คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 201

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 61 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3244/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์และการเพิกถอนกระบวนพิจารณาเมื่อจำเลยไม่สามารถรับได้
ป.วิ.อ. มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะพิเศษสำหรับคดีอาญาและหากมีการดำเนินการไม่ถูกต้องอย่างไร มาตรา 195 วรรคสอง ก็บัญญัติรองรับไว้ด้วยว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แสดงให้เห็นว่า เป็นกรณีที่ไม่อาจนำเรื่องการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงไม่ชอบ
การส่งสำเนาอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุในคำฟ้อง แม้ผู้รับจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี อันจะทำให้รับฟังว่าเป็นการส่งไม่ชอบก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ตามที่อยู่ดังกล่าวในช่วงที่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ และพบว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดในคดีอื่น กรณีจึงถือได้ว่า การส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 ซึ่งกำหนดให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของการส่งสำเนาอุทธรณ์จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งผลให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ
การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง อันมีมาตรา 198 บัญญัติว่า การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ และมาตรา 201 บัญญัติว่า เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยนั้น พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้องแต่ปรากฏจากรายงานการเดินหมายว่าไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยได้เนื่องจากไม่พบบ้านของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาล กรณีเป็นเรื่องศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาลก็เป็นคำสั่งที่เกินเลยไม่เป็นผลให้การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเป็นไปโดยชอบ โดยปรากฏต่อมาว่าพนักงานเดินหมายนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไปส่งให้แก่จำเลยกลับปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าพบบ้านของจำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องและส่งได้โดยมีผู้รับหมายนัดไว้แทน ดังนั้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้เนื่องจากหาบ้านของจำเลยไม่พบดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13547/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายแจ้งคำพิพากษาอุทธรณ์ผิดที่อยู่ การพิจารณาคดีโดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลย พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้จำเลยตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในฟ้องคือ บ้านเลขที่ 161 หมู่ 1 ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามบันทึกการส่งหมายระบุว่า "ไม่พบจำเลย ได้สอบถามผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลนางรองแล้ว ได้ความว่า ไม่มีชื่อจำเลยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวจึงนำหมายกลับคืน" ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีถือได้ว่าส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 จึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาพิพากษา ต่อมาศาลชั้นต้นได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในหมายนัดระบุที่อยู่ของจำเลยคือ บ้านเลขที่ 141 ถนนประดิษฐปานะ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยให้ส่งหมายทางไปรษณีย์ตอบรับ ปรากฏว่าในใบตอบรับมีผู้อื่นรับหมายไว้แทน นอกจากนี้เมื่อตรวจสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยตามที่ ส. ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยปรากฏว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 161/1-2 ถนนภักดีบริรักษ์ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สอดคล้องกับบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยซึ่งอยู่ท้ายบันทึกการจับกุม ทั้งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาระบุว่า จำเลยมีบ้านพักอยู่ถนนภักดีบริรักษ์ทั้งสิ้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าไม่มีชื่อจำเลยอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบหรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อไม่สามารถส่งได้จริง แม้จะพบบ้านจำเลยภายหลัง
พนักงานเดินหมายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลย 2 ครั้ง โดยไม่สามารถ ส่งได้เนื่องจากไม่พบบ้านของจำเลย แต่เมื่อส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 กลับพบบ้านของจำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้อง เพียงแต่บ้านปิดใส่กุญแจ จึงส่งหมายนัดได้โดยวิธีปิดหมาย ถือไม่ได้ว่า การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาคดีโดยมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเพื่อแก้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยก่อนส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เป็นสิทธิของจำเลย การไม่ปฏิบัติตามทำให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ
