คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ยงยุทธ แสงรุ่งเรือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 56 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษซ้ำซ้อนในคดีความผิดเกี่ยวเนื่องกัน ศาลต้องคำนึงถึงบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)
คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นมีลักษณะแห่งคดี และความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน โจทก์จึงอาจจะฟ้องคดีทั้งแปดสำนวนเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 โดยศาลชั้นต้นมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมและจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจนำโทษของจำเลยในคดีนี้ไปนับต่อกับโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นได้ เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2047/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเก็บรักษาและขนส่งของตกค้างจากขายทอดตลาด, ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้, และค่าฤชาธรรมเนียม
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 63 บัญญัติว่า "เงินที่ได้จากการขายตามมาตรา 61 นั้น ให้หักใช้ค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าย้ายขน หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นอันค้างชำระแก่กรมศุลกากรเสียก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่าง ๆ อันสมควรจะได้และค้างชำระแก่ตัวแทนของเรือที่นำของเข้ามา เมื่อได้หักเช่นนี้แล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของจะได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเจตนาให้จัดสรรเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นประโยชน์อันเกี่ยวข้องกับของตกค้างไว้ 4 รายการ รายการที่หนึ่งค่าภาษี รายการที่สองค่าเก็บรักษา รายการที่สามค่าย้ายขน หรือรายการที่สี่ค่าภาระติดพันอย่างอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับของตกค้างเสียก่อน เหลือเท่าใดจึงให้คืนแก่เจ้าของที่ได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องบริษัทผู้นำเข้าของตกค้าง โดยคดีถึงที่สุดไปแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 20027/2556 ของศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าภาระการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้า และค่าขนย้าย 13,814,377.20 บาท ซึ่งผู้ร้องและจำเลยมิได้คัดค้านเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าเก็บรักษาและค่าย้ายขนตามจำนวนดังกล่าวที่มีสิทธิได้รับจัดสรรเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างก่อนเจ้าของตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 63 เมื่อเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดของตกค้างหลังจากได้หักใช้ค่าภาษีอันค้างชำระแก่จำเลยแล้ว คงเหลือ 8,834,899 บาท จึงต้องจัดสรรให้แก่โจทก์ทำให้ไม่มีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างที่จะตกได้แก่ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นเจ้าของอีก
กรณีนี้ เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงิน การที่จำเลยปฏิเสธไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย ไม่มีเหตุผลหรือบทบัญญัติตามกฎหมายข้อใดที่กำหนดให้จำกัดความรับผิดของจำเลยไว้เพียงต้นเงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา แต่จะถือว่าจำเลยผิดนัดในวันขายทอดตลาดของตกค้างดังกล่าวไม่ได้เพราะโจทก์เพิ่งมีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงิน ฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ระบุให้จำเลยส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 แล้วเพิกเฉย ถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์นับแต่วันพ้นกำหนด 7 วันดังกล่าว ให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับถัดจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2556

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะเจ้าพนักงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายอาญา มาตรา 157
การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามบทนิยามแห่ง ป.อ. มาตรา 1 (16) ที่บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ เมื่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงดังกล่าว และไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงหรือที่มีฐานะเป็นกระทรวงตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จำเลยทั้งสิบสองซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รักษาการแทนรองอธิการบดี รักษาการแทนคณบดี หัวหน้าส่วน และเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงมิใช่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป และเมื่อพิจารณา พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะทั้งฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 12 ที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ จำเลยที่ 1 มีคำสั่งย้ายโจทก์ และจำเลยทั้งสิบสองกระทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ตามคำฟ้อง จึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 1 (16)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 280/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติด: ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้ข้อกล่าวหาในฟ้องไม่ตรงกับพฤติการณ์
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับ บ. และจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่สายลับ จึงมิอาจถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และ บ. ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนคดีนี้ บ. เป็นตัวการสำคัญมีอำนาจตัดสินใจในการขายเมทแอมเฟตามีน ในขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 บ. ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อมายังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีของ ส. ตามที่เคยทำมาก่อน แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธเนื่องจากเครื่องไม่รับ บ. จึงบอกว่าจะมอบให้จำเลยที่ 2 มารับเงินแทน บ. ที่บริเวณปากซอยเชื่อมสัมพันธ์ 24 อันถือได้ว่าเป็นการกระทำเกี่ยวเนื่องกับการชำระค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่ บ. นั่นเอง การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนยังไม่ขาดตอน เมื่อจำเลยที่ 2 มาจอดรถกระบะรอรับเงินและถูกจับได้ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ หรือเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดอันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง เพราะข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7624/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉีกบัตรเลือกตั้งและโพสต์เผยแพร่ ถือเป็นความวุ่นวาย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ หรือจงใจกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุดหรือเสียหาย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเพียงแค่ทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าบัตรออกเสียงนั้นจะทำเครื่องหมายกากบาทแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงถือว่าเป็นการทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง จึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง รับบัตรออกเสียงจากเจ้าหน้าที่แล้วไม่ทำเครื่องหมายกากบาทในช่องที่กำหนดภายในคูหาลงคะแนนออกเสียง แต่กลับไปยืนหน้าหีบบัตรออกเสียงพร้อมทั้งชูบัตรออกเสียงขึ้นเหนือศีรษะพร้อมพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" พร้อมฉีกบัตรออกเสียง โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวจนเจ้าพนักงานตำรวจต้องเข้าระงับเหตุ ห้ามปรามและนำตัวออกไป ถือได้ว่าเป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 60 (9) ขณะเกิดเหตุรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ใช้บังคับ ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาตรา 4 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข... ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 27 บัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง...ย่อมได้รับความคุ้มครอง... และมาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลย่อม...ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจำเลยทั้งสามย่อมมีสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ต้องใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ขัดต่อกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียง และจำเลยทั้งสามก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามจะอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7446/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
เมื่อการกระทำของจำเลยถือเป็นการสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่จำเลยกับพวกได้มีการสมคบกัน กับร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 16 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไป 2 เม็ด ย่อมถือว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมีลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกันและเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน โดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันและสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ การมีเมทแอมเฟตามีน 16 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วแบ่งจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 2 เม็ด ให้แก่สายลับ จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกันซึ่งต้องเรียงกระทงลงโทษจำเลยทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 16 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวกันมีโทษเท่ากันลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกระทงหนึ่ง กับฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด เป็นการกระทำกรรมเดียวกันมีโทษเท่ากันลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6296/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการแก้ไขประเด็นข้อพิพาทให้ตรงตามที่คู่ความยื่นคำคัดค้าน ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเด็นนอกเหนืออำนาจ
ในชั้นทำคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการ เห็นว่า ในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีการเรียกผู้คัดค้านทั้งสองสลับกัน จึงได้วินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขโดยเรียกผู้คัดค้านให้ตรงตามที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทและผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน การแก้ไขและการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นไปตามประเด็นที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงไม่ต้องด้วยกรณีที่จะอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้รับมอบอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ – ผลกระทบต่อคำพิพากษา – การตีความหนังสือมอบอำนาจ
สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฉ้อฉลโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้กระทำได้นั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2)
การตีความหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องโจทก์ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีสิทธิฎีกาได้
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้พิพากษาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะและขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นละ 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่จัดซื้อแบ่งซื้อยาเพื่อใช้เงินงบประมาณปลายปี ไม่เข้าข่ายทุจริต ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
จำเลยแบ่งการจัดซื้อยาโดยลดวงเงินแต่ละครั้งให้เหลือครั้งหนึ่งไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจของจำเลยที่จะจัดซื้อได้โดยวิธีตกลงราคา จึงเป็นวิธีการเพื่อให้แบ่งซื้อสำเร็จ สามารถใช้เงินงบประมาณปลายปีได้หมดตามเจตนาของจำเลย หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 22 วรรคสอง อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 แม้จำเลยจัดซื้อยาในปีงบประมาณ 2540 รวม 10 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2541 รวม 12 ครั้ง ถือว่าจำเลยมีเจตนาเดียวที่จะใช้เงินงบประมาณให้หมดในแต่ละปีงบประมาณ ย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวในแต่ละปีงบประมาณ จึงเป็นความผิด 2 กระทง หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่จัดซื้อรวม 22 กระทง ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อเท็จจริงจากคดีแพ่งใช้ไม่ได้ผูกพันคดีอาญา ศาลต้องสืบพยานหลักฐานเอง
ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เพราะหลักการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในคดีแพ่งศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานโจทก์พอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ฉะนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่ง จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบคำพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในคดีนี้ ว่าข้อเท็จจริงมีน้ำหนักพอรับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่เท่านั้น ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งดังกล่าวเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยมิได้สืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความเสียก่อน เป็นการไม่ชอบ
of 6