป็นเหตุไม่ชำระราคาค่าสินค้าได้
การพิจารณาว่าฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนใดเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ เพียงใด จะต้องพิจารณาจากคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งฉบับเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใดเท่านั้น คำฟ้องโจทก์บรรยายสรุปว่า จำเลยสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารจากโจทก์ จำเลยได้รับสินค้าแล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระราคาสินค้า จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้า จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งสรุปว่า การรับสินค้าของจำเลยเป็นการรับเพื่อทดลองใช้ เมื่อทดลองใช้แล้วสินค้ามีการชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าและเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปกว่าราคาที่ยึดหน่วงไว้ ดังนั้น คำขอในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคำขอที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าตามคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19413/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นการให้โดยเสน่หา เพิกถอนได้แม้ผู้รับโอนรู้
แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทระบุว่าเป็นการขายก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวบรวมเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจาก ม. จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริง แต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาเงินมาไถ่ถอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 จะถือเอาการที่ต้องไถ่ถอนจำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ เมื่อเป็นการโอนให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13955/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์: การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแม้ยังไม่ได้จดทะเบียน และการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบ
แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ค. ในการขายรถยนต์พิพาท โจทก์ก็นำสืบเรื่องดังกล่าวได้เพราะเป็นการสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียด เนื่องจากในการติดต่อทำสัญญาซื้อขายกันอาจทำได้โดยตนเองหรือมีตัวแทนติดต่อทำสัญญาซื้อขายแทนกันก็ได้
ข้อความในสัญญาเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาได้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีแม้ยังไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังจดทะเบียน: สิทธิของเจ้าของเดิมสิ้นสุด แม้ยังไม่ชำระราคา
โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 21 แปลง ให้แก่ ป. เมื่อปี 2532 กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกไปเป็นของ ป. ผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 453 และมาตรา 456 แม้ ป. ผู้ซื้อยังไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์ผู้ขาย แต่การชำระราคามิใช่เงื่อนไขแห่งการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การชำระราคาอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเวลาโอนกรรมสิทธิ์ก็ย่อมทำได้ตามแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน ดังนั้น สัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ป. จึงมีผลสมบูรณ์เสร็จเด็ดขาด และที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. มิใช่เป็นที่ดินของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้ทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนทันทีเมื่อทำสัญญาซื้อขาย แม้ยังไม่ได้โอนทะเบียน การนำรถไปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลักทรัพย์
โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453, 458
ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
(ประชมใหญ่ครั้งที่ 9/2553)
of 71