การที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตรงตามฟ้อง แล้วเจ้าหน้าที่รายงานผลการส่งหมายว่า ส่งไม่ได้เพราะไม่พบภูมิลำเนา ค้นหาบริเวณใกล้เคียง และสอบถามผู้พักอาศัยบริเวณดังกล่าว ไม่มีผู้ใดพบบ้านเลขที่ซึ่งฟ้องระบุเป็นภูมิลำเนาจำเลย แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนตามรายงานผลการส่งหมายให้แก่จำเลยในครั้งก่อนๆ ว่า เจ้าหน้าที่เคยนำหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องไปส่งให้แก่จำเลย 2 ครั้ง และส่งหมายเรียกคดีอาญาให้แก่จำเลยอีก 1 ครั้งได้โดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาเดียวกันนี้ และในการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาด้วย แสดงว่าที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยในครั้งนี้แล้วรายงานว่าไม่พบภูมิลำเนา อาจเป็นเพราะเสาะหาไม่ทั่วถึง จึงถือไม่ได้ว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือจำเลยหลบหนีหรือจำเลยจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ อันศาลชั้นต้นจะต้องรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 แต่เป็นกรณีที่ยังไม่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 200 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน ย่อมทำให้จำเลยเสียสิทธิตามกฎหมายในการทำคำแก้อุทธรณ์ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาคดีโดยมิได้มีการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาเหตุรอการลงโทษในคดีลักทรัพย์ การกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมไม่อาจรอการลงโทษได้
แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่า "รอไว้สั่งเมื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาคำร้อง ขอให้รับรองฎีกาเสร็จแล้ว" แต่เมื่อผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อ ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกา ของจำเลยที่ 1 อีก คงมีแต่รายการระบุว่าโจทก์ได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่รายงานว่าโจทก์รับสำเนาฎีกาครบกำหนดแล้วไม่ยื่นคำแก้ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานของเจ้าหน้าที่ว่า ส่งสำนวนไปศาลฎีกา พฤติกรรมดังกล่าวถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และปฏิบัติการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 200 และ 201 แล้วศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ได้ การลักทรัพย์โดยการถอดชิ้นส่วนรถยนต์ที่จอดไว้เป็นพฤติการณ์ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม แม้ทรัพย์ที่ลักไปจะมีราคาน้อยก็ตาม และที่ผู้เสียหายได้รับทรัพย์คืนไปก็เนื่องจากเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมกับทรัพย์ที่ถูกลัก การที่ผู้เสียหายได้ทรัพย์คืนมา จึงไม่ใช่การบรรเทาผลร้ายของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุรอการลงโทษให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิบัติตามขั้นตอนอุทธรณ์ และการใช้ดุลพินิจศาลในการเลื่อนคดีเนื่องจากเหตุป่วย
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยอุทธรณ์มาตรา 198,200 และ 201 มีความหมายชัดเจนบังคับไว้ว่า เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์แล้วเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งและกำหนดเวลาให้แก้อุทธรณ์ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า "รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ สำเนาให้อีกฝ่าย"และออกหมายนัดส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อความในหมายนัดว่า"ด้วยคดีเรื่องนี้ศาลได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ดังสำเนาอุทธรณ์แนบมาพร้อมหมายนี้ เพราะฉะนั้นจึงแจ้งมาให้ทราบ" เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทราบเท่านั้น มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 1แก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการอุทธรณ์ คู่ความจะร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และการอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล ในการขอเลื่อนคดีครั้งที่ 2โจทก์มีใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลมาแสดง ระบุว่าโจทก์มีอาการอ่อนแรงแขนขาด้านซ้าย เนื่องจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ และความดันโลหิตสูงได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลและยังไม่มีกำหนดกลับบ้านการขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์จึงเป็นการอ้างเหตุขอเลื่อนคดีเพราะตัวความป่วยเจ็บไม่สามารถมาศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 41 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หากศาลชั้นต้นมีความสงสัยว่าโจทก์ป่วยจริงหรือไม่ก็มีอำนาจไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีเสียก่อนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4)ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือจะตั้งเจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูว่า