คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พลรัตน์ ประทุมทาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 321 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าที่ส่งสินค้าผิดพลาด และข้อจำกัดความรับผิดที่ใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองเป็นผู้ขนส่งสินค้าที่พิพาทแต่ไม่นำสินค้าไปส่งให้แก่ผู้รับตราส่งตามสัญญา เนื่องจากลูกจ้างของจำเลยทั้งสองที่ปลายทาง นำสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้รับตราส่งและไม่ตรงตามสถานที่ที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศ ทำให้ไม่สามารถนำสินค้าที่พิพาทกลับคืนมา ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของลูกจ้างจำเลยทั้งสอง แม้จะมีเงื่อนไขจำกัดความรับผิดในความสูญหายของสินค้าไว้ที่ด้านหลังใบรับขนทางอากาศก็ไม่อาจนำเงื่อนไขจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศมาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดเต็มมูลค่าราคาสินค้าโดยไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ กรณีส่งสินค้าผิดที่จนเกิดความเสียหาย แม้มีข้อจำกัดความรับผิด
จำเลยประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ การดำเนินการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับโดยถูกต้องเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยโดยตรง จำเลยสามารถควบคุม สั่งการและป้องกันมิให้เกิดการผิดพลาดขึ้นได้ การที่พนักงานของจำเลยนำสินค้าไปส่งที่เลขที่ 15403 เชอร์แมนเวย์ ห้อง 102 แทนที่จะไปส่งที่ห้อง 120 อาคารเดียวกัน อันเป็นที่อยู่ของผู้รับที่ระบุในใบรับขนทางอากาศ เมื่อบริษัท ค. ผู้ซื้อยังไม่ได้รับสินค้า จำเลยจึงต้องรับผิดชอบต่อบริษัท อ. ผู้ส่งตามสัญญารับขนของ ทั้งตามพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีพนักงานของจำเลยได้กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลผู้ประกอบอาชีพเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และพนักงานของจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ ถือได้ว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญารับขนของ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ถูกขโมยไปเต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4671/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศต่อความสูญหายของสินค้า และขอบเขตการจำกัดความรับผิดตามสัญญา
จำเลยจะต้องเป็นผู้ออกใบรับขนของทางอากาศ (AIRWAYBILL) ให้แก่โจทก์เมื่อสินค้าได้มีการชั่งน้ำหนักและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว โดยระบุปลายทางของการขนส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งและสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนการที่โจทก์มีหน้าที่ชำระเงินค่าขนส่งระหว่างบริษัทโจทก์ไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพให้แก่จำเลยก็เป็นเพียงข้อตกลงแบ่งแยกความรับผิดชอบในการชำระเงินค่าขนส่ง ส่วนที่อยู่ภายในประเทศให้แก่โจทก์เท่านั้น
การที่จำเลยทำสัญญารับขนส่งทางอากาศกับโจทก์ ซึ่งสัญญาขนส่งประเภทนี้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ใช้บังคับโดยเฉพาะเหมือนดังเช่นการขนส่งของทางทะเลที่มี พ.ร.บ.รับขนของทางทะเลฯ ใช้บังคับ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 8 ว่าด้วยรับขน ตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 616 แห่ง ป.พ.พ.บัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือรับตราส่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องของโจทก์ จำเลยรับสินค้าตามฟ้องของโจทก์มาอยู่ในความดูแลของตนแล้วมีคนมาลักเอาสินค้าตามฟ้องไป ดังนี้การสูญหายของสินค้าตามฟ้องมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากสภาพของสินค้าหรือเกิดจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับชดใช้ค่าสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามในการทำสัญญารับขนส่งระหว่างโจทก์กับจำเลยได้มีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยไว้ ซึ่งจำเลยอาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 371 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยนำสินค้าของโจทก์ไปกองรวมกับสินค้าของลูกค้ารายอื่นเพื่อรอชั่งน้ำหนักตามวิธีการขนส่งสินค้าธรรมดาแต่สินค้าของโจทก์ถูกโจรกรรมหายไป ซึ่งยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยอย่างไรที่ทำให้เกิดการสูญหายของสินค้าโจทก์ จำเลยจึงอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเครื่องหมายการค้า: การพิสูจน์เจตนาและความยากในการแยกแยะสินค้าเลียนแบบ
