คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรชาติ บุญศิริพันธ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ผิดกฎหมายและนำเข้าโดยหลีกเลี่ยงอากร ศาลแก้ไขโทษฐานความผิดกรรมเดียวและกรรมต่างกัน
ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร มีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องเป็นการกระทำเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และการพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่ากัน แต่คดีนี้ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 3,030 บาท หากมีการลงโทษปรับสูงสุดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จะลงโทษปรับได้เป็นเงิน 12,120 บาท แต่ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับได้สูงสุดหนึ่งแสนบาท จึงถือว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีไม้แปรรูปและไม้หวงห้าม การแยกความผิดหลายกรรมต่างกัน และการพิจารณาโทษ
การกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นความผิดตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ กระทงหนึ่งส่วนความผิดฐานมีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 48 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกันอีกระทงหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดในบทบัญญัติเดียวกันไม่ เมื่อ ป.อ. มาตรา 91 ซึ่งบัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรมมิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตราย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกัน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีไม้แปรรูปและไม้หวงห้ามที่ยังไม่ได้แปรรูปดังกล่าวไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้หวงห้ามซึ่งยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม้เหล่านี้ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและภายหลังร่วมกันแปรรูปไม้แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แม้จะบรรยายถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ด้วยว่า การทำไม้และแปรรูปไม้ดังกล่าว เป็นการกระทำตามที่ได้รับการใช้จ้างวานจากจำเลยที่ 6 ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะไม่สามารถเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดในฐานดังกล่าวได้ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีมูลเหตุจูงใจอย่างไรก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้วกลับกลายเป็นเพียงผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6985/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุข้อความปฏิเสธการยอมความในคดีอาญาในสัญญา ไม่ขัดกฎหมายและไม่เป็นโมฆะ
การยอมความกันที่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ต้องเป็นการแสดงเจตนาของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายตกลงไม่ดำเนินคดีอาญาหรือเอาผิดทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ข้อความที่ว่า "การยอมรับชำระหนี้ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญา" มีความหมายว่าโจทก์ไม่ให้ถือเอาความตกลงยินยอมรับชำระหนี้จากจำเลยตามที่ระบุในหนังสือรับสภาพความรับผิดและบันทึกรับสภาพหนี้เป็นการตกลงยอมความในคดีอาญา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามไม่ให้ผู้เสียหายหรือโจทก์ทำเช่นนั้น ทั้งไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะเป็นสิทธิผู้เสียหายโจทก์ที่จะยอมความในคดีอาญาอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือไม่ก็ได้ การระบุข้อความเช่นว่านั้นจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6142/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจสอบสวนอาญา: การสอบสวนที่เกินเขตอำนาจและผลกระทบต่อการฟ้องคดี
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน นอกจากสามกรณีดังกล่าวแล้วพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีการอ้างหรือเชื่อว่าความผิดนั้นได้เกิดภายในเขตอำนาจของตนโดยพนักงานสอบสวนเข้าใจหรือมีความเชื่อว่าความผิดได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน ซึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ความผิดไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน แต่ได้เกิดในสถานที่อื่น
เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมพบความผิดเกิดขึ้นในที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่เกิดเหตุโดยชัดแจ้งแล้ว ไม่มีข้ออ้าง ข้อสงสัยหรือความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือเชื่อว่าความผิดได้เกิดในเขตอำนาจของตนซึ่งอยู่ในเขตอำเภอไทยเจริญ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญมีอำนาจสอบสวนได้ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำเภอไทยเจริญ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและมีผลห้ามโจทก์ฟ้องคดีตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5247/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: ยาสูบลักลอบนำเข้าและหลีกเลี่ยงภาษีอากร ศาลฎีกาพิพากษาใช้กฎหมายที่บังคับใช้ขณะกระทำผิดและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ที่เป็นคุณแก่จำเลย
จำเลยซื้อหรือรับยาสูบของกลางที่ผลิตในต่างประเทศโดยมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรขาเข้าไว้ในความครอบครอง และยาสูบนั้นมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ กับจำเลยมียาสูบจำนวนเดียวกันนั้นไว้เพื่อขาย แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทกฎหมายหลายฉบับแต่เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมายก็ถือได้ว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2548 มาตรา 12 ยกเลิกมาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 และให้ใช้ความใหม่แทนกับมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 15) พ.ศ.2545 มาตรา 6 ยกเลิกมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2530 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่มาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่แก้ไขใหม่ เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5012/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉ้อโกง: การปกปิดภาระหนี้สินและข้อเท็จจริงสำคัญในการซื้อขายที่ดิน ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายกฟ้องเนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายรายพิพาทจำเลยทั้งสี่ไม่อาจทราบเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดขึ้นในภายหลังทั้งที่ดินและอาคารตามสัญญาจะซื้อจะขายรายพิพาทก็ไม่ใช่ที่ดินที่จำเลยที่ 3 นำไปประกันหนี้ในคดีแพ่งที่จำเลยที่ 3 ถูกธนาคารฟ้องบังคับจำนอง และจำเลยที่ 3 เคยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารที่เคยขายให้แก่โจทก์ได้มาแล้ว กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 3 ถูกธนาคารฟ้องเป็นคดีแพ่งไม่แจ้งให้โจทก์ทราบจำนวนเงินที่จำเลยที่ 3 เป็นหนี้ธนาคาร ปกปิดข้อเท็จจริงในการชำระหนี้ตามข้อตกลงที่ทำไว้ จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ขวนขวายขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารและนำที่ดินพิพาทมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการเพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาการกระทำความผิดหลายกรรม: ครอบครอง-จำหน่ายยาเสพติด แม้เป็นส่วนหนึ่งของชุดเดียวกัน ก็ถือเป็นคนละกรรมได้
แม้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับจะเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายทั้งหมดก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยก็แยกเจตนาเป็นสองกรรมต่างหากจากกันได้เพราะการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวไม่
การที่จำเลยได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับตามที่ได้ตกลงกันถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนสำเร็จบริบูรณ์แล้ว แม้จะยังไม่ได้ชำระราคาหรือเงินให้กันก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน หาใช่เป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การประเมินค่าเสียหาย, การลดราคาที่ดิน, และสิทธิในการเข้าถึงถนนสาธารณะ
