คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พลรัตน์ ประทุมทาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 321 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5403/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'JobsDB' ไม่บ่งเฉพาะ ขัดต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ เนื่องจากเป็นคำผสมทั่วไปและเล็งถึงลักษณะบริการ
การนำคำที่มีความหมายมารวมกับตัวอักษรบางตัว เช่น การนำอักษรโรมันคำว่า Jobs ซึ่งแปลว่า "งาน" มารวมกับอักษรโรมัน DB ยังไม่มีลักษณะถึงขนาดที่จะเป็นคำประดิษฐ์อันควรได้รับความคุ้มครองด้วยการจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (3) และเมื่อโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าว เครื่องหมายบริการคำว่า "JobsDB" ของโจทก์จึงเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนโดยตรงขัดต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย ส่วนในเรื่องชื่อเต็มของนิติบุคคลนั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะไม่ให้มีการผูกขาดการใช้คำสั้นๆ ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิติบุคคลหรือชื่อย่อของนิติบุคคลในการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ อันจะทำให้บุคคลอื่นที่สุจริตเสียโอกาสในการใช้คำเดียวกันนั้น และเมื่อพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลจะเห็นได้ว่า คำว่า "บริษัท" และ "จำกัด" ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลแต่อย่างใด คำว่า "JobsDB" จึงเป็นชื่อเต็มของโจกท์นั่นเอง ไม่ใช่ชื่อนิติบุคคลที่มีคำแสดงฐานะของนิติบุคคลประกอบด้วย ดังนั้น เครื่องหมายบริการคำว่า "JobsDB" ของโจทก์ไม่มีลักษณะพิเศษใดๆ จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 (1) เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5402/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ "SOUTH AFRICAN AIRWAYS" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เป็นคำทั่วไปเกี่ยวกับบริการขนส่งทางอากาศ
เครื่องหมายบริการของโจทก์ประกอบด้วยคำ 2 คำ หรือ SOUTH AFRICAN กับ AIRWAYS ซึ่งคำแรกนั้น แม้จะไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยตรง แต่ก็เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวกับประเทศแอฟริกาใต้ จึงเป็นคำสามัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนคำว่า AIRWAYS นั้น ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง เส้นทางการบิน แต่ความหมายอันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอีกประการหนึ่งนั้น หมายถึง สายการบิน คำว่า AIRWAYS ถือว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรง ดังนี้ เครื่องหมายบริการของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ นอกจากนี้คำว่า AIRWAYS ย่อมสื่อให้เห็นถึงการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศรวมถึงการให้บริการติดตั้ง ดูแลและซ่อมบำรุงอากาศยานด้วย และยังรวมถึงบริการอื่นๆ ในรายการบริการจำพวกที่ 37 และ 39 ซึ่งเป็นบริการปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องกับบริการหลักของโจทก์ แม้จะแยกพิจารณาเป็นรายรายการ เครื่องหมายบริการของโจทก์ก็ยังคงเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรงเช่นเดิม
แม้เครื่องหมายบริการของโจทก์จะมีความหมายเกี่ยวข้องโดยตรงกับเจ้าของเครื่องหมายที่เป็น "สายการบินแห่งประเทศแอฟริกาใต้" แต่เครื่องหมายบริการของโจทก์ก็มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศอันเป็นการเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติการบริการของโจทก์โดยตรง อีกทั้ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการด้วยเหตุผลว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นการใช้ชื่อที่เป็นธรรมเนียมปกติทางการค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นรัฐ ถือหุ้นโดยรัฐหรือได้รับความเห็นชอบจากรัฐนั้นๆ ให้ใช้ชื่อดังกล่าวแต่อย่างใด ในทางกลับกันกฎหมายไม่ประสงค์ที่จะให้นำคำหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับรัฐต่างประเทศเช่นนั้นไปใช้ในการจดทะเบียน อนึ่งการที่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษหลายประเทศรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์นั้น เป็นเรื่องหลักเกณฑ์และความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเทศนั้นๆ ในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายต่าง ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แต่อย่างใด กรณีจึงเป็นอันรับฟังได้ว่า เครื่องหมายบริการคำว่า "SOUTH AFRICAN AIRWAYS" ของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3924/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างบริหารจัดการ: การขยายสัญญาต้องมีเจตนาตรงกันของทั้งสองฝ่าย มิใช่สิทธิโดยอัตโนมัติ
จำเลยทำสัญญาการจัดการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้จัดการและบริหารกิจการโรงแรมของจำเลย สัญญาการจัดการดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลานับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538 ครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 โจทก์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะขยายระยะเวลาการบริหารโรงแรมไปอีก 10 ปี จำเลยปฏิเสธการขยายระยะเวลาโดยอ้างว่าผู้ถือหุ้นของจำเลยไม่ได้ตกลงไว้ ข้อสัญญาดังกล่าวทั้งหมดหาได้มีความหมายว่าจำเลยจะต้องยินยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาการจัดการทันทีไม่ เพราะไม่มีข้อความใดที่ชัดเจนพอที่จะแสดงได้ว่าการขยายอายุสัญญาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการแสดงเจตนาหรือความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นการยากที่คู่สัญญาจะเขียนสัญญาให้ชัดเจนเช่นนั้น หรืออาจจะเขียนไปในสัญญาเสียเลยก็ได้ว่าให้สัญญานี้มีอายุ 20 ปี แต่ให้สิทธิโจทก์บอกกล่าวให้สัญญาสิ้นสุดลงได้เมื่อสัญญาครบ 10 ปี ดังนั้น การแปลความว่าจำเลยจำต้องยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาออกไปตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ต่อจำเลยโดยจำเลยไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจพิจารณาความน่าพึงพอใจของโจทก์ในการบริหารงานหรือพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในระยะเวลาที่ผ่านมาเสียก่อน จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับลักษณะของสัญญาจ้างบริหารจัดการที่ต้องอาศัยความพึงพอใจและการไว้วางใจต่อกันเป็นส่วนสำคัญในการตกลงทำสัญญาด้วย อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงการที่ข้อสัญญาดังกล่าวตอนต้นมีข้อความว่า "Subject to mutual agreement" ซึ่งหมายความว่า ข้อสัญญาข้อนี้อยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ก็ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าหากมีการต่ออายุสัญญาออกไป คู่สัญญายึดถือเจตนาที่ต้องตรงกันของทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญมากกว่าลำพังเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนข้อบังคับของบริษัทจำเลยและสัญญาผู้ถือหุ้นก็เป็นข้อกำหนดในการบริหารกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลย โดยกำหนดประเภทและจำนวนกรรมการที่จะมีอำนาจดำเนินการให้มีผลผูกพันบริษัทจำเลยในกิจการแต่ละเรื่อง มิได้มีข้อความหรือความหมายเป็นข้อผูกพันจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าจำเลยจะต้องว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้บริหารจัดการโรงแรมของจำเลยต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีความประสงค์จะให้สัญญาการจัดการขยายออกอีก 10 ปี ตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ฝ่ายเดียว การขยายอายุสัญญาการจัดการจึงไม่เกิดขึ้น
การที่โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนตามสัญญาการจัดการและได้แนบสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลมาท้ายฟ้อง รวมทั้งอ้างเอกสารดังกล่าวในบัญชีระบุพยาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้หมายเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ในส่วนของคำแปลโจทก์จัดให้มีการรับรองว่าแปลถูกต้องกับสัญญาการจัดการ สัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษและคำแปลจึงเป็นพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนความโดยชอบ ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับได้ ส่วนบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 หรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 23 ไม่ได้มีความหมายว่า หากในคดีนั้นคู่ความอ้างเอกสารภาษาต่างประเทศมาพร้อมกับคำแปลแล้ว ศาลต้องรับฟังแต่คำแปลเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3924/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาการจัดการและข้อกำหนดการขยายสัญญา รวมถึงข้อผูกพันตามข้อบังคับบริษัทและสัญญาผู้ถือหุ้น
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนตามสัญญาและได้แนบสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลมาท้ายฟ้อง ทั้งตามบัญชีระบุพยานของโจทก์ก็อ้างเอกสารดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับไว้ และเมื่อโจทก์นำสืบก็อ้างเอกสารดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้หมายเอกสารไว้แล้วในส่วนของคำแปลโจทก์จัดให้มีการรับรองว่าแปลถูกต้องตรงกับสัญญา ดังนั้นสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษและคำแปลจึงเป็นพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนความโดยชอบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับได้ บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 หรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ข้อ 23 ไม่ได้มีความหมายว่า หากในคดีนั้นคู่ความอ้างเอกสารภาษาต่างประเทศมาพร้อมกับคำแปลแล้ว ศาลต้องรับฟังแต่คำแปลเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง vs. เครื่องหมายการค้าคล้ายกัน: สิทธิคุ้มครองและป้องกันความสับสน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยและมีคำสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าถอนคำสั่งรับจดทะเบียนและปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน จึงเป็นเรื่องของการฟ้องเพื่อให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หาได้เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยดังกล่าวต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยดังกล่าวจะได้ดำเนินการใด ๆ โดยส่วนตัวหรือไม่ อย่างไรนั้น จึงไม่มีผลต่อคำพิพากษาของศาล นอกจากนี้การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย และโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ ฝ่ายจำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า "INTEL" (อินเทล) ไว้หลายคำขอซึ่งส่วนใหญ่จะ
