คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ยงยุทธ แสงรุ่งเรือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 56 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา: ทนายความต้องดำเนินการด้วยตนเอง
ไม่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่ง ณ. เป็นทนายความและ ณ. มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความจำเลยทั้งสองมาก่อนที่จะมีการยื่นฎีกา ณ. จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60, 61 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งการที่จำเลยทั้งสองตั้งแต่ง ส. เป็นทนายความและ ส. เคยมอบฉันทะให้ ณ. เป็นเสมียนทนายทำการแทนในกิจการยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 3 รับทราบคำสั่งศาล รับทราบกำหนดวันนัด รับเอกสารจากศาล ตรวจสำนวน รวมถึงให้ถ้อยคำแถลงต่อศาลและแก้ไขข้อความที่พิมพ์ผิดพลาดได้ ก็ไม่ทำให้ ณ. เสมียนทนายจำเลยทั้งสองมีอำนาจทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เพราะทนายความอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำการแทนได้ในกิจการที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 64 เท่านั้น โดยไม่รวมถึงกิจการสำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองเช่นการทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา มีผลทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฎีกาและฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดวันคดีถึงที่สุดในคดียาเสพติด และการใช้บทบัญญัติทางอาญาที่เป็นคุณ
การที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 3 มาใช้บังคับในฐานกฎหมายที่เป็นคุณได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดวันสิ้นสุดระยะเวลาฎีกาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผลกระทบต่อการออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด
คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และอ่านให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ต่อมาจำเลยที่ 1 และโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า หมายจำคุกคดีถึงที่สุดของจำเลยที่ 2 สมควรออกวันใด เห็นว่า ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คำว่า "ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง" หมายถึงระยะเวลาสิ้นสุดที่กำหนดโดยกฎหมาย คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 และมาตรา 216 สำหรับกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกา และคู่ความฝ่ายนั้นมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ ในการออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดย่อมต้องกลับไปใช้ระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมาย เพื่อมิให้จำเลยผู้ซึ่งต้องถูกบังคับโทษทางอาญาต้องเสียสิทธิที่จะพึงได้รับตามกฎหมายราชทัณฑ์ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและมิได้ใช้สิทธิยื่นฎีกาภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยาย การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โดยระบุว่าให้คดีถึงที่สุด วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ซึ่งนำระยะเวลาที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขยายฎีการวมเข้าด้วยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่และ 4 ถึงที่ 6 ฟัง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจำเลยที่ 2 ย่อมสามารถใช้สิทธิยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 แต่วันดังกล่าวเป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงสิ้นสุดวันที่ 2 มิถุนายน 2558 อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 ศาลชั้นต้นย่อมต้องออกหมายจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 2 มิถุนายน 2558 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกตั้งท้องถิ่น: ความผิดฐานให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจลงคะแนน และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปี ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ขอให้ลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 โดยให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปีซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาและศาลล่างทั้งสองได้พิพากษามานั้น มิใช่กรณีเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น และมิใช่กรณีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 และถือไม่ได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ได้อีก
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ใช้บังคับโดยยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามที่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม ยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ที่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ในส่วนของบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 2 ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิมบัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 118 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่บัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 126 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษจำคุกและโทษปรับซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของโทษจำคุกและโทษปรับตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง อันเป็นส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาตามกฎหมายใหม่มีกำหนดเวลานานกว่ากฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนนี้จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ต้องใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 118 มาบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5178/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เหตุมิได้ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกามีอำนาจแก้โทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 จำคุก 4 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของ ภ. ผู้เสียหายและ ก. ผู้ตายที่ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทไม่เว้นระยะห่างให้มากพอที่จะหยุดรถได้ทัน ทำให้รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันชนท้ายรถบรรทุกพ่วงที่จำเลยขับจนเป็นเหตุให้ ฐ. และ ก. ถึงแก่ความตาย ภ. ได้รับอันตรายสาหัส ย. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน เมื่อจำเลยมิได้ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับฎีกาของจำเลยในคดีส่วนแพ่งที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 นั้น เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีส่วนแพ่ง จึงต้องห้ามฎีกาในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15แม้คดีจะต้องห้ามฎีกาดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดไว้โดยการรอการลงโทษจำคุกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4315/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณค่าปรับจากขนาดเรือประมงตามคำสั่ง คสช. แม้คำสั่งนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ศาลยังคงพิจารณาได้