แผ่นดิสก์ที่มีเครื่องหมายการค้า "SONY" อันแท้จริงของผู้เสียหายมีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นความลับ 4 จุด ไม่สามารถเปิดเผย มีเฉพาะผู้รู้จุดสังเกตนี้เท่านั้นจึงจะสามารถสังเกตได้ เป็นการยากที่ประชาชนหรือผู้ขายทั่วไปจะรู้ได้ว่าสินค้าแผ่นดิสก์ของกลางที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายหรือมีผู้ทำเลียนแบบขึ้น เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่าสินค้าแผ่นดิสก์ของแท้ของผู้เสียหายจำหน่ายในราคาเท่าใดและสินค้าแผ่นดิสก์วัตถุพยานที่จำเลยจำหน่ายนี้จำหน่ายในราคาเท่าไร พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่สืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจะรู้หรือไม่ว่าสินค้าแผ่นดิสก์ที่จำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 ให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่เมื่อฟังได้ว่าแผ่นดิสก์ของกลางจำนวน 360 แผ่น มีเครื่องหมายที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย อันเป็นสินค้าที่ต้องริบ จึงให้ริบเสีย แม้ว่าจะไม่มีผู้ถูกลงโทษในคดีนี้ก็ตาม ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4432/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า ห้ามใช้ชื่อคล้ายทำให้สับสน
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้ากล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 109 และ 110 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าโดยหลอกลวงในแหล่งกำเนิดของสินค้าและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนคดีนี้เป็นคดีแพ่งพิพาทกันในเรื่องสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างได้รับการจดทะเบียนว่าใครมีสิทธิดีกว่าและมีเหตุเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ หรือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าโดยตรง ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่าใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดีกว่ากัน คดีนี้ย่อมมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่งประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 46
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 3 ประกอบด้วยคำว่า KOBE และ GOBE เป็นสาระสำคัญ ซึ่งคำทั้งสองต่างใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ 4 ตัว มีเสียงเรียกขานเหมือนกันว่า โกเบ และใช้กับสินค้าลวดเชื่อมโลหะเหมือนกัน กล่องบรรจุสินค้ามีสีเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน ตัวอักษรบนกล่องและการวางตำแหน่งตัวอักษรคล้ายกัน เมื่อคำนึงถึงว่าส่วนใหญ่ของสาธารณชนมิได้มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะแยกความแตกต่างของตัวอักษรด้วยแล้ว ย่อมเป็นไปได้ง่ายที่สาธารณชนจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า KOBE จนถึงกับเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้
คำว่า KOBE ที่โจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าในการประกอบการค้าของโจทก์เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ลวดเชื่อมโลหะเช่นเดียวกันกับโจทก์ โดยใช้ชื่อว่า บริษัทเค โอ บี อี เวลดิ้ง จำกัด ซึ่งเขียนด้วยอักษรโรมันว่า KOBE WELDING CO., LTD พ้องกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและชื่อทางการค้าของโจทก์ กับนำชื่อภาษาอังกฤษของจำเลยที่ 1 ไปพิมพ์ที่กล่องบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เป็นการมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงละเมิดสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5, 18, 420 และ 421 โจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์จากการใช้ชื่อโดยมิชอบของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 มิให้ใช้ชื่อ เค โอ บี อี เวลดิ้ง หรือ KOBE WELDING ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลด้วยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมิให้ใช้คำว่า เค โอ บี อี หรือ โกเบ ด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานที่ทำสัญญาประกันภัยและการบังคับใช้กฎหมายไทย กรณีสัญญาทำผ่านตัวแทนในไทย
โจทก์มอบให้บริษัท ท. เป็นผู้เช่าอุปกรณ์เพื่อใช้ในการถ่ายทอดโทรทัศน์จากโจทก์ ทั้งยังให้บริษัท ท. ชำระค่าเบี้ยประกันภัย และมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยด้วย คำบรรยายฟ้องก็ระบุว่ามอบหมายให้บริษัท ท. ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเป็นตัวแทนติดต่อกับจำเลยที่อยู่ในประเทศไทย เมื่อบริษัท ท. เป็นตัวแทนติดต่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์กับจำเลย จำเลยตกลงรับประกันภัยอุปกรณ์พร้อมกับส่งกรมธรรม์ประกันภัยไปให้บริษัท ท. ซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย จึงถือว่าสัญญาดังกล่าวทำหรือเกิดขึ้นในประเทศไทยและต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยตามมาตรา 13 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882
??
