คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ม. 61

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา: รายละเอียดประกาศผู้อำนวยการทางหลวงไม่เป็นสาระสำคัญ
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาจึงต้องรับวินิจฉัย
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติแต่เพียงว่าคำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงหรือไม่ มิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย จึงเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า "อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 อธิบดีกรมทางหลวงในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน และผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทานได้ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน และผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทาน เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน (ฉบับที่ 2) ..." อันมีความหมายอยู่ในตัวว่า ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงข้างต้นได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นผู้ออกประกาศฉบับดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงมีรายละเอียดครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ทุกประการและเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรทุกน้ำหนักเกินและเหตุรอการลงโทษจำคุก ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยการรอการลงโทษ
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ตัวรถลากจูงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด และตัวพ่วงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด น้ำหนักบรรทุกที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจึงไม่เป็นการทำลายพื้นถนนมากนัก คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมแสดงถึงเหตุผลในการตัดสินคดีเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยใช้รถบรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 20,750 กิโลกรัม แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจะมีน้ำหนักเท่าใดก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม และมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน ทั้งทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ แต่เห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตาม ป.อ. มาตรา 23

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8913/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษซ้ำซ้อนและการใช้ดุลพินิจศาลในการกำหนดโทษคดีทางหลวง
การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยในแต่ละฐานความผิดนั้นเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกและโทษปรับ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำคุกหรือลงโทษปรับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะลงโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ได้ ถึงแม้ในคดีนี้จำเลยจะได้ชำระค่าปรับครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำคุกจำเลยอีกได้ และการที่จำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ ทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่เงื่อนไขการคุมความประพฤติดังกล่าวนั้นก็มิใช่การลงโทษ เป็นแต่เพียงมาตรการทางกฎหมายที่ศาลให้โอกาสผู้กระทำความผิดในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงโทษจำเลยซ้ำซ้อนจากการกระทำความผิดแต่เพียงครั้งเดียวดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา
จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกดินมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 22,410 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน การกระทำของจำเลยย่อมทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง ที่จำเลยยกขึ้นอ้างฎีกาว่าจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและจำต้องกระทำความผิดในคดีนี้เพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดคำสั่งของนายจ้าง ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น บุคคลทั่ว ๆ ไปในสถานะเช่นเดียวกับจำเลยก็มีภาระที่ไม่แตกต่างไปจากจำเลย จำเลยไม่อาจอ้างภาระความจำเป็นส่วนตัวเพื่อก่อภาระให้แก่สังคมโดยรวมได้ เหตุดังกล่าวไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก โดยไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติ และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10766/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขบทกฎหมายและอำนาจศาลในการลงโทษตามกฎหมายที่แก้ไข การรับสารภาพและเหตุบรรเทาโทษ
พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งมาตรา 61 เดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นบทความผิดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษมาตรา 73 (เดิม) ได้แก้ไขและมีบทบัญญัติเพิ่มเติมเป็นมาตรา 73/2 ซึ่งมีโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 (เดิม) การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 โดยมิได้ขอมาตรา 73/2 (ที่แก้ไขใหม่) มาด้วย เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไป ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ไม่เกินคำขอ
คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องมิใช่คดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไรและจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานเช่นว่านั้นหรือไม่ คำรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 78

