คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พลรัตน์ ประทุมทาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 321 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2037/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของลูกหนี้ล้มละลาย ต้องฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญา นับเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งและสามารถโอนให้แก่กันได้ ตามพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง การโอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นการจัดการทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (1), (3) และมาตรา 24 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้แทนที่จะฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์: การพิสูจน์ฐานะผู้เสียหายและการมอบอำนาจร้องทุกข์
ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวว่า บริษัท น. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เรื่อง สมุดโน้ตกระชากวิญญาณ และบริษัท น. เป็นผู้อนุญาตให้บริษัท อ. ใช้ลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ดังกล่าว ต่อมาบริษัท อ. เป็นผู้ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้เสียหายเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองฐานให้เช่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเพื่อการค้า ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า การที่บริษัท น. อนุญาตให้บริษัท อ. ใช้สิทธิในงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ตามฟ้อง มีขอบเขตแห่งสิทธิที่จะใช้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 (5) อย่างไร รวมถึงเขตดินแดน ระยะเวลา และเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบว่าบริษัท อ. เป็นผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏด้วยว่าบริษัท น. ได้มอบอำนาจให้บริษัท อ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองแทนตนด้วย การร้องทุกข์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่อาจถือได้ว่ามีคำร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนในคดีนี้จึงไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า POWERMILL มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้สื่อความหมายได้หลายอย่าง ไม่ถือว่าเล็งถึงคุณสมบัติสินค้าโดยตรง
คำว่า POWERMILL ใช้อักษรโรมันประกอบเป็นคำในภาษาอังกฤษ ไม่มีคำแปลในพจนานุกรมทั่วไป โดยเป็นคำที่โจทก์นำคำว่า POWER แปลว่า อำนาจ กำลังแรง กับคำว่า MILL แปลว่า โรงสี โรงเครื่องจักร เครื่องกล โรงงาน มารวมกันเป็นเครื่องหมายการค้าและขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับใช้กับสินค้าดังกล่าว คำว่า POWERMILL จึงสื่อได้หลายความหมายทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ การนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด ถือไม่ได้ว่าคำว่า POWERMILL เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ เครื่องหมายการค้าคำว่า POWERMILL จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียบได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า "TIMEWALKER" ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะสื่อถึงลักษณะสินค้าโดยตรง
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร แม้ว่าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุด ก็มีความหมายเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
แม้คำว่า "TIMEWALKER" จะเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบว่า คำว่า "TIMEWALKER" เป็นการนำเอาคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่ โจทก์แปลคำดังกล่าวว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ซึ่งเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าคำนั้นสามารถแปลความหรือสื่อความหมายได้ หาใช่เป็นคำประดิษฐ์หรือคำใหม่ที่ไม่มีความหมาย และการแปลความของโจทก์ก็เป็นการแปลจากคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" นั่นเอง เมื่อพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "TIME" ว่าหมายถึง เวลา และคำว่า "WALKER" หมายถึง การเดิน ผู้เดิน หรือผู้ชอบเดิน คำว่า "TIMEWALKER" จึงอาจสื่อถึงความหมายได้หลายประการ การที่โจทก์แปลความว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ก็อาจเป็นไปได้ตามความมุ่งหมายของโจทก์ และขณะเดียวกันคำว่า "TIMEWALKER" ก็สื่อถึงความหมายว่า ผู้เดินเวลา หรือเครื่องมือที่เดินตามเวลา ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงนาฬิกาซึ่งเป็นเครื่องบอกเวลาได้เช่นกัน เมื่อโจทก์นำมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๔ รายการสินค้า นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาพก และนาฬิกาแขวน จึงถือได้ว่าคำว่า "TIMEWALKER" เป็นคำที่บรรยายลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกนาฬิกาของโจทก์อันเป็นการเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคสอง (๒) คำดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันจะพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลโดยใช้ชื่อทางการค้าของผู้อื่น ก่อให้เกิดความสับสนและเสียหายแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำชื่อทางการค้าคำว่า "HITACHI" และ "ฮิตาชิ" ของโจทก์ไปใช้ในเชิงธุรกิจ เมื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกิจการเช่นเดียวกับกิจการของโจทก์หรือบริษัทในเครือ จึงมีโอกาสที่สาธารณชนจะหลงผิดเข้าใจว่า กิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นกิจการในเครือ หรือเป็นสาขาหรือมีส่วนสัมพันธ์กับโจทก์ จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งเป็นการจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอาจทำให้สาธารณชนเกิดความหลงผิดได้ โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ชื่อดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 421 และตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ.2538 ข้อ 20 (8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'Global Sources' ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะเป็นคำที่บ่งบอกลักษณะสินค้า/บริการโดยตรง
เครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ประกอบด้วยรูปประดิษฐ์กับอักษรโรมันคำว่า "Global Sources" หากพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้ว อักษโรมันคำว่า "Global Sources" ย่อมเป็นภาคส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ ในขณะที่รูปโลกประดิษฐ์นั้น แม้จะมีลักษณะเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีเจตนาจะใช้เครื่องหมายการค้า/บริการ แต่โดยขนาดตำแหน่งและสภาพที่ใช้ร่วมกับอักษรโรมันคำว่า "Global Sources" แล้ว รูปโลกประดิษฐ์ดังกล่าวไม่อาจถือว่าเป็นภาพส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ได้ กล่าวคือหากพิจารณาว่า อักษรโรมันคำว่า "Global Sources" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว ลำพังรูปโลกประดิษฐ์ดังกล่าวยังไม่อาจทำให้เครื่องหมายการค้า/บริการได้รับการจดทะเบียน
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ อักษรโรมันคำว่า "Global Sources" มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า/บริการ จำนวน 5 คำขอ เพื่อใช้กับสินค้าและบริการที่ขอจดทะเบียน ซึ่งในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้า/บริการตามคำขอใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรงหรือไม่นั้น มิจำต้องพิจารณาสินค้าและบริการแต่ละชนิดในรายการสินค้าและบริการที่ขอจดทะเบียน ดังนั้น หากตรวจสอบพบสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า/บริการในคำขอใดแล้วก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนสำหรับคำขอนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาให้รับจดทะเบียนเป็นรายสินค้าหรือบริการตามที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด สำหรับคำว่า "Global" นั้น แปลว่า "โลก, ทั่วโลก, เกี่ยวกับโลก" ส่วนคำว่า "Sources" นั้นแปลว่า "แหล่ง, ข้อมูล, แหล่งข้อมูล" เมื่อออกเสียงรวมกันแล้ว จึงมีความหมายว่า "แหล่งข้อมูลของโลก" เมื่อใช้คำดังกล่าวกับคำขอเลขที่ 456095 ถึง 456099 ซึ่งต่างมีสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรง เครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ทั้งคำขอจึงไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 ประกอบมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 578/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายวีซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตและการเปลี่ยนแปลงฐานความผิดตามกฎหมายใหม่
ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ฯ มาตรา 4 ได้บัญญัติ ว่าการจำหน่ายและขายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์หาใช่การให้การบริการไม่ ดังนั้น แม้ได้ความตามฟ้องโจทก์และจำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยนำวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจมาจำหน่ายและขายแก่ประชาชนทั่วไป ในสถานที่ที่จำเลยประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ใช่การให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ เพราะการจำหน่ายไม่ใช่การจัดฉายหรือให้บริการโดยแสดงภาพและเสียง ทั้งมิใช่การจัดส่งไปทางสายหรือทางวิธีการอื่นที่ให้ผลในลักษณะเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนำเทปและวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณามาให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง, 34
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 (4) บัญญัติให้ยกเลิกพ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ทั้งฉบับ ซึ่งตามมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า ภาพยนตร์ ไว้ หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์ แต่ในการประกอบกิจการของจำเลยนั้น จำเลยจำหน่ายแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ด้วย การกระทำของจำเลยในการประกอบกิจการจำหน่ายแผ่นวีซีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 จึงเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ด้วย กรณีไม่อาจถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานนำเทปและวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณามาให้บริการในสถานที่ให้บริการเทป และวัสดุโทรทัศน์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต สาระสำคัญอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตวีซีดีเพลงของกลาง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ริบ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ ตาม ป.อ.มาตรา 32, 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานจำหน่ายเทป/ภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ใช้บังคับหลังการกระทำผิด