??
??
??

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำสัญญาประกันภัยผ่านตัวแทนในไทย ทำให้กฎหมายไทยใช้บังคับ แม้โจทก์เป็นชาวต่างชาติ คดีขาดอายุความ
โจทก์เป็นนิติบุคคลของประเทศอังกฤษมอบหมายให้บริษัท ท. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศไทยเป็นตัวแทนติดต่อจำเลยที่ประเทศไทยเพื่อประกันภัยอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทอดโทรทัศน์ของโจทก์ เมื่อคู่สัญญามิได้แสดงเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สัญญาโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์มี ภ. ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัท ท. เป็นตัวแทนในการติดต่อทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยในประเทศไทยการที่จำเลยตกลงรับประกันภัยและส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บริษัท ท. ต้องถือว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยทำหรือเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคสอง สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3093/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537 และการขยายอายุความตามหลักอนุสัญญาเบอร์น
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 ทั้งฉบับ และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 ก็บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ทั้งฉบับ แต่ยังคงมีบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ที่ให้งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่ในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีผลบังคับได้รับความคุ้มครองเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ต่อไปตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เมื่อตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่นั้นได้กล่าวถึงทั้งเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไปเพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวทั้งหมดใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ดังนั้น ประโยคที่ว่าให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้จึงหมายถึงให้นำบทบัญญัติในหมวดหมู่ต่างๆ ดังกล่าวทั้งหมดของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ไปใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ. ฉบับเก่าหรืองานที่เพิ่งมีลิขสิทธิ์หลังจาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้น ข้อความที่ว่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ จึงย่อมหมายถึงได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติในส่วนต่างๆ ของกฎหมายใหม่รวมถึงในส่วนที่ว่าด้วยอายุการคุ้มครองด้วย การตีความว่างานศิลปกรรมภาพตัวการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเดิมซึ่งมีอายุการคุ้มครอง 30 ปี มีอายุแห่งความคุ้มครองขยายออกไปเป็น 50 ปี นับแต่มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกดังกล่าว โดยผลของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้วยังสอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญาเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกหลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 แต่ก่อนที่จะมีการตรา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท: อาหารปลอมและเครื่องหมายการค้าปลอม มีเจตนาเดียวคือจำหน่ายอาหารปลอม
การที่จำเลยมีอาหารปลอมหรืออาหารที่ไม่ได้มาตรฐานไว้เพื่อจำหน่าย โดยที่สินค้านั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมติดอยู่ ก็ด้วยเจตนาเดียวคือประสงค์จะมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่การกระทำความผิดต่างกรรมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รูปแบบรายการเกมโชว์ไม่ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรมหรือนาฏกรรมตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปประยุกต์ที่นำเอางานศิลปกรรมประเภทงานภาพร่าง ภาพประกอบ และหรืองานสถาปัตยกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมารวมกัน ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า "ศิลปกรรม" ไว้ ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ โดยตรง สำหรับงานภาพร่างและงานภาพประกอบนั้น ตามนิยามศัพท์ข้างต้น งานภาพร่างและงานภาพประกอบจะต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ใช่งานภาพร่างหรืองานภาพประกอบใดๆ ก็ได้ เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้วย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ได้
นาฏกรรม หมายความว่า "งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว" แต่การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใดๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น มิใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วการเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา ไม่ใช่งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรมได้ รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม
of 33