เป็นคำว่า "INTEL" แต่เพียงคำเดียว ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "INTEL Lip" แล้วจะเห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายต่างเป็นอักษรโรมัน มีจำนวนตัวอักษรที่เหมือนกันและอยู่ในลำดับเดียวกันถึง 5 ตัว คือ I, N, T, E, L โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า "INTEL Lip" จะมีตัวอักษรโรมันเพิ่มเติมอีก 3 ตัว เป็นคำต่อท้ายคือ L, i และ p ซึ่งอักษรโรมัน 5 ตัวแรกนั้นมีลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่คล้ายกับอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนอักษรโรมันอีก 3 ตัวนั้น มีลักษณะเป็นตัวเขียน ลักษณะของคำจึงมีความคล้ายกัน ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น อาจพิจารณาได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็น 1 คำ อ่านออกเสียงได้ 2 พยางค์ คือ "อิน-เทล" ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 387379 เป็นคำ 2 คำ อ่านออกเสียงได้ 3 พยางค์ คือ "อิน-เทล-ลิบ" ทำให้เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายเหมือนกันใน 2 พยางค์แรก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญและสาธารณชนส่วนใหญ่จะจดจำได้มากที่สุด จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "INTEL" (อินเทล) ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "INTEL Lip" ตามคำขอเลขที่ 387379 แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำอื่น เช่น inside, INSIDE, Proshare หรือ TEAMSTATION อยู่ด้วยนั้น ก็เป็นภาคส่วนในเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ของโจทก์เท่านั้น
วัตถุประสงค์ให้การคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีการใช้มานานจนเป็นที่แพร่หลายทั่วไปและอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างสูงในการดำเนินกิจการตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์จนทำให้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ดังนั้น หากมีการนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังกล่าวไปใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน ก็อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการกระทำเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3686/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมาย และอำนาจศาลในการเพิกถอนคำสั่งที่ไม่รับจดทะเบียน
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 และโจทก์ผู้ขอใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง มิใช่กรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นควรรับจดทะเบียนที่คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้วแต่กรณีที่จะเป็นที่สุดตามมาตรา 39
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะเป็นที่สุดต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในการพิจารณาความถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายนั้นศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาได้ว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของจำเลยหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีเหตุผลชอบด้วยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและถูกต้องด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ด้วย
โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ ไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือในกฎหมายใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายอักษรโรมันอย่างเดียว แต่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นเป็นทั้งเครื่องหมายรูปคือกิเลน 5 ตัว ในวงกลมและเครื่องหมายอักษรภาษาจีนอ่านว่า "โหงวคี่เล้ง" และอักษรไทย ตัวเลขอารบิคคำว่า "ตรา 5 กิเลน" ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของคำและอักษรคือ "KIRIN" และ "กิเลน" ไม่คล้ายกันเพราะเป็นอักษรโรมันกับเป็นอักษรไทย แต่คำว่า "กิเลน" มีเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว แม้สินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันแต่รายการสินค้าแตกต่างกันโดยของโจทก์เป็นยารักษาโรคแผนปัจจุบัน แต่ของบุคคลอื่นเป็นยาแผนโบราณ และสินค้ายาของโจทก์ต้องสั่งและใช้โดยแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ประชาชนไม่อาจหาซื้อได้ แต่สินค้ายาของบุคคลอื่นหาซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา ตลาดยาของโจทก์จึงเป็นโรงพยาบาล สถานพยาบาล ซึ่งแพทย์เป็นผู้สั่งซื้อหรือสั่งจ่ายยาซึ่งยากที่แพทย์หรือเภสัชกรหรือผู้ใช้ยาจะสับสนหรือหลงผิดหรือผิดพลาด ขณะที่ตลาดยาของบุคคลอื่นนั้นเป็นร้านขายยาซึ่งประชาชนผู้ซื้อสินค้ายาของบุคคลอื่นสับสนหรือหลงผิด เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับของบุคคลอื่นจึงไม่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป เป็นการบังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทั้งที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคสอง เสียก่อน ศาลจึงไม่อาจก้าวล่วงพิพากษาให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความหมายคำและพฤติกรรมการใช้จริง
