คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 91

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การในคดีอาญาต้องมีเหตุสมควร และความผิดพรากเด็กกับกระทำชำเราเป็นคนละกรรม
จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่ตามอำเภอใจของจำเลย อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลที่เห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ไขได้ การที่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ โดยขอให้การใหม่เป็นให้การปฏิเสธว่าได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จริง โดยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี คำให้การดังกล่าวของจำเลยหาทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อีกทั้งในวันสืบพยานโจทก์เมื่อโจทก์นำผู้เสียหายที่ 2 เข้าเบิกความต่อหน้าจำเลยในช่วงเช้า ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบศาลว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปี จำเลยย่อมต้องทราบแล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ต่อในช่วงบ่าย จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนั้น เจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมเอกสาร, การอ้างพยาน, และการพิจารณาความผิดหลายกรรม
ป.วิ.อ. มาตรา 232 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกัน แต่ น. มิได้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232
เมื่อมีการปลอมหนังสือเดินทางซึ่งออกให้แก่บุคคลหนึ่งแล้วต่อมาปลอมตราประทับของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประทับลงในหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้นนั้นเพื่อให้มีรายการครบถ้วน ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำหนังสือเดินทางดังกล่าวไปใช้ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยปลอมหนังสือเดินทางเสร็จฉบับหนึ่งก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว เพราะโดยสภาพของการกระทำย่อมแยกออกจากกันได้ เมื่อจำเลยปลอมหนังสือเดินทาง 2 ฉบับ ต่างรายกัน จึงเป็นความผิดสองกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4686/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารราชการ (อนุโมทนาบัตร) และหนังสือราชการ มีความผิดหลายกระทง
ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขอบใจหรืออนุโมทนาบัตร พ.ศ. 2523 ข้อ 3 ระบุว่าเมื่อมีผู้บริจาคทรัพย์สินแก่วัดให้เจ้าอาวาสหรืออธิบดีเจ้าสังกัดตอบขอบใจหรืออนุโมทนา เห็นได้ว่าการออกอนุโมทนาบัตรจะต้องออกโดยเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ซึ่ง ป.อ. มาตรา 1 (8) ระบุว่า "เอกสารราชการ" หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย และตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 บัญญัติไว้ให้ไวยาวัจกรและเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานด้วย ดังนั้นอนุโมทนาบัตรจึงเป็นเอกสารราชการ
การกระทำของจำเลยที่กรอกข้อความลงในแบบอนุโมทนาบัตรจำนวน 38 ฉบับ กับปลอมหนังสือราชการของจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ดรวม 3 ฉบับ เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงถือได้ว่าจำเลยได้กระทำ หลายกรรมและผิดต่อกฎหมายรวม 41 กระทง