การที่จำเลยนำวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจกับไม่มีผู้รับรองสำเนาตามกฎหมายมาให้บริการโดยการจำหน่ายและขายให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้นมิใช่การให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง เพราะการจำหน่ายและขายไม่ใช่การจัดฉายหรือให้บริการโดยแสดงภาพและเสียง และสถานที่จำหน่ายและขายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ดังกล่าวไม่ใช่สถานที่จัดฉายหรือให้บริการโดยแสดงภาพและเสียงหรือจัดส่งไปทางสายหรือทางวิธีการอื่นที่ให้ผลในลักษณะเดียวกันตามนิยามคำว่า "สถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์" ใน พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 (4) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แต่มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์ ซึ่งตรงกับบทนิยามศัพท์คำว่า ภาพยนตร์ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังแล้ว จึงไม่อาจถือว่ากฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย แต่ในส่วนวีซีดีเพลงนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นวีซีดีเพลงที่บันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบตามนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวหรือไม่ จึงต้องรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า วีซีดีเพลงตามฟ้องมิใช่วีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 การกระทำของจำเลยในส่วนของการจำหน่ายวีซีดีเพลงจึงหาเป็นความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ไม่
สาระสำคัญในการกระทำความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์หรือภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอยู่ที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานนำวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณามาให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง วีซีดีเพลงและภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ จำนวน 457 แผ่น ของกลางที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ริบจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33
ในส่วนโทษปรับที่จะลงแก่จำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์นั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดี ตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ให้ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยจึงเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 จึงชอบด้วย ป.อ. มาตรา 3 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเครื่องหมายการค้าจำกัดเฉพาะการใช้กับสินค้าที่จดทะเบียน การใช้ชื่อนิติบุคคลไม่ละเมิด
ตามหลักการทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 นั้น เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ เท่ากับว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วมีสิทธิที่จะหวงกันมิให้บุคคลอื่นนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของตนไปใช้กับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องห้ามจำเลยใช้ชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้โดยตรง โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างสิทธิตามที่มีในเครื่องหมายการค้าเพื่อที่จะขอบังคับจำเลยเช่นนี้ได้ โจทก์จะต้องใช้สิทธิตามช่องทางของกฎหมายนั้น ๆ ในการขอให้ศาลบังคับตามคำฟ้องของโจทก์
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 นั้น บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามหรือชื่อทางการค้าซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามหรือชื่อทางการค้าเดียวกันโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามมิให้ใช้นามหรือชื่อทางการค้านั้นได้ต่อเมื่อการใช้นามหรือชื่อทางการค้าดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายหรือเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป และผู้เป็นเจ้าของนามหรือชื่อทางการค้านั้นมีหน้าที่นำสืบถึงความเสียหายดังกล่าว แต่ความเสียหายจากการไม่จดทะเบียนชื่อนิติบุคคลก็ดี หรือความเสียหายจากการไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิตามที่กล่าวอ้างก็ดียังไม่ใช่ความเสียหายที่จะกล่าวอ้างในการห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อนิติบุคคลของตน แม้การใช้ชื่อนิติบุคคลจะคล้ายกัน แต่เป็นเรื่องของสิทธิในการใช้ชื่อของบุคคล เมื่อคำว่า "SUN" และ "SWEET" เป็นคำสามัญทั่วไป ไม่ใช่คำประดิษฐ์คิดขึ้นเอง ดังนั้นบุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะใช้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสินค้าหลักของโจทก์คือลูกพรุนและน้ำลูกพรุนในขณะที่สินค้าหลักของจำเลยเป็นข้าวโพด จึงฟังไม่ได้ว่าธุรกิจของจำเลยแข่งขันโดยตรงกับธุรกิจของโจทก์จนกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของโจทก์ อันจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนกรณีที่สาธารณชนอาจสับสนหลงผิดว่ากิจการของจำเลยเกี่ยวข้องกับโจทก์นั้น ไม่เป็นสาเหตุเพียงพอที่โจทก์จะใช้สิทธิห้ามจำเลยใช้ชื่อนิติบุคคลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดอำนาจศาล: ผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์หากศาลไม่พบหลักฐานการละเมิด
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งหมดที่ปรากฏต่อศาลแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานของผู้ร้องฟังไม่ได้ว่ามีการละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นอย่างใด จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ดังนั้น ผู้ร้องย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้
of 33