คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป ชุ่มวัฒนะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 581 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิซื้อขายและการชำระหนี้บางส่วน ไม่เข้าข่ายสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 453, 456 จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ
โจทก์เป็นคู่สัญญาในการซื้อขายโรงสีกับ ป. โจทก์ โอนสิทธิในการเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ซื้อให้แก่จำเลยยอมให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับ ป. แต่มีข้อตกลงกันว่าจำเลยจะชำระเงิน 20,000 บาท ที่โจทก์วางมัดจำไว้กับ ป. คืนให้โจทก์นั้น มิใช่โจทก์โอน กรรมสิทธิ์ในโรงสีให้จำเลย กรรมสิทธิ์ในโรงสียังเป็นของ ป. ถ้าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ก็ต้องมีการโอนระหว่างป. กับจำเลย เงิน 20,000 บาทที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงมิใช่ราคาโรงสีที่จำเลยจะได้รับโอนข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญา (ต่างตอบแทน)อย่างหนึ่ง มิใช่สัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 453, 456 จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระ เงินจำนวนดังกล่าวนั้นตามที่ ตกลงกันไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: การพิสูจน์เจตนาฝ่าฝืนระเบียบ และข้อความในเอกสารที่ไม่เข้าข่ายการปลุกปั่น
ลูกจ้างมีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้างหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ข้อความในใบปลิวเป็นแต่แถลงผลการเจรจา และขอให้ต่อสู้ต่อไปไม่เป็นการผิดระเบียบที่จะเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเมื่อเลิกจ้าง จำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องควบคู่กัน
ความผิดพลาดในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้างเกิดขึ้น เพราะนายจ้างใช้บทกฎหมายเกี่ยวกับค่าชดเชยไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ของค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แล้ว นายจ้างก็หักเงินบำเหน็จที่จ่ายให้ลูกจ้างรับไปแล้วออกจากจำนวนค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476-477/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ขององค์การสะพานปลาไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
เงินสมทบตามข้อบังคับองค์การสะพานปลา ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 ข้อ 11 เป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มิใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โบนัส-บำเหน็จ: สิทธิลูกจ้างรับโอนจากรัฐวิสาหกิจ vs. ลูกจ้างใหม่ตามสัญญาเช่า
เงินโบนัสและเงินบำเหน็จเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างจะต้องจ่ายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ เช่นค่าชดเชยดังนั้น นายจ้างจะจ่ายเงินโบนัสและเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ และถ้าจ่ายจะจ่ายด้วยวิธีการและหลักเกณฑ์อย่างใดก็ต้องแล้วแต่นายจ้างจะกำหนด หรือตามสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วแต่กรณี เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ โจทก์บางคนที่จำเลยรับเข้าทำงานเองมิได้มีความผูกพันอยู่กับสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อจำเลยได้มีคำสั่งและประกาศให้ทราบแล้วว่า ให้แยกจ่ายเงินค่าครองชีพต่างหากจากเงินเดือนและค่าจ้าง ทั้งโจทก์ก็ได้ยอมรับเอาเงินโบนัสและเงินบำเหน็จไปแล้ว มิได้มีการโต้แย้งหรือเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเป็นประการอื่น จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยนำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินโบนัสหรือเงินบำเหน็จเพิ่มอีกได้
ส่วนโจทก์บางคนที่จำเลยรับโอนจากโรงงานสุรากรมโรงงานอุตสาหกรรมตามสัญญาเช่านั้น จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่า โดยที่ขณะสัญญาเช่ายังมีผลบังคับกระทรวงการคลังได้สั่งให้รัฐวิสาหกิจที่จ่ายเงินค่าครองชีพเงินค่ายังชีพ หรือเงินที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นแต่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นำเงินดังกล่าวไปบวกรวมเข้ากับเงินเดือนค่าจ้าง และนำยอดรวมไปปรับเข้าขั้นเงินเดือนค่าจ้าง ตามบัญชีอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ที่รัฐวิสาหกิจใช้อยู่ ซึ่งเห็นว่าตามวิธีการที่กำหนดนี้ย่อมเป็นการให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจดีขึ้นในการคำนวณเงินโบนัสและเงินบำเหน็จ ฉะนั้น จึงอยู่ในข้อบังคับของสัญญาเช่าอันเป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือคำสั่งทางราชการดังกล่าว ด้วยเหตุนี้โจทก์ที่จำเลยรับโอนมาจึงมีสิทธิจะให้จำเลยนำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินโบนัสและเงินบำเหน็จเพิ่มอีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างรายงานเท็จเพื่อรับค่าแรง ย่อมเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้
ผู้คัดค้านมีหน้าที่ตัดผ้าใบ แล้วไม่ตัดผ้าใบตามคำสั่งกลับทำรายงานเท็จว่าตัดเสร็จแล้ว เพื่อแสวงหาประโยชน์จากเงินค่าแรงที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1)(2) จึงเป็นความผิดทางวินัยดังระบุไว้ตามข้อบังคับของผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตวินัยลูกจ้าง: การประพฤติชั่วร้ายแรงนอกเวลางานและผลกระทบต่อการเลิกจ้าง