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 สั่ง ณ วันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดบทลงโทษปรับไว้ในข้อ 5 วรรคเก้า ในความผิดฐานเจ้าของเรือไม่นำเรือที่ใช้ทำการประมงมาให้คณะทำงานตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์เรือภายในกำหนดเวลาและสถานที่ที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนดไว้ โดยกำหนดโทษปรับหนึ่งหมื่นบาทสำหรับเรือที่มีขนาดไม่เกินสิบตันกรอส และปรับเพิ่มตามขนาดของเรือตันกรอสละสองพันบาท การลงโทษปรับตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการปรับโดยคำนวณไปตามขนาดของเรือ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เรือที่ใช้ทำการประมงของจำเลยมีขนาดของเรือ 74.79 ตันกรอส ดังนั้น ขนาดของเรือ 0.79 ตันกรอส ในส่วนที่เกิน 74 ตันกรอส เป็นส่วนหนึ่งของขนาดเรือ จึงต้องนำมาคิดคำนวณค่าปรับดัวย มิใช่กรณีที่จะไม่นำมาคิดคำนวณเพราะขนาดของเรือในส่วน 0.79 ตันกรอส มีขนาดไม่ถึง 1 ตันกรอส ตามที่จำเลยอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บทลงโทษ พ.ร.บ.การพนัน: การลงโทษจำคุกและปรับ, การจ่ายสินบนนำจับ, และการรอการลงโทษ
พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (1) บัญญัติบทลงโทษในความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบไว้ว่า "ให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง" ซึ่งคำว่า "อีกโสดหนึ่ง" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง กระทงความส่วนหนึ่งโดยมิใช่บทบังคับให้ศาลต้องลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ จึงเท่ากับกฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วย แต่ถ้าศาลเห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยไม่จำต้องลงโทษปรับด้วยก็ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 20 สำหรับเงินสินบนนำจับนั้น ในกรณีที่มีคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 15 ศาลจะพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ก็ต่อเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยด้วย เพราะจำนวนเงินค่าปรับจะต้องนำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณว่าจะต้องจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกแต่อย่างเดียวโดยไม่ลงโทษปรับ จึงไม่อาจจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำคุกแต่อย่างเดียวโดยไม่ลงโทษปรับและไม่สั่งให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3916/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินมรดก: การครอบครอง, การโอน, และขอบเขตการฟ้องร้อง
แม้จะได้ความว่าก่อนตาย พ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ซึ่งเดิมเป็นที่ดิน น.ค. 3 เล่มที่ 17 เลขที่ 805 ที่ 18/2524 ให้แก่ บ. ก็ตาม แต่ขณะนั้นที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 จึงยังเป็นที่ดินของรัฐ การทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยทางมรดก จึงขัดกับ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามการที่ พ. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน พ. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งสิทธิดังกล่าวถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมของ พ. ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าหลังจาก พ. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ พ. ได้ตกลงให้ใส่ชื่อ บ. ในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ และการที่ได้มีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของ บ. เป็นกรณีที่ทายาทของ พ. ให้ บ. ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่เป็นส่วนของจำเลยและบุตรของ พ. คนอื่นรวมอยู่ด้วย บ. เป็นแต่เพียงมีชื่อในโฉนดแทนบุตรคนอื่นเท่านั้น บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่ อ. อ. จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในที่ดินพิพาท สิทธิของโจทก์ผู้รับโอนต่อมาก็คงมีสิทธิในทำนองเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3851/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดูหมิ่นผู้อื่นและการเปลี่ยนแปลงฐานะหน่วยงาน: ผลกระทบต่อความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 โดยมาตรา 5 วรรคสอง ให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ดังนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงเป็นองค์การมหาชนที่แยกออกจากระบบราชการ หาใช่ส่วนราชการที่สังกัดกระทรวง ทบวง กรมของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไปไม่ และตาม ป.อ. มาตรา 1 (16) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนี้ เมื่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มิได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ตรวจข้อมูลข่าวสารก็หาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ ผู้เสียหายจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น แม้จำเลยจะดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยดูหมิ่นผู้เสียหายในฐานะบุคคลธรรมดา ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 (เดิม) แล้ว ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: การพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญา
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งมิได้มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสี่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นการละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ พิพากษายกฟ้องและยกคำขอในส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วนำข้อเท็จจริงในฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องส่วนแพ่งและพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 131 (2) ประกอบพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง มีผลเป็นการพิพากษาคดีส่วนแพ่งแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามมาตรา 151
of 6