คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 42

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 144 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอนอาคารหลังได้รับแจ้งโดยชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองและดำเนินกิจการจึงมีความผิด
แม้อาคารที่เกิดเหตุจะปลูกสร้างภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 ซึ่งต่อมามี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บังคับใช้ โดยที่มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 75 ถึงมาตรา 80 โดยมาตรา 80 บัญญัติว่า ท้องที่ใดได้มี พ.ร.ฎ.ให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479... อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่นั้นแล้ว อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลบังคับต่อเนื่องกับ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 จึงหาได้มีผลทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่มีการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีผลบังคับใช้ ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คดีก่อน เมื่อพิจารณาจากสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับ พ. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล โดยเหตุว่าบริเวณชายหาดหัวหินที่เกิดเหตุมีอาคารก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และเป็นท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารแล้ว ซึ่งเทศบาลเมืองหัวหินได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารมาทำสัญญาเช่าที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับทางเทศบาล ตามความในมาตรา 77 (4) วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากบริเวณที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คดีดังกล่าวศาลจึงต้องพิจารณาจากหลักฐานสัญญาเช่าที่ดินเป็นหลักและรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรื้อถอนอาคารตามมาตรา 77 วรรคสี่ แต่คดีนี้เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่บัญญัติในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) และมาตรา 42 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการแจ้งคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารห้ามใช้อาคารและให้รื้อถอน หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันและเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีก่อน คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในคดีนี้จึงเป็นการกระทำตามกรอบอำนาจของกฎหมาย มิได้ซ้ำซ้อนกับคดีก่อนและข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนก็ไม่ผูกพันศาลในคดีนี้ให้ต้องถือตาม แต่ต้องรับฟังพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากทางนำสืบในสำนวนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานต้องระบุว่าอาคารไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ มิฉะนั้นฟ้องไม่สมบูรณ์
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ..." ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่าอาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นองค์ประกอบความผิดซึ่งต้องบรรยายให้ปรากฏในฟ้อง เพื่อนำมาพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มิใช่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอาคารที่จำเลยดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ การบรรยายฟ้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10672/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาต้องเป็นไปตามข้อกำหนดใน ป.วิ.อ. และต้องเกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจากความผิดที่ฟ้อง
แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 จะบัญญัติว่า ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา และศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ แต่การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ จะต้องเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมไม่อาจไปยื่นคำร้องในคดีความผิดอื่นของจำเลยทั้งสองที่ไม่ได้เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายได้ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการร่วมกันดัดแปลงขึ้นด้วยการต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
บนที่ว่างด้านหลังเชื่อมต่ออาคารหลังเดิมให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดัดแปลงต่อเติมอาคาร แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องโดยอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอันเป็นคนละข้อหากับที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารมาในคดีนี้ หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยทั้งสองจริงก็ต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับรายวันจากการฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอนอาคาร แม้จะยกอาคารให้เป็นสาธารณสมบัติ ก็ยังต้องชำระจนกว่าจะรื้อถอน
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับรายวันในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร วันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งหมายความว่า จำเลยต้องชำระค่าปรับรายวันในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 และ 66 ทวิ วรรคสอง ดังนั้น จำเลยจึงต้องชำระค่าปรับวันละ 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 42 กล่าวคือ จนกว่าจำเลยจะได้รื้อถอนอาคารพิพาทตามมาตรา 42 แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รื้อถอนอาคารพิพาทแล้ว จำเลยจึงยังคงต้องชำระค่าปรับรายวันตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต่อไปจนกว่าจะได้รื้อถอนอาคารพิพาท
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจงดการบังคับชำระค่าปรับรายวันเพราะเหตุจำเลยได้ยกอาคารพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15991/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาฐานก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน หากฟ้องไม่ชัดเจนเรื่องวันกระทำผิดและวันปิดประกาศคำสั่ง ฟ้องอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด มิฉะนั้นก็จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงบ่งบอกวันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าปิดประกาศแจ้งคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด ดังนั้น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13564/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดระยะเวลาปรับรายวันสำหรับก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอน
ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคสอง กำหนดให้ปรับเป็นรายวันตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง หมายความว่าจนกว่าจำเลยจะได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารจากพนักงานท้องถิ่น หรือจนกว่าจำเลยจะดำเนินการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ เมื่อปรากฏว่า อาคารที่จำเลยก่อสร้างเป็นอาคารที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ครบกำหนดที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 คดีนี้จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนและอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลย โดยจำเลยได้รับผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นในวันที่ 27 พฤษภาคม 2550 ดังนั้น ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตย่อมสิ้นสุดลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับผลการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หลังจากนั้นเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง การกระทำส่วนนี้ของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง อีกต่อไป ดังนั้น ค่าปรับรายวันในส่วนที่จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงนับแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10387/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องรื้อถอนอาคารผิดกฎหมาย: ศาลแพ่งไม่มีอำนาจ ผู้มีอำนาจคือเจ้าพนักงานท้องถิ่น
แม้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 บัญญัติว่า "ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา" ก็ตาม แต่ฐานะของผู้เสียหายตามที่บัญญัติในมาตรา 73 ดังกล่าวเป็นสิทธิในการดำเนินคดีในทางอาญาต่อจำเลยผู้กระทำความผิดเท่านั้น อำนาจในการที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนต่อเติมที่ผิดกฎหมายถือเป็นมาตรการที่จะบังคับกันในทางแพ่ง ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตลอดจนวิธีการที่เจ้าพนักงานจะปฏิบัติเป็นขั้นตอนไปดังปรากฏตามมาตรา 40 และ 42 ในหมวด 4 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องบังคับจำเลยเพื่อให้รื้อถอนระเบียงที่ต่อเติมผิดกฎหมายอันเป็นอำนาจหน้าที่ในทางแพ่งโดยเฉพาะของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร: การระบุวันกระทำความผิดและระยะเวลาค่าปรับรายวัน
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งดังกล่าว ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้น และให้ปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด อันเป็นวันที่บ่งบอกวันกระทำความผิด คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2546 นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งควายกินมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2546 ซึ่งมิใช่ระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันปิดประกาศ อันถือเป็นวันทราบคำสั่งตามกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้เมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว
การฝ่าฝืนปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 21 ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคาร แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของจำเลยต่อจากนั้นที่ไม่ยอมรื้อถอนย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42, 66 ทวิ แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง อีก ดังนั้นจำเลยจึงต้องชำระค่าปรับรายวันตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง ถึงวันก่อนครบกำหนดรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น มิใช่จนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนเสร็จสิ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งรื้อถอนอาคารถึงผู้ครอบครอง: เจ้าพนักงานต้องออกคำสั่งถึงผู้ที่ต้องปฏิบัติตามโดยตรง
เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกคำสั่งให้ ม. รื้อถอนอาคารพิพาท แม้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุตรเขยและบุตรสาวของ ม. จะเป็นผู้ครอบครองอาคารพิพาท และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้นำคำสั่งไปปิดไว้ที่อาคารพิพาทโดยได้อ่านคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ฟังก่อนที่จะปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมิได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารพิพาทด้วย คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลถึงจำเลยทั้งสองให้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวด้วย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ผู้ครอบครองรื้อถอนอาคารพิพาทที่ปลูกสร้างและต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องก่อสร้างดัดแปลงอาคาร และความสมบูรณ์ของฟ้องฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
ความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างดัดแปลงเสร็จลง มิใช่เป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รื้ออาคาร ส่วนเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารที่ฝ่าฝืนยังคงอยู่ เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรมขายอาหารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถือเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น จึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี อายุความฟ้องร้องมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) เมื่อการก่อสร้างดัดแปลงอาคารได้เสร็จลงก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จึงเกินกว่า 5 ปี ล่วงเลยกำหนดเวลาฟ้องร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
การกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 66 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 ก่อนกล่าวคือกรณีแรกอาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 กรณีที่สองอาคารที่จำเลยก่อสร้างไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารก่อสร้างดัดแปลงโดยผิดกฎหมายสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องบรรยายมาในฟ้อง เพราะเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
of 15