คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 61

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 193 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104-3105/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจหน้าที่แทนนายจ้างในการสั่งทำงานล่วงเวลา/วันหยุด และการเป็นลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา/ทำงานในวันหยุด
การพิจารณาว่า ลูกจ้างซึ่งดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารจะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 และมาตรา 66 โดยมาตรา 65 บัญญัติว่า "ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63... (1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง...ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง" และมาตรา 66 บัญญัติว่า "ลูกจ้างตามมาตรา 65 (1) ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา 62 เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง" ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (1) นั้น ต้องได้ความว่า สำหรับกรณีการจ้าง ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจจ้างลูกจ้างที่จะเข้าทำงานกับนายจ้างได้ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่การคัดเลือกลูกจ้าง การกำหนดค่าจ้าง และการอนุมัติให้จ้างลูกจ้าง สำหรับกรณีการให้บำเหน็จ ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจประเมินผลงานแล้วมีอำนาจเลื่อนเงินเดือนให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ และสำหรับกรณีเลิกจ้าง ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างได้ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ หากลูกจ้างคนนั้นมีอำนาจคัดเลือกลูกจ้างที่จะเข้าทำงาน แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเพื่ออนุมัติการจ้าง หรือมีอำนาจประเมินผลงานและเสนอเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเป็นผู้อนุมัติให้เลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาของลูกจ้างคนนั้น หรือมีอำนาจเสนอให้เลิกจ้างลูกจ้าง แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเป็นผู้อนุมัติให้เลิกจ้าง ถือไม่ได้ว่า ลูกจ้างคนนั้นมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้างตามมาตรา 65 (1) ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง สำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 มาตรา 62 และมาตรา 63 แสดงให้เห็นว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้สั่ง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด คดีนี้ได้ความว่า จำเลยที่ 2 สั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่ประเทศแอลจีเรียโดยอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของบริษัทร่วมทุน โดยไม่ปรากฏว่า ผู้อำนวยการร่วมของบริษัทดังกล่าวมีอำนาจสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 นายจ้างของโจทก์ สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18660-18677/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างตามกฎหมาย: ศาลยืนตามคำพิพากษาให้จ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณจากค่าครองชีพด้วย
เงินประเภทใดจะเป็นค่าจ้างหรือไม่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ผู้ใดจะวางระเบียบหรือตกลงให้ผิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างมีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดมาทำนองเดียวกับเงินเดือน ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพเกี่ยวข้องกับภาวะค่าครองชีพโดยเฉพาะหรือจ่ายเพื่อช่วยเหลืออื่นใด ค่าครองชีพดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 ซึ่งต้องนำไปคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลา แม้จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ให้นำค่าครองชีพไปรวมคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อมาตรา 61 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณจากค่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14550-14707/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องเคลือบคลุมในคดีแรงงาน และการกำหนดหน้าที่นำสืบของศาลแรงงาน
การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดบรรยายฟ้องว่า โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานกับจำเลยตามวัน เดือน ปี ที่ระบุในคำฟ้องจนถึงวันสุดท้ายที่อ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง และเรียกค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลา โดยนับจากวันที่โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานจนถึงวันสุดท้ายที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุแล้วคำนวณเป็นยอดเงินรวมของค่าจ้าง ค่าทำงานวันหยุด และค่าล่วงเวลา โดยมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยค้างจ่ายเงินดังกล่าวในงวดใด วัน เดือน ปีใด และค้างจ่ายแต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะวันหยุดนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 มีถึง 3 ประเภท คือวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งตามมาตรา 61 บัญญัติค่าทำงานในวันหยุดสำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดกับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดไว้แตกต่างกัน แต่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดมิได้บรรยายคำฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยค้างชำระค่าทำงานในวันหยุดประเภทใด อัตราค่าทำงานในวันหยุดเท่าไร คำฟ้องของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดจึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