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5423/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่และการลงโทษจำเลยในความผิดทางหลวง การอ้างบทบัญญัติเดิมผิดพลาด
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 แต่ขณะจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2550 บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 25 และมาตรา 29 โดยมาตรา 61 ทั้ง พ.ร.บ.ทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ยังบัญญัติเป็นบทความผิดห้ามการใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าผู้อำนวยการทางหลวงได้ประกาศกำหนดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 บัญญัติเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้นการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่มาตรา 73/2 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษซึ่งหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 ของกฎหมายเดิม การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2530/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพ.ร.บ.ทางหลวง: ศาลฎีกายกข้อกฎหมายล้าสมัย แก้โทษจำเลยตามกฎหมายใหม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 แต่ขณะจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 กฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว โดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 25 และมาตรา 29 แต่มาตรา 61 ทั้งพระราชบัญญัติทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ ยังบัญญัติเป็นบทความผิด ส่วนบทกำหนดโทษตาม มาตรา 73 บัญญัติเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่มาตรา 73/2 กำหนดโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 ของกฎหมายเดิม การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 โดยโจทก์ไม่ได้อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น
การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถบรรทุกที่ใช้บรรทุกน้ำหนักเกินตาม พ.ร.บ.ทางหลวง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายซึ่งมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวงฯ และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพจึงฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) แม้ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 61, 73 มิได้บัญญัติถึงการริบของกลางไว้ แต่ก็มิได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำมาตรา 33 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 17 แห่ง ป.อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรถบรรทุกมีหน้าที่ควบคุมการบรรทุกน้ำหนัก แม้มีประกาศข้อบังคับแล้ว หากปล่อยปละละเลยถือว่ารู้เห็นเป็นใจ
ผู้ร้องเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการขนส่ง และมีรถบรรทุกไว้บริการลูกค้าประมาณ 10 คัน การที่ผู้ร้องได้ออกประกาศข้อบังคับให้ลูกจ้างถือปฏิบัติการบรรทุกน้ำหนักตามกำหนดนั้น ถือเป็นเรื่องภายในของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องยังจะต้องมีหน้าที่ตรวจตราโดยหาวิธีการอื่นมาควบคุมมิให้มีการบรรทุกเกินอีกด้วย มิใช่เพียงแต่ปิดประกาศข้อบังคับให้ลูกจ้างทราบแล้วปล่อยให้ลูกจ้างขับรถไปบรรทุกโดยไม่มีการควบคุมอีกชั้นหนึ่งย่อมเป็นช่องทางให้มีการบรรทุกเกินกำหนดได้โดยง่าย ซึ่งผู้ร้องย่อมทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น การที่ผู้ร้องปล่อยปละละเลยจนจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของผู้ร้องไปบรรทุกเกินกำหนด ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องในคดีขับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษ
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499มาตรา19ให้ศาลบันทึกใจความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐานหาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่และก่อนศาลบันทึกฟ้องดังกล่าวศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆที่จำเลยกระทำความผิดได้แต่ก็จะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้นเมื่อพิจารณาใจความที่ศาลบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ.2535แล้วได้ความว่าเมื่อวันที่22ธันวาคม2537เวลากลางวันจำเลยขับรถยนต์บรรทุกลากจูงและรถพ่วงบรรทุกหินคลุกมีน้ำหนักยานพาหนะหรือน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษเรื่องห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่พยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวงลงวันที่1กันยายน2535ซึ่งเป็นการระบุข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดแล้วกล่าวคือจำเลยขับรถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดบนทางหลวงอันเป็นความผิดทั้งได้ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้และจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหาจำต้องระบุข้อเท็จจริงว่าเป็นทางหลวงสายใดไม่คำฟ้องในข้อหานี้ของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)แล้ว โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องอาญาทางหลวง และการวินิจฉัยปัญหานอกประเด็น
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 ให้ศาลบันทึกใจความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐาน หาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่ และก่อนศาลบันทึกฟ้องดังกล่าว ศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่จำเลยกระทำความผิดได้ แต่ก็จะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญ ส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้น เมื่อพิจารณาใจความที่ศาลบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 แล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์บรรทุกลากจูงและรถพ่วงบรรทุกหินคลุกมีน้ำหนักยานพาหนะหรือน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษเรื่องห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวง ลงวันที่ 1 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการระบุข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดแล้ว กล่าวคือ จำเลยขับรถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดบนทางหลวงอันเป็นความผิด ทั้งได้ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ และจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี หาจำต้องระบุข้อเท็จจริงว่าเป็นทางหลวงสายใดไม่ คำฟ้องในข้อหานี้ของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5) แล้ว
โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
of 2