คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วสันต์ ตรีสุวรรณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 319 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9846/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์หลังศาลออกหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยสั่งอายัดเงิน 450,000 บาท ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากเทศบาลเมือง ส. และเทศบาลเมือง ส. ได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งอายัด ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความแก่โจทก์ โดยในคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณาคำสั่งอายัดเงินชั่วคราวก่อนพิพากษาจึงยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260(2) เมื่อโจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2541 อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลได้ จึงมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และได้มีการชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี นับตั้งแต่วันที่ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ดังกล่าวก่อนสิ้นระยะเวลา14 วันนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ศาลออกหมายบังคับคดีอันถือได้ว่าเป็นวันที่มีการชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคห้า หาใช่นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นส่งเงินอันเป็นทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ผู้ร้องอ้างไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9736/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดเมื่อจำเลยยอมรับสภาพหนี้ และเริ่มนับใหม่เมื่อศาลมีคำสั่ง
จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำยึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบจำเลยยอมรับรู้สิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทและได้ยื่นคำร้องต่อศาลในคดีดังกล่าวยอมรับว่าที่ดินพิพาทที่นำยึดเป็นของโจทก์ ไม่ใช่ที่ดินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยและขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ถือได้ว่าจำเลย ได้กระทำการอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั้นแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(1) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตาม มาตรา193/15 เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย วันที่ 18 กรกฎาคม 2539 เป็นเหตุที่ทำให้ อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดในวันดังกล่าวตาม มาตรา 193/15 จึงเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2539โจทก์มาฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้ วันที่ 4 กันยายน 2539 ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9504/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละมรดก vs. สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก: ผลต่ออำนาจการเป็นผู้จัดการมรดก
บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านและ ว. ทำกันหน้าเจ้าพนักงานตำรวจมีข้อความชัดแจ้งว่า ผู้ร้องและ ว. ขอสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านและยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกแต่เพียงผู้เดียว แต่การเจาะจงให้ทรัพย์มรดกแก่ผู้คัดค้านเช่นนี้เป็นการยกทรัพย์มรดกส่วนของตนให้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 อย่างไรก็ดีแม้ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและ ว. ฝ่ายหนึ่งกับผู้คัดค้านอีกฝ่ายหนึ่ง ดังกล่าว จะไม่ใช่หนังสือสละมรดกตามกฎหมายแต่ก็มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก เมื่อทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือดังกล่าวแล้ว ย่อมผูกพันคู่สัญญาตามมาตรา 1750 วรรคสองผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9088/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้คำร้องขอคืนของกลางไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ประเภทบริษัทจำกัด ช.เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจทำการแทนผู้ร้อง และผู้ร้องโดย ช.มอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้องตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.2 แต่หนังสือรับรองของสาธารณรัฐปานามาที่ผู้ร้องอ้างส่งต่อศาล กลับมีข้อความระบุว่าบริษัทผู้ร้องก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัด ตามกฎหมายฉบับที่ 32 ค.ศ. 1927 ของสาธารณรัฐปานามา ไม่ใช่ประเทศสิงคโปร์ดังที่ ส.ผู้รับมอบอำนาจเบิกความ นอกจากนี้จากหนังสือดังกล่าวกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งมีอำนาจทำการแทนผู้ร้องตามกฎหมายคือ อ.ไม่ใช่ ช. การที่ช.ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.2 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 1998มีนายเตียว เอง เหลียง (TEO ENG LEONG) โนตารีปับลิก (NOTARY PUBLIC)ประเทศสิงคโปร์รับรองว่าบุคคลที่มีชื่อในหนังสือมอบอำนาจได้ทำหนังสือมอบอำนาจด้วยความสมัครใจ ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 1998 (พ.ศ.2541)ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าได้ทำการมอบอำนาจกันที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ แม้หนังสือรับรองของโนตารีปับลิกจะมีตราสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ประทับอยู่ ก็เป็นการประทับรับรองว่านายเตียว เอง เหลียง เป็นโนตารีปับลิกเท่านั้น ไม่ได้รับรองหนังสือมอบอำนาจว่าถูกต้องใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่
ช.ลงลายมือในหนังสือมอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้อง โดยช.ไม่มีอำนาจทำการแทนผู้ร้อง ส.ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจแต่งทนายความยื่นคำร้องขอคืนของกลางแทนผู้ร้อง ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์จึงยกขึ้นอ้างได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นก็ตาม
คดีนี้เป็นสาขาคดีที่เจ้าของทรัพย์ร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบในคดีหลัก ประเด็นในคดีจึงมีเพียงว่าศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของที่แท้จริงหรือไม่เท่านั้น สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องฎีกาว่าศาลสั่งริบของกลางไม่ได้นั้น ได้ยุติไปแล้วตามคำสั่งของศาลในคดีหลัก ผู้ร้องจึงฎีกาในประเด็นนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9062/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาก่อสร้าง, ค่าแห่งการงาน, การชดใช้ค่าเสียหาย, และการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนกันในการสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างอาคาร ต่อมาสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกโดยปริยาย คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินแก่โจทก์ ส่วนเงินค่าก่อสร้างบ้านที่โจทก์เป็นผู้ชำระมิใช่ค่าการงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำให้แก่โจทก์อันโจทก์จะต้องรับผิด กับค่าตอกเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 กระทำไม่เป็นประโยชน์ต่อโจทก์ในการที่โจทก์จะสร้างอาคารใหม่ จึงไม่ใช่การงานที่ควรค่าอันโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินเป็นค่าแห่งการงานตอกเสาเข็มแก่จำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8750/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาออกแบบก่อสร้าง: การอนุมัติแบบแปลนและรายการราคาเป็นสำคัญก่อนมีสิทธิเรียกร้องค่าจ้าง
ตามมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2532 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ข้อ 2.2 กำหนดว่า การออกแบบร่างขั้นสุดท้ายสถาปนิกจะใช้ข้อมูลที่ได้รับอนุมัติจากการออกแบบร่างขั้นต้น เพื่อออกแบบขั้นสุดท้ายเสนอแก่เจ้าของงาน สถาปนิกจะต้องเสนอเอกสารการประมาณราคาค่าก่อสร้างให้เจ้าของงานเห็นชอบและอนุมัติ และข้อ 2.3 กำหนดในเรื่องการทำรายละเอียดการก่อสร้างไว้ว่า หลังจากแบบร่างขั้นสุดท้ายได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของงานแล้ว สถาปนิกจะจัดทำรายละเอียดการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นเอกสารสัญญาและเอกสารขออนุญาต และสถาปนิกจะต้องส่งมอบเอกสารการประมาณราคาก่อสร้างให้แก่เจ้าของงานด้วยเช่นนี้ โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทสามัญสถาปนิก สาขาสถาปัตยกรรมหลัก จากคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม กระทรวงมหาดไทย น่าจะต้องประกอบวิชาชีพโดยมี จริยธรรมตามมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมดังกล่าวด้วย แม้สัญญาว่าจ้างออกแบบบ้านจะระบุเพียงว่า ผู้ว่าจ้างตกลงชำระค่าจ้างงวดที่ 1 เมื่อตกลงในแบบร่างและลงมือทำแบบจำนวน 100,000 บาท และชำระค่าจ้างงวดที่ 2 ที่เหลือทั้งหมดเมื่อผู้รับเหมาเสนอราคาก่อสร้างก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะลงมือทำแบบแปลนบ้าน อย่างไรก็ได้ โดยที่จำเลยผู้ว่าจ้างไม่มีโอกาสได้เห็นแบบแปลนบ้านนั้นและเห็นชอบด้วย ดังนี้ เมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างยัง ไม่เห็นชอบด้วยกับแบบแปลน และการเสนอราคาค่าก่อสร้างของผู้รับเหมาที่โจทก์เป็นผู้ติดต่อให้ตีราคา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างได้ตกลงและเห็นชอบด้วยในแบบแปลนบ้านและมีการเสนอราคาค่าก่อสร้างของผู้รับเหมาซึ่งจำเลยเห็นชอบด้วยแล้วตามสัญญาอันจะทำให้โจทก์ผู้รับจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เหลือจากจำเลยผู้ว่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอพิจารณาใหม่ต้องระบุเหตุขาดนัดทั้งยื่นคำให้การและมาศาลตามนัดสืบพยาน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง (เดิม) ที่บัญญัติว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ให้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ความหมายก็คือ ต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งทั้งสองประการ คือ ทั้งเหตุที่ได้ขาดนัดพิจารณาและทั้งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาด คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย กล่าวเพียงเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้นแต่จำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดพิจารณาเป็นเหตุที่จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่จะให้มีการพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8543/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายและนายหน้า ค่าคอมมิชชั่นเกิดขึ้นเมื่อยอมให้ผู้อื่นเสนอซื้อแทน แม้จะไม่ได้ชี้ช่อง
จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงให้โจทก์ถอนซองประกวดราคาของโจทก์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยที่ 1 ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยประกาศประกวดราคาให้ผู้สนใจเสนอขายที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้างที่ทำการเขตโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าตกลงค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาที่ตั้งไว้ หากขายได้เกินราคา ดังกล่าวเงินที่ขายเกินยอมยกให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างยื่นซองประกวดราคาเสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงเดียวกันแก่องค์การโทรศัพท์ โดยโจทก์เสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาที่จำเลยที่ 2 เสนอ คณะกรรมการ รับและเปิดซองประกวดราคาเรียกจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของที่ดินกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้ตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนเสนอขายที่ดินเพียงผู้เดียว โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของ จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว แล้วมีการทำหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 และหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 8 ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตกลงซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามคำเสนอขายของจำเลยที่ 2 และได้ชำระค่าที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ กันเสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าค่านายหน้าแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 เนื่องจากโจทก์ยอมตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เกี่ยวกับหนังสือ สัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ได้ทำกันไว้ในตอนแรกโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามข้อตกลง ดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการที่จำเลยที่ 1 กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ได้ถอนซองประกวดราคาของโจทก์โดยปริยาย ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามเอกสารหมาย จ. 8 จากจำเลยที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8413/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บริษัทร้างเลิกสภาพนิติบุคคลแล้ว โจทก์ฟ้องไม่ได้ แม้มีบทบัญญัติเรื่องการชำระบัญชี
ตามหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏว่า นายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามความในมาตรา 1246 แห่ง ป.พ.พ. แล้ว ดังนั้น บริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกัน ความเป็นนิติบุคคลย่อมสิ้นไป และตามมาตรา 1246 (5) ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทจำเลยที่ 1 เลิกโดยผลของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่กลับจดชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ให้คืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อคืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) โจทก์ย่อมไม่สามารถดำเนินคดีแก่บริษัทจำเลยที่ 1 ได้ แม้มาตรา 1249 จะบัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีก็ตาม ก็เป็นการตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชีเท่านั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8345/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตนเองตามกฎหมายอาญา: การต่อสู้กับผู้โจมตีและเหตุสมควรในการป้องกัน
ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป. ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์ แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้าน จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป. เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลังจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้ ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ จำเลยจากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่ ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่ตามไปหาเรื่องจำเลยอีก ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน ดังนี้ แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้อง กระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68
of 32