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้ามีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ ต้องพิจารณาความหมายของคำในเครื่องหมายการค้าประกอบกับตัวสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LASERJET ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์จากการผสมคำ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 2 ประเภทหมึกที่บรรจุในตลับคาร์ทริดจ์สำหรับเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องพิมพ์ โดยคำว่า LASER มีความหมายว่า คลื่นแสงที่ขยายกำลังแต่ถูกส่งออกมาเป็นลำแสงที่แคบอาจเรียกว่า ลำแสงเลเซอร์ ส่วนคำว่า JET แปลความหมายได้ว่า ของเหลว แก๊ส หรือฝุ่นที่พ่นออกมาเป็นลำ คำว่า LASERJET จึงมิได้หมายความเพียงว่า ของเหลวที่พุ่งออกมาดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัย แต่เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงว่า สินค้าผงหมึกของโจทก์มีลักษณะการทำงานด้วยการพ่นออกมาเป็นลำคล้ายแสงเลเซอร์ไม่ว่าจะพ่นเป็นแสง ของเหลว ผง หรือฝุ่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า LASERJET กับเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ ทั้งได้โฆษณาเผยแพร่และจำหน่ายสินค้าเครื่องพิมพ์กับหมึกพิมพ์ในประเทศไทยมานานจนสาธารณชนในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า LASERJET ของโจทก์แตกต่างจากสินค้าหมึกพิมพ์ของผู้อื่น เครื่องหมายการค้า LASERJET จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การคุ้มครองผู้ใช้สิทธิก่อน และการห้ามใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
การวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยหรือไม่ โจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแสดงให้เห็นว่า อักษรโรมันคำว่า J.Lindeberg เป็นชื่อของนายโจฮันนักออกแบบเสื้อผ้าและผู้ก่อตั้งโจทก์ และได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่างๆ และมีพยานหลักฐานอื่นๆ มาสนับสนุน ขณะที่จำเลยอ้างว่า จำเลยคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าตามฟ้องขึ้นเอง แต่กลับเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกตัวอักษร หากจำเลยไม่เคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน ก็ยากที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจะมีตัวอักษรโรมันตรงกันทุกประการ น่าเชื่อว่าจำเลยนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าของตนอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลย
การจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 จะต้องมีการใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยด้วย แม้โจทก์จะส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลังจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องนี้ดีกว่าจำเลย เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงมาก่อนจำเลย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็เพื่อให้จำเลยสิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องของโจทก์ต่อไปตามคำขอของโจทก์นั่นเอง ถือเป็นการพิพากษาที่ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2501/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยอายุความ และขอบเขตการอุทธรณ์คำชี้ขาด
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับขณะพิพาทให้อำนาจอนุญาโตตุลาการที่จะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ดังนั้น อนุญาโตตุลาการย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี ดังนี้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นที่สุด ส่วนการที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 ที่อนุญาตให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้ หากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ปัญหาเรื่องอายุความเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล & การแก้ไขอุทธรณ์: จำเลยยอมรับอำนาจศาลเมื่อไม่โต้แย้งในชั้นพิจารณา & แก้ไขอุทธรณ์นอกกรอบเวลา
แม้จำเลยให้การว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศและนิติกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาต้องเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 แต่หลังจากจำเลยยื่นคำให้การ ดังกล่าว ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยายังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและในวันนัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย ชี้สองสถานหรือสืบพยาน จำเลยก็มิได้โต้แย้ง กลับแถลงว่ามีพยานพร้อมจะสืบจำนวน 3 ปาก ตามวันที่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยากำหนดนัดซึ่งเป็นวันว่างของคู่ความ และเมื่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยมิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้งอีกเช่นกัน จึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาจนล่วงเลยเวลาที่จะเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่แล้ว
คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเพิ่มเข้ามาจำนวนมากมิใช่เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจึงต้องตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 และมาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 ซึ่งจำเลยจะต้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เสียภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2546 อันเป็นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ การที่จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เช่นนี้ เป็นการยื่นอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว
of 33