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินการเวนคืน รวมทั้งบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตลอดจนเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกเวนคืนจะได้รับในกรณีใดบ้างไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์จะต้องเวนคืนและได้มีการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะเวนคืนจากจำเลยทั้งสี่ถ้าการเวนคืนที่ดินของโจทก์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และที่ดินส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลงโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับเงินค่าทดแทนเฉพาะสำหรับที่ดินส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วยตามมาตรา 21 วรรคสาม หาจำต้องรอให้จำเลยที่ 2 ลงมือก่อสร้างหรือก่อสร้างทางลงถนนศรีนครินทร์ให้เสร็จสิ้นก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่
โจทก์ยังไม่ได้ไประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่ดินที่จะต้องเวนคืนนั้นตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคห้าบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายอันเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตามโครงการของโจทก์ได้ ทั้งโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนหรือสิทธิใดเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ต้องสร้างทางเข้าออกสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา, อัตราดอกเบี้ยสูงสุด, การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่ตกลง, และการแก้ไขโดยศาลตามอำนาจ
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ โดยขอให้เฉพาะจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าธรรมเนียมการชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 4,964,434.49 บาท กับค่าโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 1,600 บาท แก่โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงมิได้เป็นจำเลยตามอุทธรณ์ดังกล่าว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เพื่อแก้อุทธรณ์ด้วยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ
การคิดคำนวณหนี้เป็นเงินไทยโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินสำหรับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีททุกจำนวนนั้น โจทก์ได้ใช้สิทธิเลือกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไป และการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์ต้องปฏิบัติตามสัญญาทรัสต์รีซีท ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ แต่ปรากฏว่า โจทก์ชำระดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 แทนจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 และตั๋วแลกเงินที่โจทก์ออกสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ก็มีวันครบกำหนดจ่ายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น โจทก์จึงต้องคำนวณหนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 จำนวน 106,013.45 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันของโจทก์ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ซึ่งมีอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.70 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินไทยจำนวน 3,360,626.37 บาท การที่โจทก์คำนวณหนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 26 มกราคม 2541 ซึ่งมีอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 55 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินไทยจำนวน 5,830,739.75 บาท นั้นเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ชอบ
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีทให้แก่โจทก์ ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และสัญญานี้ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นการระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ก็ตาม แต่ก็ระบุเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ย่อมต้องหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขซึ่งมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยไม่ตรงตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ประกอบด้วยข้อ 4 จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินไปโดยไม่ถูกต้องตามสัญญาทรัสต์รีซีทและขัดต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศธนาคารโจทก์ กับ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ปัญหาการคิดอัตราแลกเปลี่ยนและการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ที่ทำให้จำนวนหนี้สูงเกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระโดยมิชอบดังกล่าว เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้า การแจ้งข้อความเท็จ และการบังคับตามมาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้ารูปตา 1 ตา และเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรี 1 ตัว และจำเลยได้ทำเครื่องหมายการค้ารูปตา 3 ตา ประกอบกับนกอินทรี 3 ตัว แต่ลักษณะดวงตามีรัศมี 19 เส้น เหมือนรูปตาตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์และรูปนกอินทรีก็ถือกิ่งไม้ 1 กิ่ง กับลูกศร 3 ดอก เหมือนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์เช่นกัน คงต่างกันแต่จำนวนดวงตาและจำนวนนกอินทรีเท่านั้น และจำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าที่ทำขึ้นไปใช้กับสินค้าของจำเลยนำออกจำหน่าย อันแสดงให้เห็นได้ถึงเจตนาของจำเลยที่จะทำให้ประชาชนสับสน หลงผิด หลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นและนำไปใช้กับสินค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ย่อมเป็นความผิดตามคำฟ้องได้ โดยไม่จำต้องคำนึงถึงกรณีที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้านั้นแล้ว จำเลยจะนำไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้หรือไม่ หรือนายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้หรือไม่
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวนั้น เป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นนั้น ในภาพรวมของแต่ละเครื่องหมายมีลักษณะเพียงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น ไม่ได้เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการจนถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนทั้งสองเครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และแม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ฎีกาขึ้นมาโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิด ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225
การที่โจทก์จะขอให้ศาลบังคับตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 116 ต้องปรากฏในขณะที่ยื่นคำขอว่าจำเลยได้กระทำการหรือกำลังจะกระทำการปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีคำขอดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องซึ่งบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดข้อหาปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ระหว่างเดือนมกราคม 2536 ถึงปลายเดือนมกราคม 2540 อันเป็นการแสดงว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวเสร็จสิ้นไป ก่อนวันที่โจทก์มีคำขอมาท้ายคำฟ้องประมาณ 7 เดือน ไม่ใช่กรณีที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำการหรือกำลังจะกระทำการดังกล่าวในขณะที่โจทก์มีคำขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 คำขอของโจทก์เช่นนี้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 116 ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้จำเลยระงับหรือละเว้นการปลอม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กรณีเช่นนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
of 2