ลูกจ้างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเป็นใจความว่า นายจ้างน่าจะกำหนดวินัยและโทษทางวินัยได้เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงาน ส่วนนอกเวลาทำงานเป็นเรื่องส่วนตัวของลูกจ้างเมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำให้นายจ้างเสียหาย นายจ้างจะเอาเรื่องส่วนตัวของลูกจ้างซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำงานและไม่เกี่ยวกับความประพฤติในเวลาทำงานมาเป็นเหตุไล่ลูกจ้างออกฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงย่อมไม่เป็นการถูกต้องนั้นแม้ปัญหาข้อนี้จะมิได้ยกขึ้นอ้างอิงมาแต่ต้นแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีสิทธิอ้างอิงได้
นายจ้างผู้ประกอบกิจการทั้งหลายนอกจากต้องการให้ลูกจ้างร่วมกันทำงานด้วยความเรียบร้อยราบรื่นและมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมต้องการรักษาชื่อเสียงของกิจการของตนไม่ให้เสื่อมเสียด้วย และการที่ลูกจ้างจะสามารถร่วมกันทำงานดังกล่าวย่อมต้องอาศัยความสามัคคีไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์กันในหมู่คณะของลูกจ้างนั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในข้อที่ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยจึงอาจครอบคลุมถึงความประพฤติส่วนตัวบางประการของลูกจ้างนอกเวลาทำงานได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินชดเชยและบำเหน็จของนายจ้างตามระเบียบ และกฎหมายแรงงาน: การพิจารณาว่าเงินบำเหน็จรวมเป็นค่าชดเชยแล้ว
ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน ฯลฯ ของโรงงานจำเลยกำหนดว่าเมื่อพนักงานประจำต้องออกจากงานจะได้รับเงินชดเชยและเงินบำเหน็จทั้งสองอย่างและตอนต้นของระเบียบได้กล่าวถึงเหตุผลในการออกระเบียบนี้ว่า โดยที่ได้พิจารณาเห็นสมควรกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดงาน ค่าจ้าง เงินชดเชยเงินค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ และบำเหน็จพนักงานและคนงานในโรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงานระเบียบนี้ประกาศใช้ภายหลังที่ได้มีพระราชบัญญัติแรงงานพ.ศ.2499 ต่อมาพระราชบัญญัติแรงงานฯ ได้ถูกยกเลิกไปและมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งกำหนดอัตราค่าชดเชยไว้เป็นผลดีแก่ฝ่ายลูกจ้างมากขึ้นกว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานฯ ส่วนระเบียบการจ่ายเงินชดเชยของจำเลยมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใด ดังนี้หากจำเลยจ่ายค่าชดเชยน้อยไปไม่ครบตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจำเลยก็มีหน้าที่ต้องจ่ายให้ครบ ส่วนเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยนั้น ต้องการให้พนักงานที่ทำงานมาด้วยดีได้รับเงินตอบแทนความชอบอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากเงินชดเชย และบำเหน็จนี้ตามระเบียบของจำเลยกำหนดว่าถ้ามากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าน้อยกว่าก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว แปลได้ว่า พนักงานประจำทุกคนมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานจนครบตามสิทธิของตนและยังมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีกด้วยถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่มาก กว่าเงินชดเชย เมื่อรวมกับเงินชดเชยแล้วก็จะได้เท่ากับเงินบำเหน็จทั้งหมดนั่นเอง แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชยอย่างเดียว ดังนั้นเห็นได้ว่าเงินบำเหน็จที่พนักงานได้รับไปนั้น เป็นเงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยหรือค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ รวมอยู่ด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ทุกคนได้รับบำเหน็จไปแล้วมีจำนวนเงินเกินกว่าค่าชดเชยที่ขอมาตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทุกคนไปแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 376-377/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการฟ้องผิดตัวบุคคลในคดีแรงงาน
จำเลยให้โจทก์ออกจากงานซึ่งเป็นการไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ โดยถืออัตราค่าจ้างก่อนโจทก์ถูกเลิกจ้างมาเป็นการคำนวณค่าเสียหายการจะใช้คำว่าค่าจ้างหรือค่าเสียหายไขว้เขวไป ไม่ทำให้อายุความ 10 ปีเรื่องจำเลยผิดสัญญาจ้างเปลี่ยนแปลงไปเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
การฟ้องผิดตัวจำเลยเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ถ้าศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นเองได้
ศาลมีอำนาจคำนวณค่าเสียหายให้ได้ตามที่เห็นสมควรอุทธรณ์ของโจทก์โต้เถียงวิธีคิดค่าเสียหายซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 367/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบังคับบริษัทกำหนดอายุเกษียณไม่ใช่สัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลา จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ข้อบังคับของการเคหะแห่งชาติว่าด้วย การจ้าง การแต่งตั้งการออกจากตำแหน่ง วินัย และการลงโทษของลูกจ้างว่า"ลูกจ้างคนใดมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในปีงบประมาณที่ลูกจ้างนั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์" นั้นเป็นกรณีกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างไว้เป็นการทั่วไป อาจมีอยู่ก่อนที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าเป็นลูกจ้างหรือเพิ่งมีขึ้นหลังจากบุคคลนั้นเข้าเป็นลูกจ้างแล้วก็ได้ มิใช่เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นรายๆ ไปว่าจะจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใด แม้โจทก์ซึ่งเกิดปี พ.ศ.2463 อาจคำนวณอายุของตนและทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จำเลยจะจ้างโจทก์เพียงวันที่ 30 กันยายน 2523 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
of 59