โจทก์ป่วยเจ็บจริงหรือไม่ก็ได้หากข้ออ้างดังกล่าวเป็นความจริงก็ถือได้ว่ากรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์เลื่อนคดีอีกครั้งหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีแล้วมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์พร้อมทั้งพิพากษายกฟ้องในวันเดียวกัน โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบ เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3603/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์, เหตุสมควรไม่มาศาล, และการพิจารณาคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 กำหนดให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ดังนี้เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะส่งสำเนาให้จำเลยโดยตรง โจทก์ไม่จำต้องวางเงินค่าส่งสำเนาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษาการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา200 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยชัดแจ้ง แต่เนื่องจากระยะเวลาที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนได้ล่วงเลยมาจนศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 181 กำหนดให้นำบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลมดังนั้นศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะยกมาตรา 166 ดังกล่าวมาปรับแก่คดีในชั้นพิจารณาได้ โจทก์อ้างว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ ตัวโจทก์อยู่ที่จังหวัด สกลนคร เพื่อจัดการงานศพของมารดาภรรยาโจทก์ และต้องดูแลอาการป่วยของภรรยาโจทก์ กับโจทก์เข้าใจว่าในวันนัดดังกล่าวทนายโจทก์จะสืบพยานคนอื่นก่อน ส่วนโจทก์จะเข้าสืบในวันนัดภายหลัง โจทก์มิได้จงใจที่จะไม่มาศาลตามกำหนดนัด และโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าทนายโจทก์ขอถอนตัวออกจากเป็นทนายให้โจทก์ กรณีดังกล่าวหากเป็นความจริงตามคำร้อง ของ โจทก์ก็ถือว่าโจทก์ได้แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยสั่งยกคำร้องของโจทก์เสียโดยไม่ไต่สวนนั้นเป็นการไม่ชอบ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3603/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์, การยกฟ้องเนื่องจากไม่มาศาล, และการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 กำหนดให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ดังนี้เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะส่งสำเนาให้จำเลยโดยตรง โจทก์ไม่จำต้องวางเงินค่าส่งสำเนาอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษาการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา200 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยชัดแจ้ง แต่เนื่องจากระยะเวลาที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนได้ล่วงเลยมาจนศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 181 กำหนดให้นำบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลมดังนั้นศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะยกมาตรา 166 ดังกล่าวมาปรับแก่คดีในชั้นพิจารณาได้
โจทก์อ้างว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ ตัวโจทก์อยู่ที่จังหวัด สกลนคร เพื่อจัดการงานศพของมารดาภรรยาโจทก์ และต้องดูแลอาการป่วยของภรรยาโจทก์ กับโจทก์เข้าใจว่าในวันนัดดังกล่าวทนายโจทก์จะสืบพยานคนอื่นก่อน ส่วนโจทก์จะเข้าสืบในวันนัดภายหลัง โจทก์มิได้จงใจที่จะไม่มาศาลตามกำหนดนัด และโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าทนายโจทก์ขอถอนตัวออกจากเป็นทนายให้โจทก์ กรณีดังกล่าวหากเป็นความจริงตามคำร้อง ของ โจทก์ก็ถือว่าโจทก์ได้แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยสั่งยกคำร้องของโจทก์เสียโดยไม่ไต่สวนนั้นเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์โดยชอบด้วยกฎหมาย การพิจารณาคดีโดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์เป็นเหตุให้คำพิพากษาไม่ชอบ
พนักงานเดินหมายนำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย 2 ครั้ง ณ ภูมิลำเนาตามฟ้อง แต่ไม่พบจำเลย พบแต่ประตูบ้านปิดใส่กุญแจ และสอบถามผู้ที่อยู่บ้านข้างเคียง ไม่มีใครทราบว่าจำเลยไปไหน ครั้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พนักงานเดินหมายนำหมายนัดไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาเดิมโดยในครั้งที่สองได้ปิดหมายไว้ จำเลยไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามกำหนดนัด เช่นนี้ แสดงว่าการที่พนักงานเดินหมายไม่พบจำเลยอาจเป็นเพราะจำเลยไม่อยู่บ้านหรือออกไปทำงานในตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นดังจำเลยกล่าวอ้างก็ได้ ถือไม่ได้ว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้นั้นเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนีหรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201 การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200.
of 7