การกำหนดประเด็นพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
เดิมโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดซึ่งเป็นคนต่างด้าวพักอาศัยในโรงงานของจำเลย ต่อมาขอออกไปพักอาศัยนอกโรงงานโดยทำข้อตกลงร่วมกับจำเลยว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลงโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง การที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าหากไม่มีใบอนุญาตทำงานจะไม่สามารถทำงานกับจำเลยต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป การที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดทำงานเป็นการดำเนินการให้ต้องตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปด หาใช่เกิดจากความประสงค์ของจำเลยแต่ต้นที่จะไม่ให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดทำงานไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5978/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าจ้างเหมาจ่ายรวมค่าล่วงเวลาขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และการคำนวณค่าล่วงเวลาที่ถูกต้อง
การคำนวณว่านายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้ลูกจ้างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ต้องรู้อัตราค่าจ้างในเวลาทำงานตามปกติเสียก่อนยิ่งไปกว่านั้นหากนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา นายจ้างจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ยินยอมทำงานล่วงเวลาคราวใด นายจ้างอาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เฉพาะในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นกรณีฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 และมาตรา 61 ข้อตกลงรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้างในเวลาทำงานตามปกติโดยไม่มีการคิดค่าล่วงเวลาที่ทำจริง จึงเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างทั้งมีลักษณะเป็นการผูกพันให้ลูกจ้างต้องยอมทำงานล่วงเวลาตลอดไปโดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆ ไป และโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาอีกด้วย จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8242-8246/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลาเป็นสินจ้างตามกฎหมาย และศาลแรงงานมีอำนาจค้นหาความจริงได้เอง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ... และคำว่า "ค่าล่วงเวลา" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน แม้ค่าล่วงเวลาจะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายดังกล่าว เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานนอกเวลาปกติ ซึ่งนายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ค่าล่วงเวลาจึงเป็นสินจ้างอย่างหนึ่งตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่า แม้คำให้การของจำเลยจะอ้างอายุความตามมา แต่จำเลยจะต้องสืบพยานประกอบคำให้การดังกล่าวด้วยตาม ป.วิ.พ. นั้น เห็นว่า การพิจารณาคดีแรงงานต้องบังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งการดำเนินคดีแรงงานแตกต่างจากการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป โดยการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบไต่สวน ซึ่งให้อำนาจศาลในการค้นหาความจริงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ไม่มีบทบัญญัติให้ต้องสืบประกอบดังกล่าว ทั้งตามคำฟ้องและคำให้การปรากฏข้อเท็จจริงได้ความแจ้งชัดพอวินิจฉัยได้แล้ว มิได้นำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาวินิจฉัยแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 1 "งานขนส่งทางบก" หมายความว่า การลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของด้วยยานพาหนะขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคคลหรือสัตว์ที่เจ็บป่วย และการขนส่งในงานดับเพลิงหรืองานบรรเทาสาธารณภัย โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถให้ผู้บริหารของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งห้า ไม่ใช่การขับรถส่งหรือลำเลียงบุคคลทั่วไป ลักษณะงานของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ใช่งานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3087-3095/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ งานขนส่งทางบก ค่าล่วงเวลา/ค่าตอบแทน และดอกเบี้ยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงและท้ากัน เพื่อให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า งานที่โจทก์ทั้งเก้าทำเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12/2541 ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าโจทก์ทั้งเก้าได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือในการทำงานล่วงเวลา และถือเป็นการตกลงทำงานล่วงเวลาโดยปริยายหรือไม่ รวมทั้งจะถือว่าจำเลยได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งเก้าโดยปริยายหรือไม่รวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งเก้าโดยปริยายจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นคำท้าซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์อีก
เมื่อปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่างานที่โจทก์ทั้งเก้าทำเป็นงานขนส่งทางบก โจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามคำท้า แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในอัตรา 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ ส่วนดอกเบี้ยนั้นเมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับเป็นเงินค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา มิใช่ค่าล่วงเวลาที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ได้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
of 20